เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
รัฐถอย...ลดราคารับจำนำข้าว 15,000


 

 
 
 
 
ในที่สุดรัฐบาลก็ยอมปรับลดราคารับจำนำข้าวทุกเมล็ดที่ตันละ 15,000 บาทลง หลังจากที่ดำเนินนโยบายมากว่า 1 ปี และเป็นนโยบายที่ได้รับการคัดค้านจากทุกหน่วยงาน ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว

 
 
โดย นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ บอกถึงผลการประชุม คณะกรรมการนโยบายข้าว(กขช.) ว่า กขช.ได้มีมติให้ปรับปรุงโครงการรับจำนำข้าว ที่จะนำมาใช้ในปี 2556/57 และนาปรัง 2557 โดยมี 3 ทางเลือกให้ฝ่ายเลขานุการ กขช. ไปพิจารณา คือ 1.ใช้ราคาปัจจุบันที่ 1.5 หมื่นบาทต่อตัน ลดลงในอัตรา 15-20% 2.ใช้ราคาต้นทุนที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์คำนวณได้ แล้วบวกกำไรให้ 25% และ 3.ใช้ราคาชี้นำตลาด โดยบวกราคาเพิ่มให้จากราคาตลาดอีก 10% ซึ่งราคาทั้งหมดจะอยู่ในกรอบ 1.2-1.35 หมื่นบาท/ตัน ส่วนข้าวหอมมะลิ ก็จะใช้วิธีการเดียวกัน ซึ่งจะมีราคาลดลงด้วย

ส่วนปริมาณที่รับจำนำ คาดว่าจะมีการปรับลดปริมาณลงเช่นเดียวกัน โดยจะรับจำนำไม่เกิน 14-15 ล้านตัน จากคาดการณ์ผลผลิตปี 2556/57 ที่คาดว่าจะมีปริมาณ 26-27 ล้านตันข้าวเปลือก ส่วนนาปรัง 2557 ยังไม่ได้มีการคาดการณ์ โดย กขช. ได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการ ไปรวบรวบรายละเอียดแต่ละแนวทาง ก่อนนำเสนอให้ กขช. พิจารณา และนำเสนอ ครม .พิจารณาต่อไป

 
 
ซึ่งการพิจารณาปรับลดราคาและปริมาณการรับจำนำข้าวในครั้งนี้ เพื่อเป็นการรักษาวินัยทางการเงินการคลัง และไม่เป็นภาระต่อการจัดทำงบประมาณที่จะต้องมาชดเชยในแต่ละปี ซึ่งรัฐบาลได้ตระหนักมาโดยตลอด โดยกรอบการใช้เงินในโครงการรับจำนำตามวินัยทางการคลัง จะต้องขาดทุนไม่เกิน 7 หมื่นถึง 1 แสนล้านบาท
 
นอกจากนี้ กขช. ยังได้มีมติให้มีการเร่งรัดการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลให้เร็วขึ้น โดยใช้แนวทางใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เช่น การเปิดช่องให้ต่างประเทศเสนอซื้อข้าวได้โดยตรง การประมูลในรูปแบบใหม่ๆ หรือใช้วิธีการเดิมที่ไม่เคยใช้ คือ การขายในตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (เอเฟต) โดยให้กรมการค้าต่างประเทศไปศึกษารายละเอียดและเสนอกลับมาให้ กขช. พิจารณาอีกครั้ง และ ยังได้แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบสต๊อกข้าวของรัฐบาล โดยให้ตรวจสอบโรงสี โกดังกลางทุกแห่ง เพื่อตรวจสอบปริมาณข้าวที่คงเหลือทั้งหมด โดยให้เวลาดำเนินการภายใน 30 วัน

 
 
 
ขณะที่ นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม กขช.ได้ให้การรับรองตัวเลขดำเนินโครงการรับจำนำข้าวฤดูกาลแรก ซึ่งอยู่ในฤดูกาลผลิตปี 2554/55 และนาปรังปี 2555 มีผลดำเนินงานขาดทุน 1.36 แสนล้านบาท ตามวิธีคำนวณของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการแทรกแซงสินค้าเกษตร กระทรวงการคลัง ที่คำนวณจากมูลค่าข้าวในสต๊อกของรัฐบาล ซึ่งยังคงเหลืออยู่ตามราคาตลาดต่ำสุด ณ วันปิดบัญชี โดยคำนวนจากจำนวนข้าวเปลือก 21.7 ล้านตัน ใช้เงินไปทั้งสิ้น 3.52 แสนล้านบาท ขณะที่มูลค่าข้าวคงเหลือในสต็อก 1.56 แสนล้านบาท ส่วนข้าวที่ขายออกไป 5.92 หมื่นล้านบาท
 
สำหรับการปรับลดราคารับจำนำข้าวของรัฐบาลครั้งนี้ ได้มีการส่งสัญญาณมาก่อนหน้านี้แล้ว จากนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ออกมา ยอมรับว่า เงื่อนไขการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ที่กำหนดไว้ตันละ 1.5 หมื่นบาท ซึ่งมีความเหมาะสมกับช่วงที่ผ่านมา แต่ไม่เหมาะกับภาวะปัจจุบัน ที่กำลังมีปัญหาค่าเงินบาท ทำให้การระบายข้าวขาดทุน และมีการผลิตอาหารมาทดแทนข้าวมากขึ้น ส่งผลให้การระบายข้าวเป็นไปได้ยาก ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่จะปรับลดราคารับจำนำข้าวให้ต่ำลงกว่านี้

 
 
 
แม้รัฐบาลจะปรับหลักเกณฑ์การรับจำนำข้าว แต่ก็ยังได้รับการคัดค้านจากนักเศรษฐศาสตร์ เพราะโครงการดังกล่าวยังเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตได้ โดย ม.ร.ว.ปรีติยาธร เทวกุล อดีตรอง นายกรัฐมนตรี และ อดีต รมว.คลัง ให้ความเห็นว่า การลดราคารับจำนำข้าว หรือลดวงเงินในการดำเนินโครงการไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เนื่องจากขณะนี้เงินที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ ไม่ใช่เงินที่จ่ายให้ชาวนา โดยผลขาดทุนที่เกิดขึ้น 2 แสนล้านบาทนั้น ชาวนาได้รับเงินเพียง 8 หมื่นล้านบาท เป็นแค่ส่วนต่างระหว่างราคารับจำนำกับราคาตลาด ขณะที่อีก 1.2 แสน ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ดอกเบี้ย เงิน ที่รั่วไหลรายทาง และค่าเสื่อมของข้าวที่เกิดจากการที่รัฐบาลเอาข้าวมาเก็บไว้แล้วขายไม่เป็น 
 
 
 
 
ขณะที่ นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ในความเห็นของนักวิชาการนั้น ควรยกเลิกและไม่ควรมีตั้งแต่เริ่มต้น 

เมื่อรัฐบาลปรับลดราคาและปริมาณในการรับจำนำข้าวลงแล้ว คงต้องติดตามว่ารัฐบาลจะวางแนวทางในการแก้ปัญหาขบวนการทุจริตที่เกิดขึ้นได้อย่างไร เพื่อให้ชาวนาได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ อย่างที่รัฐบาลกล่าวอ้างมาโดยตลอด

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 18 มิ.ย. 2556 เวลา : 03:07:45
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 9:00 am