เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เร่งกู้วิกฤติ "เอสเอ็มอี" ขาดสภาพคล่อง


 

 

ในภาวะที่เศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้สถาบันการเงินทั้งระบบ เพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คงหนีไม่พ้นผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) เนื่องจากสายป่านทางการเงินที่มีไม่มาก ซึ่งส่วนใหญ่จะพึ่งพาสินเชื่อจากสถาบันการเงินเป็นหลัก ดังนั้นเมื่อสถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ทำให้การหาแหล่งเงินทุนทดแทน โดยเฉพาะเงินนอกระบบ ย่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยเรื่อง "SMEs หนีตายเศรษฐกิจถดถอย (ทาง เทคนิค)" โดยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ที่พบว่า ผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่ ปรับตัวโดยการหันไปใช้การกู้ยืมเงินจากบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือ สินเชื่อนอกระบบ มาช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องระยะสั้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ เอสเอ็มอีในระยะยาว เพราะทำให้เกิดความเสี่ยงสูง และ 60.4% ปรับตัวด้วยการลดขนาดการผลิต 

โดยปัญหาค่าครองชีพ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจ จะทำให้กำลังซื้อลดลง และ คาดว่าในไตรมาส 4 จะมีเอสเอ็มอี ที่อยู่ในสถานการณ์เสี่ยงที่อาจจะต้องปิดกิจการมากถึง 2 แสนราย 

 

 

ด้านในมุมมองของ ธนาคารแห่งประเทศไทย นายเกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ยอมรับว่า ปัจจุบันมีเอสเอ็มอีบางราย ที่ไปใช้วิธีกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ผ่านการขอสินเชื่อบุคคลแทนสินเชื่อสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี แต่ไม่ได้หมายความว่า แบงก์ไม่ปล่อยกู้เอสเอ็มอีหรือระมัดระวังการปล่อยกู้ เพราะถ้าดูอัตราการเติบโตสินเชื่อเอสเอ็มอี ในไตรมาส 2 ยังมีการเติบโตมากกว่า 10%

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมี 2 กลุ่ม คือ เอสเอ็มอีที่อยู่ในระบบธนาคารพาณิชย์ กับอีกกลุ่มคือผู้ประกอบการที่ไม่ได้มีข้อมูลกับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งกลุ่มหลังนี้หากต้องการสภาพคล่องเร่งด่วนก็อาจไม่ขอสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีจากธนาคารพาณิชย์ เพราะขั้นตอนการขอสินเชื่อและวงเงินอนุมัติมีความซับซ้อนกว่าการขอสินเชื่อส่วนบุคคล ดังนั้นจึงมีบางส่วนกู้สินเชื่อบุคคลแทน

 

 

ส่วนธนาคารเฉพาะกิจ เช่น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) นายมนูญรัตน์ เลิศโกมลสุข กรรมการผู้จัดการ เปิดเผยว่า ธนาคารเตรียมวงเงิน 3,000 ล้านบาท ปล่อยกู้สินเชื่อ "Smile Factoring" เป็นสินเชื่อประเภทหลังส่งมอบงาน หรือส่งมอบสินเค้า (Factoring Post Shipment) สำหรับลูกหนี้การค้า ราชการ รัฐวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยของรัฐหน่วยงานเอกชนที่แปรรูปจากระบบราชการ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง แก้ปัญหาหมุนเงินไม่ทัน โดยธนาคารรับซื้อเอกสารส่งมอบงาน หรือสินค้า โดยจ่ายเงินให้ก่อน ทำให้ธุรกิจเดินหน้าได้อย่างคล่องตัว และขยายกิจการได้โดยไม่สะดุด

สินเชื่อ Smile Factoring ของเอสเอ็มอีแบงก์ให้วงเงิน รับซื้อลูกหนี้การค้าสูงสุด 90% ของมูลหนี้ที่โอนสิทธิ์หลังส่งมอบงาน หรือส่งมอบสินค้าแล้ว คิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ MFR เมื่อได้รับอนุมัติและมีการรับซื้อภายในสิ้นปี 2556 พร้อมให้พิเศษสำหรับลูกค้าเดิม ไม่คิดค่าธรรมเนียมบริการ และลูกค้าใหม่ลด 50% จากค่าธรรมเนียมปกติที่เรียกเก็บ 


LastUpdate 02/09/2556 11:26:51 โดย : Admin
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 1:28 am