อสังหาริมทรัพย์
วิกฤต! ผังเมืองครั้งใหญ่ "แอเรีย" เผยผังเมืองทั่วประเทศ หมดอายุ 95 ผัง



 
 
 
 "แอเรีย" แฉผังเมืองทั่วประเทศ 190 ผัง หมดอายุไปถึง 95 ผัง เผยสูญญาณกาศครั้งนี้ ส่งผลให้ขาดการวางแผนการใช้ที่ดิน และเมืองจะเติบโตแบบไร้ทิศทาง แนะกรมโยธาฯต้องเร่งคลอดผังเมืองโดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมเพื่อความโปร่งใส

 
 
 
นายโสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัท  เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด (แอเรีย) เปิดเผยว่า จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า ปัจจุบันนี้ผังเมืองทั่วประเทศไทยหมดอายุไปแล้วถึง 95 ผัง ที่เหลือยังไม่หมดอายุและใช้อยู่ จำนวน 95ผัง ซึ่งการที่ผังเมืองหมดอายุ สะท้อนให้เห็นว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยขาดการวางผังเมืองที่ดี และไม่สอดคล้องกับการเติบโตของสภาพเศรษฐกิจและการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และอาจจะสร้างความสับสนในการใช้ประโยชน์ในที่ดินในอนาคตได้

 
 
"พื้นที่ที่ครอบคลุมอยู่ในผังเมือง เป็นพื้นที่ไม่มากนัก และครอบคลุมเพียงส่วนน้อยของเขตเมืองทั่วประเทศ แต่กรมโยธาธิการและผังเมืองก็ยังปล่อยให้ผังเมืองหมดอายุไปเป็นจำนวนมาก ถ้าในอนาคตกรมโยธาธิการและผังเมืองปล่อยให้ผังเมืองหมดอายุไปจนเกือบหมด อาจเกิดคำถามว่าบทบาทของกรมโยธาธิการและผังเมืองจะทำอะไรต่อไปในอนาคต" นายโสภณกล่าว

ผังเมืองที่หมดอายุไปมีดังนี้ ผังเมืองที่หมดอายุ 10 ปี (2546) จำนวน 1 ผัง, ผังเมืองที่หมดอายุ 9 ปี (2547) จำนวน 4 ผัง, ผังเมืองที่หมดอายุ 8 ปี (2548) จำนวน 2 ผัง, ผังเมืองที่หมดอายุ 7 ปี (2549) จำนวน 5 ผัง, ผังเมืองที่หมดอายุ 6 ปี (2550) จำนวน 14 ผัง, ผังเมืองที่หมดอายุ 5 ปี (2551) จำนวน 11 ผัง, ผังเมืองที่หมดอายุ 4 ปี (2552) จำนวน 19 ผัง, ผังเมืองที่หมดอายุ 3 ปี (2553) จำนวน 10 ผัง

ส่วนผังเมืองที่หมดอายุ 2 ปี (2554) จำนวน 10 ผัง, ผังเมืองที่หมดอายุปี 1 ปี (2555) จำนวน 11 ผัง ,ผังเมืองที่หมดอายุปี 2556 จำนวน 10 ผัง, ผังเมืองที่หมดอายุปี 2557 จำนวน 16 ผัง, ผังเมืองที่หมดอายุปี 2558 จำนวน 8 ผัง, ผังเมืองที่หมดอายุปี 2559 จำนวน 20 ผัง, ผังเมืองที่หมดอายุปี 2560 จำนวน 42 ผัง และผังเมืองที่หมดอายุปี 2561 จำนวน 7 ผัง

 
 
 
ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น กรมโยธาธิการและผังเมืองพยายามที่จะให้ท้องถิ่นจัดทำผังเมืองรวม แต่ท้องถิ่นก็ไม่มีประสบการณ์และงบประมาณ จึงไม่สามารถดำเนินการได้ ดังนั้น กระทรวงมหาดไทยโดยกรมโยธาฯ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบการวางผังเมืองจึงควรดำเนินการเอง โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ไม่ใช่การรับฟังเสียงประชาชนแต่เพียงในรูปแบบ โดยประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่อง และให้มีความโปร่งใสในการวางผังทุกขั้นตอน

ในการวางผังเมือง ต้องประสานกับการไฟฟ้า ประปา ทางหลวง รถไฟฟ้า ช่วยกันร่างผังเมืองนี้เป็นแผนแม่บทของหน่วยงานของตน ส่วนในพื้นที่อนุรักษ์ชนบทจะห้ามก่อสร้างถนนหรือขยายไฟฟ้า ประปา ในบริเวณดังกล่าว ก็ควรประสานกับการเคหะแห่งชาติและหน่วยงานอื่นโดยควรใช้วิธีจัดรูปหรือเวนคืนที่ดินชานเมือง สร้างเมืองใหม่แบบปิดล้อมแต่มีระบบขนส่งมวลชนเข้าสู่ใจกลางเมืองโดยตรง แล้วจัดสรรที่ดินที่มีสาธารณูปโภคครบ (serviced land) เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย หรือ ศูนย์ธุรกิจ เป็นต้น 

 
 
 
ขณะเดียวกัน ยังสามารถประสานกับกรมธนารักษ์เพื่อนำที่ดินใจกลางเมืองมาพัฒนาเป็นศูนย์ธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจมีการรวมศูนย์ สาธารณูปโภคไม่ต้องขยายตัวอย่างไร้ขอบเขต เป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจด้วยกันเองในพื้นที่ และยังประสานกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อจัดสร้างนิคมให้โรงงานได้ใช้ในราคาถูก เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม และเพื่อห้ามการก่อสร้างโรงงานในย่านชานเมืองเช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม การว่าจ้างผู้จัดทำผังเมือง ควรทำให้เกิดความโปร่งใส ตั้งแต่ขั้นตอนการวางผังเมือง โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนและทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมจริง มีการตอบสนองต่อข้อซักถามของชาวบ้านอย่างแท้จริง มีกระบวนการรายงานผลและการตรวจสอบในแต่ละขั้นตอน ไม่ใช่การวางผังเมืองโดยใช้ความเชื่อแบบเดิม ๆ หรือการลอกเลียนจากประเทศตะวันตก ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
 

LastUpdate 26/06/2556 10:57:01 โดย : Admin
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 11:34 am