เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ตอนที่ 24/2556 : เมื่อเริ่มมีความไม่แน่นอน...มาตรการที่เข้มก็จะตามมา...ถึงเวลาดูแลเครดิตของตนเองแล้วหรือยัง


"เครดิตดี..ไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง" ไม่ต่างจากการที่ตัวเราๆ ท่านๆ อยากได้สุขภาพที่ดี อยากมีชีวิตยืนยาว มันก็ต้องออกกำลังกาย กินอาหารให้ดีและเหมาะกับสุขภาพ เรื่องแบบนี้ใครๆ ก็รู้แต่ทำยาก เหมือนกับการบอกให้อดทนที่จะไม่กินไม่ใช้สิ่งที่ไม่จำเป็นวันนี้ เพื่อเก็บเอาไว้ใช้ในวันหน้ายามที่ต้องการหรือคับขัน คนโบราณจึงให้คำสอนว่า "ให้อดออม" นั่นเอง เราลองมาฟังสิ่งที่กำลังมีการส่งสัญญาณในเวลานี้กันครับ

1. ธนาคารคุมสินเชื่อบ้านโดยกำหนดสัดส่วนหนี้ที่ต้องชำระคืนต่อรายได้ห้ามเกิน 40% ของรายได้ต่อเดือน หลังจากมีข่าวสารออกมาระบุแนวโน้มหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น เน้นปล่อยกู้ในโครงการของผู้ประกอบการรายใหญ่ และจำกัดจำนวนบ้านที่จะให้กู้นั้นไม่เกินหลังที่ 3 คือถ้าจะกู้หลังที่ 4 คงจะยากมากๆ

2. ธนาคารเน้นปล่อยลูกค้าที่มีเงินเดือนผ่านธนาคาร เหตุเพราะจะได้ทราบกระแสเงินหลังจากภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของรัฐบาล เช่น การมีสินเชื่อในโครงการรถยนต์คันแรก สำหรับเรื่องรายได้สุทธินี้กดดันให้ธนาคารเข้มงวดสินเชื่อมากขึ้น โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพราะเกรงว่าจะมีความเสี่ยงมากขึ้นจากการผ่อนชำระจนเกินกำลัง

3. ธนาคารหลายแห่งได้ยกเลิกแคมเปญดอกเบี้ยพิเศษ 0% และเพิ่มวงเงินดาวน์หรือลดวงเงินต่อหลักประกัน (loan to value) ไปแล้วตามนโยบายของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ต้องการลดความร้อนแรงในภาคอสังหาริมทรัพย์ นับว่าเป็นมาตรการที่ใช้ได้ผลมาก

4. ธนาคารรายใหญ่ยอมรับว่าในขณะนี้ยอดการปฏิเสธสินเชื่อบ้านของธนาคารเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 50% ของคำขอที่เข้ามาแล้ว โดย 60% ยอดของการปฏิเสธหรือ 30 คำขอ จาก 100 คำขอ ที่ถูกปฏิเสธมาจากเหตุผลเรื่องภาระหนี้ของลูกค้าที่ยื่นคำขอสินเชื่อเพิ่มขึ้น ทำให้รายได้ที่เหลือหลังหักภาระหนี้ที่ต้องจ่ายอื่นๆ ไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้สินเชื่อบ้านที่กำลังขอครั้งนี้อีกแล้ว เหตุผลต่อมาคือสาเหตุจากลูกค้าขาดคุณสมบัติ เพราะเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่มีการค้างชำระเกินกว่า 90 วัน หรือ 3 งวดการผ่อน และประการสุดท้าย คือ อายุงานที่ยังไม่ถึงเกณฑ์ โดยเฉพาะกลุ่มที่เพิ่งเริ่มทำงานมีรายได้ต่อเดือน 10,000 - 20,000 บาทต่อเดือน และดันไปเข้าโครงการรถคันแรก ทำให้ความสามารถในการขอสินเชื่อบ้านลดลง

5. ในกรณีที่ลูกหนี้มีภาระหนี้ที่ต้องชำระในแต่ละเดือนสูงเกินระดับ 40% ของรายได้ ธนาคารจะปฏิเสธการให้สินเชื่อ ซึ่งในช่วงหลังๆ ที่ผ่านมานี้ การปฏิเสธโดยใช้เหตุผลนี้มีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด “ปกติธนาคารจะยึดที่ภาระหนี้ของลูกค้าต้องไม่เกิน 40% ของรายได้ หากลูกค้ามีภาระหนี้จากการซื้อรถหรือหนี้อื่นแล้ว จะกระทบความสามารถในการผ่อนชำระ เวลาคนกู้เงิน 1 ล้านบาท ผ่อน 20 ปี จ่ายต่อเดือนประมาณ 8 พันบาท เท่ากับต้องมีรายได้ 2 หมื่นบาทต่อเดือน และถ้าเขาไปกู้อย่างอื่นมา ก็ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลงและทำให้กู้ไม่ผ่าน หรือโอกาสในการผ่านลดลง โดยกลุ่มที่เข้าข่ายถูกปฏิเสธ คือ กลุ่มที่มีรายได้ 2 หมื่นบาท และซื้อรถไปแล้ว” นายธนาคารท่านหนึ่งกล่าวไว้น่าสนใจ และถือว่าเป็นคำแนะนำที่ดีมากๆ

อีกท่านหนึ่งที่ออกมาให้คำแนะนำระบุว่า “เราจะดูจากความสามารถผ่อนชำระของลูกค้าเป็นหลัก ลูกค้าที่กู้บ้านจะต้องมีกำลังผ่อนอย่างน้อย 50% ของรายได้ต่อเดือน เช่น เงินเดือน 15,000 บาท ต้องมีกำลังผ่อน 7,500 บาท แต่เมื่อผู้กู้มีค่าครองชีพสูงขึ้น มีหนี้เพิ่มขึ้นทำให้หนี้เพิ่มขึ้นเป็น 70-80% ของรายได้ โอกาสที่จะกู้ผ่านจึงมีน้อย ทำให้อัตราการปฏิเสธลูกค้าของธนาคารเพิ่มขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าเราจะไม่ให้กับลูกค้าระดับล่าง แต่ธนาคารจะพิจารณาตามระดับรายได้และราคาบ้านที่เหมาะสมกัน”

สุดท้ายกลุ่มที่นายธนาคารยังมีความเป็นห่วงคือ ลูกหนี้กลุ่มเดิมที่ผ่อนบ้านไปได้ประมาณ 2-3 ปี โดยเฉพาะลูกหนี้ที่เพิ่งครบกำหนดช่วงปรับโครงสร้างหนี้จากความเสียหายในเหตุการณ์น้ำท่วมมาได้ไม่นาน อาจมีปัญหาติดขัดเล็กน้อย ธนาคารจะต้องเฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิด แต่เชื่อว่าจะเอาอยู่เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าผู้มีเงินเดือนผ่านธนาคาร...................อ่านแล้ว+คิดตาม+น่าจะได้คำตอบแล้วนะครับ

สุรพล โอภาสเสถียร
ผู้จัดการใหญ่

บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 ก.ค. 2556 เวลา : 20:40:44
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 2:12 pm