เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"ความเชื่อมั่นนักธุรกิจ" ทรุดต่อเนื่อง


 

 
 
 
 
 ปัจจัยเสี่ยงทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เกิดขึ้น ได้ฉุดความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดย นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา มีค่าดัชนี 93.1 ลดลงจากเดือน พ.ค.ที่ระดับ 94.3 เนื่องจากผู้ประกอบการกังวลถึงปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ  รวมทั้งการบริโภคภายในประเทศที่ชะลอตัว ความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และปัญหาทางการเมืองที่มีมากกว่าเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่การส่งออกมีสัญญาณชะลอตัวลง จากความเปราะบางของเศรษฐกิจคู่ค้าและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ล่วงหน้า 3 เดือน อยู่ที่ 98.7 ลดลงจากเดือน พ.ค.ที่ 100.4 เพราะความเชื่อมั่นเกี่ยวกับคำสั่งซื้อ ยอดขาย การผลิตและผลประกอบการลดลง และนับเป็นความเชื่อมั่นที่ลดต่ำที่สุดในรอบ 21 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.ย 54 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ และการที่ค่าดัชนีหลายตัวต่ำกว่า 100 แสดงว่าความเชื่อมั่นไม่อยู่ระดับปกติ

 
 
 
ความเชื่อมั่นที่ลดลงสอดคล้องกับรายงานผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติของแกรนท์ ธอร์นตัน (The Grant Thornton International Business Report : IBR) ล่าสุด ที่ระบุทัศนคติด้านบวกของผู้บริหารธุรกิจในประเทศไทย ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงก่อนการเกิดเหตุการณ์อุทกภัยเมื่อปี 2554 ค่อนข้างมาก

แม้ทัศนคติด้านบวกของนักธุรกิจในไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 22% จาก 14% เมื่อไตรมาสที่ 1 แต่ยังเป็นระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรวมของ 3 ไตรมาสแรกของปี 2554 ซึ่งอยู่ที่ 42% ค่อนข้างมาก โดยภายหลังจากเหตุการณ์อุทกภัยเป็นต้นมา ค่าเฉลี่ยของทัศนคติด้านบวกอยู่ที่ 16% 

 
 
ซึ่งทัศนคติด้านบวกชะลอตัว เนื่องจากผลกระทบระยะแรกจากเหตุการณ์อุทกภัย สภาวะเศรษฐกิจที่ในกลุ่มเศรษฐกิจที่สำคัญของโลกและประเทศคู่ค้า ตลอดจนปัจจัยภายในประเทศที่น่าวิตกกังวล อาทิ ผลกระทบจากนโยบายจำนำข้าวต่อสภาวะเศรษฐกิจ การเพิ่มสูงขึ้นของหนี้ครัวเรือน และความกังวลต่อความโปร่งใสของโครงการขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย 

 
 
ทั้งนี้ นักธุรกิจมีความเชื่อมั่นลดลงต่อความสามารถในการขยายธุรกิจ โดยมีนักธุรกิจ 28% ที่คาดว่ารายรับจะเพิ่มสูงขึ้น และ 28% มองว่าผลกำไรจะเพิ่มสูงขึ้นภายในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า เปรียบเทียบกับผลการสำรวจของปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 56% และ 52% ตามลำดับ นอกจากนี้ ความคาดหวังต่อความสามารถในการทำกำไรเมื่อปี 2554 โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 50% เปรียบเทียบกับ 39% เมื่อ 4 ไตรมาสที่ผ่านมา

นายเอียน แพสโค กรรมการบริหาร แกรนท์ ธอร์นตัน ประเทศไทย กล่าวว่า ผู้บริหารธุรกิจชาวไทย กำลังมุ่งเน้นแนวทางการดำเนินธุรกิจเพื่อให้เกิดสัมฤทธิผล เนื่องจากกลุ่มเศรษฐกิจหลักยังมีการขยายตัวที่ต่ำ ซึ่งประเทศจีนยังคงมีการชะลอตัว และธนาคารกลางในประเทศต่างๆ ได้เริ่มทดสอบการตอบรับของตลาด ในเรื่องการลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 

 
 
ขณะเดียวกัน ธุรกิจในประเทศรับรู้ถึงผลกระทบอย่างชัดเจน จากนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ดำเนินการก่อนหน้านี้ และหนี้ครัวเรือนก็มีการเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ นโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลยังคงดำเนินต่อไป แม้ว่าจะสูญเสียรายรับอย่างมาก และเกิดความเสียหายที่ไม่อาจระบุได้ต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในระยะยาว ทั้งยังมีความวิตกกังวลต่อความคุ้มทุนและการสนับสนุนเงินลงทุนของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และธนาคารแห่งประเทศไทยยังปรับลดคาดการณ์ GDP อีกด้วย
 

LastUpdate 19/07/2556 23:03:14 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 10:30 pm