เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" ฟันธง "เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุด" -จับเทรนด์ ลด QE ดึงส่งออกฟื้นตาม


 

 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมั่นใจเศรษฐกิจไทยพ้นภาวะถดถอยแล้ว เชื่อปลายปีหยุดแผ่ว เห็นชัดแน่นอนปีหน้า ชี้เฟดจ่อ ลด QE สะท้อนเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นไข้ เชื่อส่งออกคัมแบ็ก

 
 
 
นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่่วงหลังจากนี้ว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดของสถานการณ์ปัญหาด้านการถดถอยทางเทคนิคไปแล้ว โดยเชื่อมั่นว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในช่วงไตรมาส 3 จะเริ่มทรงตัว ไม่ต่ำไปกว่าไตรมาสก่อนหน้า รวมถึงทิศทางในไตรมาส 4 น่าจะยังเริ่มขยายตัวได้ดีขึ้นกว่าเดิม

ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญคือ แนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) น่าจะเริ่มปรับลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ลงในปลายปีนี้ สะท้อนว่าเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มฟื้นตัวกลับมาแล้ว ซึ่งสะท้อนภาพไปถึงเศรษฐกิจโลกด้วย จึงทำให้ภาคการส่งออกของไทยที่เป็นเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจจะกลับมาเดินหน้าได้ดีขึ้นอีกครั้ง

"เรามองว่าการลดปริมาณ QE ลง น่าจะทำให้ภาคการส่งออกของไทยเริ่มกลับมีโอกาสขยายตลาดได้ดีขึ้น และจะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจไทยหยุดการชะลอตัวลงไป แต่คงไม่ได้กลับดีขึ้นในทันที คงต้องอาศัยเวลา เพราะปัจจัยตัวอื่นๆ อย่างการบริโภคในประเทศรวมถึงการลงทุนเอกชน ก็ยังคงชะลอตัวอยู่"

เขากล่าวอีกว่า หากเฟดตัดสินใจลดปริมาณ QE ลงจริง อาจจะมีผลให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากเงินลงทุนบางส่วนอาจถอนการลงทุนจากไทย เพื่อกลับไปลงทุนในตลาดสหรัฐแทน โดยสถานะทางการเงินล่าสุดของไทยยังถือว่ามีความแข็งแกร่งมาก น่าจะรองรับสถานการณ์ดังกล่าวได้

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งวิเคราะห์โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า ณ เดือนสิงหาคม ไทยมีปริมาณตราสารหนี้คงค้างที่ถือครองโดยต่างชาติอยู่ทั้งสิ้น 6.93 แสนล้านบาท แม้ในกรณีที่รุนแรงที่สุด (worst-case scenario) หากต่างชาติขายเงินลงทุนเหล่านี้ทั้งหมด สินทรัพย์สภาพคล่องส่วนเกินที่มีอยู่ในระบบธนาคารพาณิชย์ก็ยังมีเพียงพอที่จะรองรับได้ รวมถึงหากต่างชาติขายเงินทั้งหมดนี้กลับออกเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐเพื่อถอนกลับออกไป ปริมาณเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีกว่า 1.91 แสนล้านดอลลาร์ก็มีเพียงพอรองรับภาระเหล่านี้ได้ทั้งหมดเช่นกัน

 
 
 
"สถานการณ์คงไม่รุนแรงถึงขนาดนั้น ต่างชาติคงไม่ถึงขนาดขายเงินลงทุนทั้งหมด เพราะสถานการณ์เรื่องการลดปริมาณ QE มีมาตั้งแต่เดือน พ.ค. ที่ผ่านมาแล้ว นักลงทุนบางส่วนก็เทขายและดึงเงินกลับไป แต่ตอนนี้เห็นปริมาณเงินลงทุนบางส่วนกลับเข้ามาแล้ว รวมถึงอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐก็ยังคงไม่ปรับขึ้นทันที จึงไม่ได้ดึงดูดให้เงินกลับไปอย่างรวดเร็ว"

อย่างไรก็ตาม การลดปริมาณ QE ก็น่าจะมีผลกระทบต่อไทยเช่นกัน โดยเฉพาะค่าเงินบาทที่อาจจะมีความผันผวนเกิดขึ้นได้ตลอดช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่ากรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทน่าจะอยู่ราว 31-32 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งต้องยอมรับว่าปีนี้ค่าเงินบาทผันผวนค่อนข้างกว้างส่วนต่างมากถึง 6% ต่างจากปีที่แล้วจะผันผวนอยู่ประมาณ 4%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังได้ประเมินทิศทางเศรษฐกิจไทยไปถึงปี 2557 ว่าปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐจะมีผลบวกให้ภาคการส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ดีขึ้นตั้งแต่ต้นปี และยังมีอานิสงส์จากการลงทุนภาครัฐที่น่าจะเริ่มเกิดขึ้นในปีหน้าเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ต้องระมัดระวังก็คือ ปริมาณการบริโภคภายในประเทศที่ยังชะลอตัวอยู่ จากภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นมาก่อนหน้านี้ แม้ว่าปัจจุบันอัตราการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนเริ่มเติบโตช้าลงแล้ว ถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่ก็ยังต้องใช้เวลาให้สัดส่วนหนี้ค่อยๆ ลดลง โดยคาดการณ์จีดีพีปี 2557 ไว้ที่ 4.5%

นายเชาว์ กล่าวอีกว่า ผลจากทิศทางเศรษฐกิจต่างประเทศที่เริ่มฟื้นตัว และภาคการส่งออกของไทยที่ดีขึ้นนั้น 3 หมวดอุตสาหกรรมที่น่าจะได้รับอานิสงส์ก่อนก็คือ หมวดรถยนต์ ส่วนประกอบ และอุปกรณ์ หมวดอาหารแปรรูป ทั้งอาหารทะเลและไก่แช่แข็ง และหมวดอัญมณีและเครื่องประดับ เนื่องจากตลาดสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดหลักของอุตสาหกรรมนี้โดยตรงเริ่มฟื้นตัว
 

LastUpdate 17/09/2556 08:23:14 โดย : Admin
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 10:59 pm