ซีเอสอาร์-เอชอาร์
พันธุ์ใหม่ของโลก 'มะลิเฉลิมนรินทร์'




ในโอกาสที่ “วันแม่แห่งชาติ” จะมาเยือนอีกครั้ง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เปิดเผยข่าวดีสำหรับชาวไทยเมื่อมีการค้นพบพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลกในสกุลมะลิที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานนาม มะลิเฉลิมนรินทร์  เตรียมนำโชว์พร้อมจัดทำเข็ดกลัดที่ระลึกจำหน่ายในงานเปิดโลกทัศน์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 50 ปี วว. มอบรายได้ส่วนหนึ่งสมทบทุนสภากาชาดไทย

 

นายยงวุฒิ   เสาวพฤกษ์  ผู้ว่าการ วว. เปิดเผย ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ วว.และคณะ  สำรวจพบมะลิเฉลิมนรินทร์ เมื่อปี พ.ศ.2552 ณ เนินเขาหินปูนเตี้ยๆ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 715 เมตร ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ต่อมามีการตรวจสอบพรรณไม้ดังกล่าวร่วมกับ Ms. Ruth Kiew ผู้เชี่ยวชาญเรื่องมะลิชาวอังกฤษ ที่มาปฏิบัติงานอยู่ในหอพรรณไม้  Forest Research Institute of Malaysia (FRIM) ประเทศมาเลเซีย จึงได้ร่วมกันเขียนรายงานเตรียมลงตีพิมพ์ในวารสารการจำแนกพรรณไม้นานาชาติ Blumea แห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 5 ธันวาคม ปี 2554

 

ทั้งนี้ วว. ได้ขอพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  โดยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Jasminum bhumibolianum Chalermglin  และชื่อภาษาไทย คือ มะลิเฉลิมนรินทร์  ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานนามเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2555 มีความหมายว่า มะลิเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดิน

       

“เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี วว. ซึ่งจะมีการจัดงานเปิดโลกทัศน์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 50 ปี วว. ในวันที่  4-6 สิงหาคม 2556 ณ ห้องคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ จึงมีการจัดทำเข็มกลัดมะลิเฉลิมนรินทร์ขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกเนื่องในวันแม่แห่งชาติ โดยรายได้ส่วนหนึ่งจะนำไปมอบให้แก่สภากาชาดไทย...ผู้สนใจสามารถร่วมสนับสนุนกิจกรรมนี้ได้ในงาน ผู้ว่าการ วว. กล่าว

 

สำหรับ มะลิเฉลิมนรินทร์  เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียว (endemic) ของไทยที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ (rare & endangered) จัดอยู่ในสกุลมะลิ (Genus Jasminum) วงศ์มะลิ (Family Oleaceae) เป็นไม้เถาเลื้อยได้ไกล 1-2 เมตร มีลักษณะเด่นแตกต่างจากมะลิพื้นเมืองและมะลิชนิดอื่นๆ ที่มีอยู่ทั่วโลกคือ มีกลีบเลี้ยง แหลม หนาแข็งขนาดใหญ่จำนวน 4-5 ซี่ รองรับดอกสีขาวที่มีกลีบดอก 6-8 กลีบและมีกระเปาะเกสรเพศผู้สีเหลืองเด่นชัด

 

มีพื้นที่กระจายพันธุ์บริเวณเนินเขาหินปูนเตี้ยๆ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 715 เมตร ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน  เป็นมะลิที่เจริญเติบโตช้าเมื่อเทียบกับมะลิชนิดอื่นๆ ออกดอกบานในช่วงเดือน กรกฎาคมถึงกันยายน ส่งกลิ่นหอมแรง มีผลแก่เดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม

 

 ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้ค้นพบ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา วว.ได้ทำการศึกษาวิธีการขยายพันธุ์มะลิเฉลิมนรินทร์ เพื่อการอนุรักษ์พรรณไม้ดังกล่าวอย่างยั่งยืน ผลการศึกษาพบว่า สามารถขยายพันธุ์ไม้ชนิดนี้ได้ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการปักชำ โดยต้นกล้าที่เกิดจากการเพาะเมล็ดจะเจริญเติบโตได้ช้ากว่า จะเลื้อยไต่ซุ้ม สูง 1 เมตรและออกดอกได้ต้องใช้ระยะเวลาถึง 2 ปี ในขณะที่การขยายพันธุ์โดยวิธีการปักชำกิ่งได้ผลดี มีเปอร์เซ็นต์ออกรากและรอดตายได้สูงมาก สามารถเลื้อยไต่ซุ้มและออกดอกได้ในเวลาเพียง 1 ปี ส่วนการขยายพันธุ์โดยวิธีการตอนกิ่งไม่ได้รับความนิยมเนื่องจากกิ่งยอดมีขนาดเล็กมากและตอนได้ยากมาก

 

 

 

  


LastUpdate 27/07/2556 16:13:07 โดย : Admin
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 11:53 pm