หุ้นทอง
เศรษฐกิจฟื้น ทิสโก้เวลท์แนะถึงเวลาลงทุนหุ้นต่างประเทศเพิ่ม


ทิสโก้ เวลธ์  มีมุมมองเป็นบวกต่อการลงทุนในตลาดหุ้น หลังแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวสดใส ชี้ตลาดหุ้นทั่วโลกยังน่าลงทุน  แนะจับจังหวะลงทุนตลาดหุ้นสหรัฐฯ  เอเชีย จีน ไทย และญี่ปุ่น  หลังปัจจัยด้านเศรษฐกิจและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนหนุน  ด้านตลาดหุ้นยุโรปแนะเลือกลงทุนเป็นรายประเทศ

"ทิสโก้ เวลธ์" (TISCO Wealth)นำเสนอบทวิเคราะห์กลยุทธ์การลงทุน ประจำเดือนกันยายน โดยระบุว่า ยังคงมุมมองเชิงบวก และแนะนำ Overweight การลงทุนในหุ้น เนื่องจาก 1) แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลก 2) การปรับเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้น ตามทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นในสหรัฐฯ (Great Rotation) และ 3) Valuation ของตลาดหุ้นโดยรวมที่ยังดูน่าสนใจเมื่อเทียบกับตราสารหนี้

ทั้งนี้ตลาดหุ้นที่แนะนำลงทุน ประกอบด้วย ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา เนื่องจากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจยังส่งสัญญาณขยายตัวอย่างต่อเนื่องในทุกภาคของเศรษฐกิจ ทั้งการจ้างงาน อสังหาริมทรัพย์ และการผลิต  ทำให้เชื่อว่าผลกำไรของดัชนี S&P500 มีโอกาสถูกปรับเพิ่มขึ้น ประกอบกับ Valuation ที่ยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย 10 ปี  ขณะที่รายงานผลประกอบการในไตรมาส 2 ของบริษัทในดัชนี S&P500 ซึ่งล่าสุดประกาศออกมาแล้วจำนวน 492 บริษัท มีบริษัทที่ผลกำไรออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ 351 บริษัท หรือคิดเป็นสัดส่วน 71% ผลกำไรรวมที่ประกาศออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ 2.72% โดยอุตสาหกรรมหลักที่มีผลประกอบการดีกว่าคาด ได้แก่ ธุรกิจการเงิน อสังหาริมทรัพย์ บริการสุขภาพ (Health Care) และ ค้าปลีก (Consumer Goods)   ส่วนระดับ P/E ของดัชนี S&P500 เมื่อเทียบกับคาดการณ์กำไรของปี 2013 อยู่ที่ 14.8 เท่าในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นระดับใกล้เคียงค่าเฉลี่ยในช่วง 10 ปีย้อนหลังที่ 14.7 เท่า ซึ่งถือเป็นระดับที่สมเหตุสมผลเมื่อเทียบกับพื้นฐานเศรษฐกิจที่ยังมีทิศทางขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ตลาดหุ้นเอเชียแปซิฟิก ไม่รวมญี่ปุ่น (ApxJ) เนื่องจากการเทขายสินทรัพย์ในตลาดการเกิดใหม่ทำให้ Valuation ของตลาดหุ้น โดยเฉพาะในเอเชียแปซิฟิก ไม่รวมญี่ปุ่น ปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับที่น่าสนใจ  Forward P/E ของดัชนี MSCI Asia Pacific ex Japan ในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 12 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังที่ 13 เท่า เปรียบเทียบกับ Forward P/E ของดัชนี S&P500 และ Stoxx600 ที่ 15 เท่า และ 14 เท่าตามลำดับ  รวมถึงเศรษฐกิจเอเชียมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นจากการส่งออก และ แนวโน้มการปรับตัวของคาดการณ์ผลกำไรที่เริ่มทรงตัว และมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ตลาดหุ้นจีน แนะนำซื้อลงทุนระยะยาว โดยเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของ TISCO Wealth ที่เชื่อว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวได้ใกล้เคียงกับเป้าที่ 7.5% ในปีนี้  ขณะที่ผลประกอบการในไตรมาส 2 ของบริษัทในดัชนี HSCEI จำนวน 36 บริษัท มีจำนวน 26 บริษัทที่ผลกำไรเติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 2 ปีที่แล้ว ในขณะที่ผลกำไรรวมมีการเติบโตขึ้น 41.58% และมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในหุ้นจีน เนื่องจากราคาหุ้นปัจจุบันที่ดัชนี HSCEI เทรดที่ระดับประมาณ 1.1 เท่าของมูลค่าทางบัญชี (P/BV) ซึ่งเป็นระดับเดียวกับในช่วงวิกฤติ Subprime ในปี 2008 น่าจะสะท้อนปัจจัยลบไปมากแล้ว ในขณะที่ระดับ P/E ของหุ้นจีนในปัจจุบันที่ 7.6 เท่า ยังถือว่าถูกมากเมื่อเทียบกับศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในระยะยาว

ตลาดหุ้นไทย แนะนำซื้อสะสม  โดยคาดการณ์กำไรของตลาดหุ้นไทยถูกปรับลดลงราว 5% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา หลังเศรษฐกิจไทยเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวในไตรมาส 2  แต่เชื่อว่าการชะลอตัวดังกล่าวเป็นเพียงแค่การปรับตัวกลับไปสู่ระดับปกติหลังจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหมดอายุลงเท่านั้น ส่วนในระยะยาวยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยยังมีศักยภาพในการเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงที่เหลือของปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น จากการส่งออกที่ได้ประโยชน์จากค่าเงินบาที่อ่อนตัวลงอย่างรวดเร็ว และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ จีน ยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งทำให้เชื่อว่าคาดการณ์กำไรของตลาดหุ้นไทยจะเริ่มทรงตัวหลังจากนี้  แนะนำให้ “ซื้อสะสม”  เนื่องจาก Valuation ที่ปรับตัวลดลงมาใกล้เคียงระดับเดียวกับตลาดหุ้น APxJ และมีส่วนลดจากตลาดกลุ่ม TIP (Thai, Indonesia, Philippines) อยู่อีกมาก โดยในปัจจุบันตลาดหุ้นไทย ซื้อขายที่ระดับ P/E ของปี 2013 ที่ 12.6 เท่า ใกล้เคียงกับดัชนี MSCI Asia Pacific ex Japan ที่ 12.4 เท่า และต่ำกว่าตลาดหุ้นฟิลิปินส์ และอินโดนีเซีย ที่ P/E 17.3 และ 13.7 เท่า ตามลำดับ

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น  แนะนำซื้อสะสม  เนื่องจากจะเป็นตลาดที่ได้รับผลดีที่สุดจากการชะลอมาตรการ QE ของสหรัฐฯ เพราะจากทิศทางการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ที่ช่วยกระตุ้นการส่งออกและกำไรของบริษัทจดทะเบียนของญี่ปุ่นที่ส่วนใหญ่มีฐานการผลิตอยู่นอกประเทศ โดยในช่วงตั้งแต่กลางเดือน มิ.. ที่ผ่านมา ที่ตลาดมีความกังวลต่อการชะลอ QE ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นราว 6% เมื่อเทียบกับค่าเงินเยน และทำให้ดัชนี Nikkei ฟื้นตัวขึ้นราว 4% ในช่วงเดียวกัน  และจากการยุติ QE  รวมถึงแนวโน้มขาขึ้นของดอกเบี้ยในสหรัฐฯ จะทำให้ธนาคารกลางยญี่ปุ่นเป็นธนาคารกลางแห่งเดียวที่ยังคงมาตรการการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ และคงแผนการอัดฉีดสภาพคล่องจำนวนมาก ซึ่งน่าจะส่งผลให้ค่าเงินเยนมีทิศทางอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง และเป็นปัจจัยสนับสนุนผลกำไรของบริษัทในญี่ปุ่นต่อไป นอกจากนี้ Valuation ยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ ราคาหุ้นเมื่อเทียบกับมูลค่าทางบัญชีของดัชนี Nikkei ยังอยู่ในระดับต่ำสุด เมื่อเทียบกับดัชนีหุ้นในประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ โดยค่า PBV ของดัชนี Nikkei ในปัจจุบันอยู่ที่ 1.5 เท่า เทียบกับ ดัชนี MSCI Developed Market ที่ 1.9 เท่า

ตลาดหุ้นยุโรป แนะนำเลือกลงทุนเป็นรายประเทศ  โดยเน้นลงทุนในกลุ่มประเทศ Core Countries และหลีกเลี่ยงกลุ่มประเทศ Peripheral เนื่องจาก 1) แนวโน้มผลกำไรของกลุ่ม Core Countries ที่มีศักยภาพในการขยายตัวได้ดีกว่า ในขณะที่กลุ่ม Peripheral จะยังคงถูกกดดันจากการชำระคืนหนี้ (Deleveraging) 2) Valuation ของหุ้นในกลุ่ม Core Countries ยังอยู่ในระดับที่สมเหตุสมผลและดูน่าสนใจกว่าหุ้นในกลุ่ม Peripheral และ 3) ความเสี่ยงทางการเมืองในกลุ่ม Peripheral เนื่องจากความไม่มั่นคงของรัฐบาลในหลายประเทศ ที่คะแนนความนิยมถดถอยมาอย่างต่อเนื่อง จากการใช้นโยบายรัดเข็มขัด


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 ก.ย. 2556 เวลา : 14:47:17
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 12:38 pm