เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ตอนที่ 34/2556: หากยังไม่พร้อมเป็นหนี้ก้อนโต ก็ควรหลีกเลี่ยงการก่อหนี้


 

 
ผลจากการที่เริ่มมีการรับรู้เรื่องหนี้ภาคครัวเรือน ที่เพิ่มสูงขึ้นมาในช่วงเวลาที่ผ่านมา จนทำให้สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อ หรือก็คือการเข้มงวดในเรื่องคุณสมบัติของคนที่จะมากู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายได้ที่แน่นอน ภาระหนี้เดิมที่มีอยู่ การก่อหนี้ใหม่ในช่วงเวลาก่อนที่จะมาขอกู้ในครั้งล่าสุด นิสัยใจคอของคนที่มายื่นคำขอกู้ เป็นต้น ในเวลานี้สินเชื่อบ้านดูจะเป็นประเด็นมากหน่อยเพราะบ้านคือความฝันของใครๆ ที่ทำงาน เพราะบ้านคือความมั่นคงของชีวิต ผมลองเอาบทบรรยาย บทพูดของผู้บริหารสถาบันการเงินที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ มาสะท้อนกับท่านผู้อ่านดังนี้นะครับ          

1. ผู้บริหารของธนาคารใหญ่ระบุว่า เกณฑ์การพิจารณาผู้ยื่นขอกู้สินเชื่อบ้านยังไม่เปลี่ยน คือ เงินเดือนขั้นต่ำ 15,000 บาท กู้ได้บ้านประมาณราคา 7.5 แสนบาท โดยคนกู้จะต้องมีภาระค่าผ่อนสินเชื่อบ้านประมาณ 40% ของรายได้ หรือราว 6,000 บาทต่อเดือน ธนาคารเพิ่มความเข้มงวดในการพิจารณามากขึ้น โดยเฉพาะผู้กู้ซื้อบ้านหลังที่ 3 ขึ้นไป

1.1 เกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อมี 2 เรื่องหลักคือ เรื่องอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกันตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แบ่งเป็นที่อยู่อาศัยแนวสูงพวกคอนโดมิเนียมจะให้กู้ไม่เกิน 90% ของราคาหลักประกัน สำหรับที่อยู่อาศัยแนวราบปล่อยกู้ไม่เกิน 95% ของราคาหลักประกัน

1.2 พิจารณาจากรายได้เพื่อนำไปสู่การประเมินความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ของคนกู้ ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีสัดส่วนสูง 50-60% ของรายได้ เรื่องที่ลูกค้าโดนปฏิเสธสินเชื่อก็มาจากรายได้ของผู้กู้ไม่เพียงพอ เพราะเหตุว่า 1.ผู้กู้มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ หรือ 2.ผู้กู้มีภาระหนี้มากขึ้น โดยเฉพาะจากสินเชื่อบัตรเครดิต เช่าซื้อรถยนต์ หรือมีหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่ม

 
2. นายธนาคารอีกรายระบุว่า ธนาคารไม่มีนโยบายเลี่ยงการปล่อยกู้ใหักับบางอาชีพ แต่จะดูเกณฑ์รายได้เป็นหลัก แต่ว่าอาจมีบางธนาคารที่เคยผ่อนคลายในช่วงที่มีการแข่งขันสูง พอมาปัจจุบันเริ่มมีประเด็นข้อมูลที่ทำให้กังวลเรื่องหนี้เสียมากขึ้น ก็เปลี่ยนไปเข้มงวดและระมัดระวังมากขึ้น ผลก็จะทำให้มียอดคนที่มาขอกู้ถูกปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มขึ้น

 
3. ธนาคารที่สามระบุว่า ที่มีความกังวลว่าธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ยากขึ้น ในความเป็นจริงธนาคารยังคงเกณฑ์พิจารณาคุณสมบัติของผู้กู้เหมือนเดิม แต่สิ่งสำคัญคือตัวลูกค้าที่เข้ามาขอกู้อาจมีภาระหนี้มากขึ้น ทำให้ความสามารถในการชำระเงินกู้บ้านได้น้อยลง ผลคือบ้านที่อยากได้จะต้องเล็กลง บางกรณีต้องหาคนมากู้ร่วม ท้ายสุดคือต้องหาเงินมาเพิ่มในค่าบ้านส่วนที่ขอกู้ไปแต่ได้รับอนุมัติไม่ถึงจำนวนที่อยากได้

ท้ายที่สุดคือความเข้าใจของลูกค้าธนาคารที่เตรียมกู้ซื้อบ้านว่าการเตรียมตัวเพื่อจะไปขอสินเชื่อนั้นสำคัญที่สุดในเวลานี้คือ

1.อย่าก่อหนี้เพิ่มในช่วงที่กำลังขอกู้เด็ดขาด 

2.ให้ลองคำนวณว่า หากมีบ้านแล้วจะผ่อนไหวไหม เช่น กู้ซื้อบ้านหลังละหนึ่งล้านบาท จะต้องมีรายได้ต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท จึงจะมีความสามารถในการชำระสินเชื่อบ้านต่อเดือนที่ 8,000 บาท หรือคิดเป็น 40% ของเงินเดือน (Debt service ratio) และหากอยู่ระหว่างการผ่อนดาวน์กับเจ้าของโครงการ ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือคอนโดมิเนียมที่เดือนละ 5,000 บาท ให้กันเงินในแต่ละเดือน 3,000 บาท รวมแล้วก็คือ 8,000 บาท ไปฝากไว้กับธนาคาร เสมือนว่ามีการผ่อนบ้านด้วยจำนวนเดียวกันแต่ที่ทำแบบนี้เพื่อเป็นการซ้อมเสมือนจริงว่าผ่อนไหวไหมตั้งแต่ช่วงผ่อนดาวน์ ท่านที่อยู่ระหว่างยื่นขอกู้บ้านทุกท่านครับผมอยากเรียนว่ากรณีการปฏิเสธไม่ให้สินเชื่อบ้านสำหรับคนที่มาขอกู้ของผู้กู้ธนาคารพาณิชย์ ถือเป็นดุลยพินิจแต่ละธนาคาร ที่จะเลือกปล่อยกู้ให้กับผู้มีภาระหนี้น้อย ส่วนผู้มีภาระหนี้มากคงไม่ปล่อยให้ยิ่งไปกว่านั้นหากระหว่างพิจารณาว่าจะให้หรือไม่ให้ ตัวลูกค้าดันเผลอใจไปกู้เฟอร์นิเจอร์ เครื่องไฟฟ้าแบบสุดๆขึ้นมา เรื่องที่วางแผนไว้จะเละเอาได้ตอนท้ายนะครับ

มุมของผู้บริโภคที่เวลานี้กำลังเจอกับแรงกดดันจากค่าครองชีพที่ค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้น หากยังไม่พร้อมเป็นหนี้ก้อนโต ก็ควรหลีกเลี่ยงการก่อหนี้จากสินเชื่อบุคคลที่แฝงมากับความยั่วยวนทางการตลาดนะครับ


สุรพล โอภาสเสถียร

ผู้จัดการใหญ่

บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 ก.ย. 2556 เวลา : 08:51:03
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 2:56 pm