เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เตือนรัฐ "รอบคอบ" ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ


 

 
 
 
 
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจประจำเดือนพฤษภาคม 2556 และแนวโน้มตลอดปี 2556 ให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) รับทราบ โดยระบุว่า เครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญยังคงชะลอตัวจากเดือนก่อน โดยเฉพาะดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัว 1.7%ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัว 0.3% มูลค่าการส่งออกหดตัว 1.2% และมูลค่าการนำเข้าหดตัว 4.8%  แต่ดัชนีการบริโภคภาคเอกชน และดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ส่วนแนวโน้มทั้งปี คาดว่าจะเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 4.2-5.2% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 2.3-3.3% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 0.9% ต่อจีดีพี

 
 
 
ส่วนไตรมาสที่ 2 (เม.ย.-มิ.ย.) คาดว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากไตรมาสแรก หลังจากเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจที่สำคัญในเดือนพฤษภาคมยังหดตัว ทั้งด้านการใช้จ่าย และการผลิต โดยเฉพาะดัชนีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และการใช้จ่ายภาครัฐ แต่ในภาคการท่องเที่ยวกลับมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งด้านเงินเฟ้อที่ชะลอตัวที่ 2.3%และการว่างงานยังอยู่ในอัตราต่ำที่ 0.9%

สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกปัจจุบัน ยังอยู่ในช่วงการฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาขยายตัวในเกณฑ์ต่ำช่วงไตรมาสแรก แต่มีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนยูโรโซนยังคงหดตัวมีอัตราการว่างงานอยู่ในเกณฑ์สูง แต่ภาคการผลิตเริ่มมีเสถียรภาพ และส่งสัญญาณการปรับตัวดีขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และมาตรการขยายปริมาณเงิน ส่วนเศรษฐกิจจีนและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากไตรมาสแรก

ทำให้รัฐบาลต้องเรียกประชุมกระทรวงเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรรม เป็นต้น เพื่อรับมือกับเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง รวมถึงการออกมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

 
 
 
 
ทั้งนี้ ในการออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนี้ ภาคเอกชนได้แสดงความเป็นห่วงอย่างมาก โดย นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เตือนว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะอยู่ในระดับ 4% ถือเป็นระดับการเติบโตที่ดีพอสมควร จึงไม่ทราบว่าจะมีความจำเป็นที่จะต้องงัดมาตรการกระตุ้นอื่นๆ ออกมาเพิ่มเติมหรือไม่ 
 
และที่สำคัญหากจะออกมาตรการใดมากระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ก่อนว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ทำไมถึงไม่ได้ผล เพราะเศรษฐกิจไทยยังชะลอตัวลง

นายโฆสิต ยังระบุด้วยว่า การใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำบางครั้งก็ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ซึ่งจะเห็นได้จากปัจจุบันยังไม่มีธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตามอัตราดอกเบี้ยของทางการ 

 
 
 
ด้าน นายบันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัยสายการบริหารความเสี่ยง ธนาคารซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) บอกว่า ภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้ ยังมีความเสี่ยงที่จะขยายตัวได้ต่ำกว่าระดับ 4-4.5% เนื่องจากการลงทุนและการบริโภคในประเทศ ปรับตัวลดลงกันถ้วนหน้า 

ดังนั้น การที่จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลังได้ จะต้องเร่งการใช้จ่ายที่มีผลต่อเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการลงทุนโครงสรางพื้นฐานขนาดเล็กที่สามารถลงทุนได้ทันที เพราะโครงการขนาดใหญ่อย่างโครงการบริหารจัดการน้ำและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ชัดเจนแล้วว่าจะไม่ทันในปีนี้
 

LastUpdate 11/07/2556 10:00:33 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 8:48 pm