อสังหาริมทรัพย์
ตลาดนิคมอุตสาหกรรมคึกคัก นักลงทุนต่างชาติหวนลงทุนในไทย


 

 
 
"ไนท์แฟรงค์" เผยตลาดนิคมอุตสาหกรรมแนวโน้มรุ่ง ต่างชาติขนเงินลงทุนเพิ่ม ชี้นักลงทุนแดนปลาดิบลุยลงทุนเพียบ ทั้งฮอนด้า โตโยต้า และอิเล็กโทรลักซ์  โซนอีสเทิร์นซีบอร์ดและภาคตะวันออกตอนกลางทำเลยอดฮิต เหตุใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง ส่งผลราคาที่ดินถีบตัวสูงขึ้น

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนของตลาดนิคมอุตสาหกรรมที่มีความต้องการใช้พื้นที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ราคาปรับตัวสูง โดยพื้นที่ในจังหวัดอยุธยา และจังหวัดปทุมธานี ผู้ประกอบการเริ่มมีความเชื่อมั่นอีกครั้ง หลังจากชะลอตัวจากสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา เห็นได้จากมีการซื้อขายมากขึ้น 

โดยอุปทานที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมพร้อมบริการในไตรมาสแรกปีนี้ เพิ่มสูงถึง 120,425 ไร่ หรือเพิ่มขึ้น ประมาณ 6.07% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอัตราการเช่าโรงงานอยู่ที่ 86.82% ในไตรมาสแรกปีนี้ แต่ต่ำกว่าอัตรา 87.62% ของไตรมาสก่อน เนื่องจากมีอุปทานใหม่เข้าสู่ตลาด

ทั้งนี้ เนื่องจากมีการประกาศมาตรการจูงใจเพื่อการลงทุนใหม่ ซึ่งการลงทุนจากต่างชาติถือเป็นแหล่งอุปสงค์ที่สำคัญในปีก่อน โดยการลงทุนของชาวต่างชาติเติบโตขึ้นมากหลังสิ้นสุดเหตุน้ำท่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนักลงทุนชาวญี่ปุ่นออกมาแสดงความเชื่อมั่นอย่างแข็งขันและคิดเป็น 63% ของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติในปีก่อน หรือประมาณ 34.8 หมื่นล้านบาท
 
 
 
การลงทุนขนาดใหญ่ที่ประกาศไปในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ได้แก่ โรงงานฮอนด้าในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดปราจีนบุรี โรงงานโตโยต้าในเกทเวย์ซิตี้ โรงงานบริดจ์สโตนในอมตะนคร จังหวัดชลบุรี และโรงงานอิเล็กโทรลักซ์ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชระยอง เป็นต้น ภาคผลิตภัณฑ์โลหะและเครื่องจักรและภาคเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีการเติบโตสูงสุดในปีก่อน เพราะแรงขับเคลื่อนในอุตสาหกรรมยานยนต์ การแปรรูปโลหะ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของนักลงทุนชาวญี่ปุ่น
 
ระดับการลงทุนของต่างชาติในช่วงเวลาเดือนมกราคมถึงเมษายนปีนี้สูงขึ้นใกล้เคียงกับหรือสูงกว่าที่บันทึกได้ตลอดทั้งปี 2554 ในบางภาคส่วนของอุตสาหกรรมและคิดเป็นเกือบ 35% ของทั้งปี 2555 ที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมในไตรมาสแรกปีนี้สูงถึง 120,425 ไร่ หรือเพิ่มขึ้น 6.07% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมที่มีการใช้งานจริง 104,803 ไร่หรือคิดเป็น 87.03% เพิ่มขึ้นจาก 86.5% ในไตรมาสก่อน
 
จากอัตราการใช้งานและอุปสงค์ที่สูงขึ้นนี้ ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายวางแผนเปิดนิคมและสวนอุตสาหกรรมใหม่ๆเพิ่ม ซึ่งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) วางแผนจะพัฒนานิคมใหม่รวม 13 แห่ง ในจำนวนนี้มี 4 แห่งสำหรับเอสเอ็มอีใน 4 ภูมิภาค นิคมโลจิสติกส์ 1 แห่งในอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย และโครงการอีก 8 แห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี อุดรธานี มุกดาหาร สกลนคร นครปฐม และหนองคาย โดยมีภาคยานยนต์ ภาคอิเล็กทรอนิกส์ และภาคการเกษตรเป็นเป้าหมายสำคัญ โครงการเหล่านี้จะครอบคลุมพื้นที่ 14,163 ไร่ และมีราคาที่ดินประเมินไว้ที่ 1.5 ล้านบาทต่อไร่

 
 
 
นายมาร์คัส เบอร์เทนชอร์ กรรมการบริหารและหัวหน้าฝ่ายตัวแทนนายหน้าบริษัท ไนท์แฟรงค์ ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ราคาที่ดินอุตสาหกรรมในทั้ง 5 โซน ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน โซนอีสเทิร์นซีบอร์ดและภาคตะวันออกตอนกลางเป็นทำเลที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากอยู่ใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง ระบบโครงสร้างพื้นฐาน การปรับปรุงเครือข่ายถนนใหม่ๆ ราคาที่ดินในโซนนี้จึงขยับตัวเพิ่มขึ้นสูงที่สุดเพราะว่าที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมที่ยังว่างอยู่นั้นเหลือจำนวนน้อยลง
 
ส่วนราคาที่ดินในโซนภาคเหนือเพิ่มขึ้น 5.27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความมั่นใจและการดำเนินธุรกรรมต่างๆที่เริ่มหวนกลับคืนสู่ทำเลดังกล่าวแล้ว

นายเบอร์เทนชอร์ กล่าวต่อว่า อัตราการเช่าโรงงานอยู่ที่ 86.82% ในไตรมาสแรกปีนี้ ลดลงจาก 87.62% ในไตรมาสก่อน เนื่องจากอุปทานโรงงานสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นอีก 160,000 ตารางเมตร เป็น 2,665,819 ตารางเมตร สะท้อนให้เห็นถึงการที่ผู้พัฒนาโครงการตอบรับอุปสงค์ที่เพิ่มมากขึ้น
 
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอัตราการเช่าจะลดลง เนื่องจากมีอุปทานใหม่เกิดขึ้น จำนวนเนื้อที่ซึ่งมีการเช่าจริงในไตรมาสแรก ก็ยังเพิ่มขึ้นอีกกว่า 116,000 ตารางเมตร จากไตรมาสก่อน ตัวเลขนี้สอดคล้องกับประกาศของกรมโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งระบุว่ามีการออกใบอนุญาตให้กับโรงงานตั้งใหม่กว่า 2,156 โรงในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้หรือเพิ่มขึ้น 15.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

อุปสงค์พื้นที่โรงงานให้เช่าที่เพิ่มขึ้นทำให้อัตราค่าเช่าเพิ่มสูงขึ้นอีก 6.4% ในไตรมาสแรกปีนี้ โซนอีสเทิร์นซีบอร์ดโซนที่มีค่าเช่าสูงสุด ตามด้วยปทุมธานีและอยุธยา

ทั้งนี้ ระดับการลงทุนโดยตรงของต่างชาติในภาคการผลิตในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ยังมีแนวโน้มดี แม้ว่าจะมีความกังวลเรื่องค่าเงิน ซึ่งคาดว่าปีนี้จะเป็นปีที่เห็นการเติบโตอย่างจริงจังของเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ
 
 
 
 
สำหรับนโยบายใหม่ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้ และมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม ปี 2558 เป็นต้นไป จึงยังมีช่วงเวลาให้นักลงทุนได้ปรับตัว เมื่อถึงเวลานั้นแล้วนโยบาย 3 โซนซึ่งอิงจากทำเลที่ตั้งเป็นหลักจะถูกยกเลิกไปแล้วมีนโยบายใหม่เข้ามาแทนที่ซึ่งจะส่งเสริมการลงทุนใน 10 ด้านสำคัญซึ่งจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยมากกว่า เช่น เทคโนโลยีขั้นสูง เทคโนโลยีสีเขียวและโลจิสติกส์ กิจการบางประเภทจะไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนหรือสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีอีก แต่บริษัทที่ทำงานวิจัยและพัฒนาหรือเลือกที่จะใช้ทำเลที่ตั้งในนิคมอุตสาหกรรมก็อาจจะเข้าข่ายได้รับสิทธิมาตรการจูงใจในทางด้านการเงินเพิ่มเติมได้

ทั้งนี้ อุปสงค์สำหรับโรงงานแบบให้เช่าและที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้นในช่วง 18 เดือนข้างหน้า เมื่อนักลงทุนยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย และยังมีบริษัทที่ต้องการจะก่อตั้งกิจการในใจกลางแห่งภูมิภาคอาเซียนแห่งนี้ก่อนที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการด้วย

LastUpdate 31/07/2556 00:25:54 โดย : Admin
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 11:57 pm