แบงก์-นอนแบงก์
"ไทยพาณิชย์" จับชีพจรเศรษฐกิจยามฝุ่นตลบ หวั่นครึ่งปีหลังเครื่องยนต์เศรษกิจแผ่ว เชื่อทุกแบงก์ซุ่มทบทวนเป้าหมายสินเชื่อ


 


สถานการณ์เศรษฐกิจที่พลิกผันไปมาตลอดช่วงครึ่งปีแรก แม้ไตรมาสแรกจะมีแรงส่งให้สินเชื่อขยายตัวได้ดีจนนายแบงก์หลายคนเอ่ยปากว่า "ดีเกินคาด" พร้อมๆ กับจังหวะเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในประเทศเป็นจำนวนมาก จนทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น และกระทบตั้งแต่ธุรกิจส่งออกไปจนถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ถูกแรงกดดันให้ลดดอกเบี้ยเพื่อแก้ทางเงินบาทแข็งค่า

แต่เข้าสู่ไตรมาส 2 สินเชื่อที่เร่งเครื่องมาแรงอยู่ดีๆ ก็แผ่วลง นอกจากความกังวลเรื่องภาวะหนี้ครัวเรือนแล้ว ก็ยังมีความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลงด้วย ไม่ได้ร้อนแรงนัก อันเป็นผลกระทบจากยอดการส่งออกที่ชะลอลง จนกระทั่งตัดสินใจประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 2.50% เพื่อกระตุ้นเศรษกิจ ควบคู่ไปกับภาวะค่าเงินบาทที่ผันผวน แข็งค่าหนักในช่วงต้นไตรมาส 2 ก่อนจะคลายลง และพลิกกลับอ่อนค่าอย่างรวดเร็วจากสถานการณ์เงินลงทุนต่างชาติไหลออกเร็ว

 
 
 
สถานการณ์เหล่านี้ เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ "กรรณิกา ชลิตอาภรณ์" กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ 1 ใน 4 แบงก์ใหญ่ ออกตัวว่า เวลานี้เหมือนภาวะฝุ่นตลบที่ทำให้ยังมองสถานการณ์ในอนาคตได้ไม่ชัดเจนว่าจะเดินไปในทิศทางไหน แต่ที่แน่ๆ เริ่มเห็นสัญญาณว่าแนวโน้มสินเชื่ออาจจะไม่ได้เติบโตอย่างร้อนแรงเหมือนที่ออกสตาร์ทตอนไตรมาสแรกแน่นอน เพราะเห็นเทรนด์ของไตรมาส 2 ที่เติบโตแบบชะลอตัวลงแล้ว

"สิ่งที่ตอนนี้ไทยพาณิชย์มอง คือ มองไปถึงครึ่งปีหลังและปีหน้าแล้ว ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่งยอมรับว่าความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนในเวลานี้มองยากมาก ซึ่งธนาคารก็อยู่ในระหว่างทบทวนสินเชื่อในแต่ละกลุ่มกันอีกครั้ง ปกติจะทบทวนตอนกลางปีกันอยู่แล้ว เพื่อดูว่าเป้าหมายที่เราตั้งไว้เดิมยังเหมาะสมอยู่หรือไม่ คาดว่าภายในอีก 1-2 สัปดาห์จากนี้คงจะอ่านสถานการณ์และได้ข้อสรุปที่ชัดเจนขึ้น"

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เอ็มดีหญิงเหล็กแห่งแบงก์ร้อยปีแห่งนี้มองว่ามีผลกระทบสำคัญต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงถัดไปก็คือ การที่ผู้นำจีนยอมรับว่าแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในยุคถัดจากนี้ไปจะไม่ได้ร้อนแรงเหมือนที่ผ่านมาอีกแล้ว ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทยมาก เพราะไทยค้าขายกับจีนเยอะมาก เรียกได้ว่ากระทบทางตรงเยอะกว่าวิกฤติการเงินในสหรัฐและยุโรปด้วยซ้ำ

เมื่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมถูกกระทบ โอกาสที่สินเชื่อจะขยายตัวอย่างร้อนแรงก็คงยากขึ้น และคงต้องหวังพึ่งแรงผลักในประเทศเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนและการบริโภค โดยเฉพาะโครงการลงทุนของทั้งรัฐบาลและเอกชนที่น่าจะมาเกิดขึ้นในครึ่งปีหลัง ที่จะมีน้ำหนักในการชี้วัดทิศทางเศรษฐกิจไทยต่อไปอีกพอสมควร

กรรณิกาบอกอีกว่า ถ้าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะชะลอลงจริงตามสัญญาณนี้ ก็น่าจะทำให้ปริมาณความต้องการสินเชื่อคงแผ่วลงตามกันไปด้วย ฉะนั้น ภาพรวมของการระดมเงินก็คงจะต้องน้อยลงเช่นกัน นี่จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ธนาคารทุกแห่งในเวลานี้น่าจะต้องกำลังทบทวนเป้าหมายกันใหม่อีกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าเหมาะสม และจะเป็นธงสำหรับการวางกลยุทธ์ในครึ่งปีหลังต่อไป

นอกจากสัญญาณความผันผวนที่เกิดขึ้นกับตลาดทุนอย่างรุนแรงในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีนักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นเพื่อดึงเงินกลับประเทศ ที่ผลักให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วดังที่ทราบกันแล้วนั้น ในภาคเศรษฐกิจจริงซึ่งสะท้อนโดยธนาคารที่สัมผัสกับลูกค้าธุรกิจก็สอดคล้องไปในทางเดียวกัน และเพิ่มความท้าทายกับการเติบโตในครึ่งปีหลังที่เชื่อมั่นว่า "ทุกธุรกิจคงต้องระมัดระวังมากขึ้นกว่าเดิม"
 

LastUpdate 15/06/2556 13:58:40 โดย : Admin
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 5:40 am