แบงก์-นอนแบงก์
ไทยพาณิชย์หั่นเป้าจีดีพีเหลือแค่ 4% ชี้กไลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจชะลอตัวลงทุกตัว


นางสาวสุทธาภา อมรวิวัฒน์  Chief Economist และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ปรับประมาณการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2556 ลดลงมาอยู่ที่ 4% จากประมาณการณ์เดิมที่ระดับ 5.1% จากแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงทั้งการใช้จ่ายภาคเอกชน ความล่าช้าของการลงทุนภาครัฐ และการส่งออกที่เติบโตไม่ดีนักในช่วงครึ่งปีแรก 
 
ทั้งนี้ การบริโภคภาคครัวเรือนมีแนวโน้มชะลอตัวลงทั้งในส่วนของสินค้าคงทน และสินค้าไม่คงทน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากภาระหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในส่วนของการนำเข้าเครื่องจักรต่างๆ ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน หลังจากเร่งตัวขึ้นมากเมื่อปีที่ผ่านมา นอกจากนี้เศษฐกิจไทยยังได้รับผลกระทบลจากความล่าช้าของแผนบริหารจัดการน้ำ สืบเนื่องจากคำตัดสินเบื้องต้นของศาลปกครองกลาง
 
สำหรับการส่งออกของไทยในช่วง 5 เดือนแรก ขยายตัวเพียง 1.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ปัจจัยหลักจากการส่งออกไปจีนที่ปรับลดลงค่อนข้างมาก ซึ่งธนาคารคาดว่าการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีน่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นตามสัญญาณการฟื้นตัวของประเทศเศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ทำให้ปีนี้การส่งออกน่าจะขยายตัวที่ระดับ 3.7%
 
ส่วนปัจจัยค่าเงินบาทน่าจะเคลื่อนไหวระหว่าง 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยเคลื่อนไหวสอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาค จากผลกระทบที่มาจากปัจจัยเดียวกันคือการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศอาจจะลดขนาดคิวอีภายในสิ้นปี จึงทำให้เงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ แต่โดยรวมธนาคารยังมองว่าจะไม่กระทบต่อปัญหาดุลการชำระเงินเหมือนช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศมากถึง 3 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น และประมาณ 130% ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมด ทำให้นักลงทุนค่อนข้างมั่นใจว่าประเทศไทยมีเงินตราต่างประเทศเพียงพอ และโอกาสที่เงินบาทจะอ่อนค่าอย่างไม่มีเสถียรภาพจึงเป็นไปได้น้อย ดังนั้น ธนาคารจึงมองว่าไทยยังสามารถดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปได้ ต่างจากอินเดีย และอินโดนีเซียที่ประสบปัญหาดุลการชำระเงินจนต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อรักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน
 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 25 ก.ค. 2556 เวลา : 12:31:42
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 8:36 pm