แบงก์-นอนแบงก์
"กรุงไทย"รุกสินเชื่อแฟคเตอริ่ง กวาดเอสเอ็มอีจิ๋วซัพพลายเชน ตั้งเป้าสินเชื่อหมื่นล้าน




 

"แบงก์กรุงไทย" ปิ๊งไอเดียปล่อยสินเชื่อแฟคเตอริ่ง จีบ"เอสเอ็มอีรายย่อย"วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท เจาะซัพพลายเชนธุรกิจรายใหญ่ ตั้งเป้าพอร์ตหมื่นล้านบาท โตพรวด 100% มั่นใจเสี่ยงต่ำ

 
 
 
นายเวทย์ นุชเจริญ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ปีนี้ธนาคารขยายบริการสินเชื่อแก่ลูกค้าเอสเอ็มอีรายย่อยขนาดวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 20 ล้านบาทเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก โดยเฉพาะสินเชื่อแฟคเตอริ่งซึ่งเป็นกลไกสินเชื่อที่เพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจรายย่อยที่ขายสินค้าให้แก่คู่ค้าไปแล้ว สามารถนำใบส่งสินค้ามาเรียกเก็บเงิน จึงได้รับเงินเร็วขึ้นกว่าเดิม โดยคาดว่าปีนี้จะมีพอร์ตสินเชื่อนี้กว่า 1 หมื่ีนล้านบาท เติบโต 100% จากปีที่แล้วที่มีพอร์ตสินเชื่อนี้ราว 5 พันล้านบาท
 
“สินเชื่อนี้เราเน้นจับธุรกิจรายย่อยที่เป็นซัพพลายเชนของธุรกิจขนาดใหญ่ที่เป็นบิ๊กเนมในตลาด พอธุรกิจขายสินค้าไปให้รายใหญ่ เขาก็สามารถมาใช้บริการแฟคเตอริ่งขึ้นเงินเป็นสินเชื่อกับธนาคารก่อนได้เลย ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แล้วครบกำหนดธนาคารก็ค่อยเรียกเก็บจากธุรกิจรายใหญ่ ฉะนั้นสินเชื่อนี้ความเสี่ยงต่ำมาก ตอนนี้พอร์ตเราปล่อยไปแล้วประมาณ 8 พันล้านบาท เพิ่งมีปัญหาหนี้เสียแค่รายเดียว เป็นรายเล็กๆ ย่อยๆ เราจึงไม่ค่อยห่วง"
 
เขากล่าวอีกว่า สินเชื่อแฟคเตอริ่งนี้ถือเป็นกลยุทธ์หลักในการเติบโตของปีนี้ ซึ่งจะโฟกัสไปที่กลุ่มคู่ค้าที่เป็นซัพพลายเชนของธุรกิจขนาดใหญ่ของธนาคารที่มีกว่า 7-8 หมื่นราย และเข้าไปทำในลักษณะครอสเซลล์ธุรกิจอื่นเข้าไปด้วย
 
กรณีล่าสุดธนาคารได้เข้าไปดีลกับทางโตโยต้า ปล่อยกู้ให้กับดีลเลอร์ที่จะใช้สำหรับซื้อรถยนต์จากโตโยต้าวงเงินเฉลี่ยรายละ 10 ล้านบาท ขณะเดียวกันก็ดึงบริษัท กรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของธนาคารเข้าไปร่วมมือกับดีลเลอร์ทำแคมเปญสินเชื่อเช่าซื้อดอกเบี้ยพิเศษ สำหรับลูกค้าที่ความเสี่ยงต่ำ เช่น กลุ่มข้าราชการ หรือแพทย์ เป็นต้น
 
นอกจากสินเชื่อแฟคเตอริ่งแล้ว นายเวทย์กล่าวว่า ธนาคารยังให้ความสำคัญกับการขยายสินเชื่อไปยังธุรกิจเอสเอ็มอีรายย่อยอื่นๆ ด้วย ซึ่งจะใช้กลยุทธ์ดึงให้ลูกค้าเข้ามาทำธุรกรรมการเงินผ่านบัญชีของธนาคารก่อน เพื่อดูกระแสเงินสดของธุรกิจและความสามารถจ่ายสินเชื่อ ซึ่งจะทำให้พิจารณาวงเงินสินเชื่อได้อย่างเหมาะสม ขณะเดียวกันธนาคารก็จะมีฐานเงินฝากจากบัญชีออมทรัพย์และกระแสรายวันเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งเป็นการระดมสภาพคล่องที่ต้นทุนต่ำและค่อนข้างเสถียร
 
“การดึงให้ธุรกิจเริ่มมาเดินบัญชี มาใช้ธุรกรรมต่างๆ กับธนาคารนั้น เป็นกลยุทธ์ที่หลายธนาคารนำมาใช้เป็นจำนวนมาก บางรายก็ยกเลิกเรื่องค่าธรรมเนียมธุรกรรมออกไปเพื่อดึงดูดลูกค้า แต่สำหรับธนาคารกรุงไทยก็ใช้กลยุทธ์เรื่องเดินบัญชีด้วย แต่จะฟรีค่าธรรมเนียมคงทำไม่ไหว เพราะเราเป็นแบงก์ใหญ่ แค่ล่าสุดที่ให้ฟรีค่าธรรมเนียมโอนระหว่างบัญชีข้ามเขตภายในธนาคารเดียวกัน 15 รายการต่อเดือน เมื่อใช้ช่องทางอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งและโมบายแบงกิ้ง ก็ทำให้ค่าธรรมเนียมหายไปพอสมควรแล้ว”
 
เขากล่าวอีกว่า ในการบริการด้านธุรกรรมการเงินแก่ลูกค้า เครือข่ายบริการยังเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งธนาคารกรุงไทยมีจุดแข็งด้านเครือข่ายสาขาและบริการต่างๆ ที่ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า ตอบโจทย์ด้านความสะดวกสบายแก่ลูกค้าที่จะทำธุรกรรมหรือรายการเดินบัญชีต่างๆ จึงมั่นใจว่าสามารถแข่งขันได้

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 ก.ย. 2556 เวลา : 08:04:11
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 6:28 am