เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
SCBคาดเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวที่ 3.4%




ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์  (SCB EIC) ออกบทวิเคราะห์  การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP)ของประเทศประจำปี 2013 คาดการณ์เศรษฐกิจขยายตัวได้ 3.4%

การส่งออกเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาด โดยการส่งออกของไทยในช่วง 7 เดือนแรกของปีขยายตัวได้เพียง 0.6% เนื่องจากอุปสงค์ต่อการนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมหลักยังคงอ่อนแอตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักอย่างจีนและญี่ปุ่น ทั้งนี้ คาดว่าการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีจะเริ่มฟื้นตัวตามเศรษฐกิจประเทศกลุ่ม G-3 รวมถึงจีนที่มีสัญญาณการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ดีขึ้น อย่างไรก็ดี ความผันผวนของค่าเงินที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยเสี่ยงใหม่ต่อการค้าระหว่างประเทศ

การใช้จ่ายภาคเอกชนยังมีแนวโน้มชะลอตัว โดยเฉพาะการซื้อรถยนต์ที่เร่งตัวมากก่อนหน้านี้จากมาตรการคืนภาษีรถยนต์คันแรกนอกจากนี้ มีปัจจัยที่อาจจะส่งผลให้ภาคครัวเรือนเพิ่มความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น ได้แก่ ราคาสินทรัพย์ทางการเงินที่ปรับตัวลดลงและยังมีความไม่แน่นอนสูง และภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นจากการเร่งการใช้จ่ายก่อนหน้านี้ สำหรับภาคเอกชนนั้น ยังไม่มีปัจจัยที่จะทำให้ต้องเร่งการลงทุนในช่วงนี้

ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจมีเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการลดขนาดการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ QE แล้ว ยังมีความเสี่ยงที่ความตึงเครียดในตะวันออกกลางจะทวีความรุนแรงเป็นสงคราม โดยสองปัจจัยนี้อาจส่งผลให้ราคาพลังงานในประเทศพุ่งสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบกับกำลังซื้อภายในประเทศ
        
เงินเฟ้อ
เงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยปีนี้น่าจะอยู่ที่ราว 2.3 % และ 1.0% ตามลำดับ

แรงกดดันเงินเฟ้อจากปัจจัยภายในประเทศมีไม่มากนักตามภาวะการใช้จ่ายที่ชะลอตัว แม้ราคาพลังงานในประเทศจะมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังตามการปรับขึ้นราคา LPG ภาคครัวเรือนเมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา แต่ระดับราคาในประเทศไม่น่าจะได้รับแรงกดดันมากเท่าใดนักเนื่องจากแนวโน้มการชะลอตัวของการใช้จ่ายอุปโภคบริโภคภาคเอกชน

ความตึงเครียดในตะวันออกกลางเป็นความเสี่ยงหลักต่อราคาน้ำมันในตลาดโลก และราคาพลังงานในประเทศ ราคาน้ำมันดิบดูไบปรับเพิ่มขึ้นราว 5% ภายในระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์จากประเด็นความตึงเครียดในประเทศซีเรีย ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นหากสหรัฐฯ ใช้กำลังทางทหาร

   


อัตราดอกเบี้ยนโยบาย
อัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจจะปรับลดลงได้ในช่วงที่เหลือของปีหากเศรษฐกิจชะลอลงมากกว่าที่คาด

การชะลอตัวของการใช้จ่ายในประเทศเป็นปัจจัยสนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจะเป็นแรงจูงใจให้ภาคเอกชนขยายการลงทุน คล้ายกับการใช้มาตรการทางภาษีเพื่อลดต้นทุนชั่วคราว ซึ่งสามารถทำได้เนื่องจากอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี ธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น ความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุนจากการลดขนาด QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้
        
เงินบาท
เงินบาทน่าจะอยู่ที่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปลายปี

ค่าเงินบาทน่าจะยังผันผวนในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้า การลดขนาด QE ที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ค่าเงินผันผวนทั่วโลก ทำให้นักลงทุนยังคงลดขนาดการลงทุนในประเทศตลาดเกิดใหม่ซึ่งรวมถึงประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยนักลงทุนเพ่งเล็งประเทศที่มีปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง เช่น อินโดนีเซียและอินเดีย เป็นเหตุให้ค่าเงินของประเทศเหล่านั้นอ่อนค่าลงมาก อย่างไรก็ดี ประเทศไทยมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เช่น มีปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศในระดับสูงเมื่อเทียบกับภาระหนี้ต่างประเทศระยะสั้น และไม่ได้มีปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง ดังนั้น ความผันผวนของเงินบาทน่าจะลดลงและค่าเงินบาทน่าจะกลับมาอยู่ที่ระดับ 32 บาทในช่วงปลายปี
 
 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 07 ก.ย. 2556 เวลา : 20:04:37
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 11:53 am