สุขภาพ
เลือกกินให้ถูก ก่อนกระเพาะติดเชื้อเรื้อรังถึงขั้นเป็นมะเร็ง






 


ปัจจุบันมีคนจำนวนไม่น้อยที่ติดเชื้อก่อให้เกิดโรคต่างๆ ในทางเดินอาหาร เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ แผลในกระเพาะอาหาร หรือโรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าทำไมการติดเชื้อเหล่านี้ ในแต่ละคนแตกต่างกัน บางคนมีอาการรุนแรง แต่บางคนกลับไม่มีอาการ 


เชื้อโรคที่เข้าสู่กระเพาะอาหารจนทำให้เกิดโรคต่างๆ เหล่านี้ ก็คือ  Helicobacter pylori หรือชื่อที่เราคุ้นเคยคือ H.pylori เป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่พบได้ในกระเพาะอาหาร โดยสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้คนติดเชื้อนี้ก็เพราะว่าไปทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ  เมื่อผ่านเข้าไปในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นโดยเชื้อจะเข้าไปปล่อยเอนไซม์และสารพิษต่างๆทำให้กรดในกระเพาะอาหารรวมถึงน้ำย่อยต่างๆ ทำลายเนื้อเยื่อกระเพาะและลำไส้เล็กจนก่อให้เกิดการอักเสบเกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบขึ้น  นอกจากนี้ยังรวมถึงการทานยากลุ่ม aspirin, ibuprofen, naproxen ซึ่งเข้าไปกัดกระเพาะอาหารจนทำให้เป็นแผลด้วย


เมื่อเชื้อแบคทีเรียนี้เข้าไปในกระเพาะอาหารแล้ว ก็จะทำให้เกิดอาการต่างๆ ตามมามากมาย ซึ่งด้านนายแพทย์ รัชวิชญ์ เจริญกุล อายุรแพทย์ระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลเวชธานี ได้อธิบายว่า ผู้ติดเชื้อเริ่มแรกจะไม่มีอาการจนกระทั่งเกิดอาการปวด หรือแน่น โดยเเฉพาะด้านบนของช่องท้อง อาการท้องอืดแน่น เรอ หรือมีลมแน่น รับประทานอาหารได้น้อยลง อิ่มเร็วขึ้น หรืออาการแน่นหลังจากรับประทานแม้ทานไม่มาก ไม่อยากอาหาร คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายอุจจาระสีดำ อาการเพลีย หรืออาการที่มีผลจากภาวะโลหิตจาง เนื่องจากมีเลือดออกจากแผลในกระเพาะอาหาร

อีกทั้งผู้ป่วยกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังบางราย อาจมีเนื้อเยื่อของกระเพาะอาหารผิดปกติได้ แต่ก็มีบางส่วนที่อาจเปลี่ยนเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารจากการติดเชื้อ H.pylori 


ในด้านการวินิจฉัยและการรักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหารนั้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้เผยต่อว่า เริ่มต้นจะต้องทำการตรวจการติดเชื้อจากลมหายใจ โดยจะให้รับประทานสารพิเศษ ซึ่งจะแตกตัวเมื่อมีเชื้อ H.pylori ในกระเพาะอาหาร จนกระทั่งพบค่าความผิดปกติ วิธีนี้ถือว่าสะดวก รวดเร็วมาก อีกทั้งยังมีความแม่นยำสูง 


สำหรับการรักษานายแพทย์รัชวิชญ์กล่าวว่า ต้องใช้ยามากกว่า 3 ชนิดในการกำจัดเชื้อ เพื่อให้ได้ผลหายขาดมากกว่าร้อยละ 90 และต้องใช้ยาปฎิชีวนะอย่างน้อยสองชนิดเพื่อลดโอกาสดื้อยา โดยผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาให้ครบและต่อเนื่องตลอดการรักษา แพทย์จะใช้ยาหลายๆ ชนิดในการกำจัดเชื้อ H.pylori ใช้เวลาประมาณ 7-14 วัน และอาจพิจารณาใช้ยาลดกรดกลุ่มหนึ่งที่ชื่อ proton pump inhibitor หรือ PPI มีผลช่วยลดการผลิตกรดในกระเพาะอาหาร ทำให้เนื้อเยื่อที่ถูกทำลายจากการติดเชื้อหายเป็นปกติ  

 

สอบถามเพิ่มเติมที่ ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ

โทร. 0-2734-0000 ต่อ 4500, 4501

นายแพทย์รัชวิชญ์ เจริญกุล

อายุรแพทย์ระบบทางเดินอาหารและตับ

ปริญญาบัตร

- แพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

วุฒิบัตร

- อายุรศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

- อายุรศาสตร์โรคทางเดินอาหาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

-สมาชิก/สมาคมทางการแพทย์

- สมาคมโรคทางเดินอาหารและตับ


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 24 ก.ค. 2556 เวลา : 11:47:00
03-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 3, 2024, 5:57 am