แบงก์-นอนแบงก์
"ไปรษณีย์ไทย"แตกไลน์ "ขายประกันรายย่อย" ชูจุดเด่น "เบี้ยต่ำ-วงเงินคุ้มครองสูง เครือข่ายทั่วปท."


 

 

"ไปรษณีย์ไทย"แตกไลน์ธุรกิจ ขอไลเซ่นขายไมโครอินชัวรันซ์ ปูพรม 4 สินค้าไฮไลท์ เบี้ยต่ำ-คุ้มครองสูง ชูเครือข่าย 4,000 จุดทั่วประเทศ


 

นางสาวอานุสรา จิตต์มิตรภาพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.) เปิดเผยว่า ปณท. ได้รับอนุญาตให้เป็นนายหน้าประกันภัยซึ่งมีแผนจะนำเสนอขายแบบประกันภัย โดยเบื้องต้นจะเริ่มที่แบบประกันสำหรับรายย่อยหรือ Micro Insurance ซึ่งมีค่าเบี้ยต่ำเพียงปีละไม่เกิน 1,000 บาท แต่ให้ความคุ้มครองสูง ด้วยแบบประกันที่ขายง่าย เข้าใจง่าย ความคุ้มครองไม่ซับซ้อน


"เบื้องต้นเราจะเริ่มด้วยสินค้า 4 ประเภทก่อน คือ ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย ประกันภัยการเดินทาง และประกันภัยโรคมะเร็ง ต่อไปก็จะเพิ่มแบบประกันวินาศภัยอื่่นๆ และประกันชีวิตเข้ามาเพิ่มเติม ซึ่ง ปณท. มีจุดแข็งที่เครือข่ายซึ่งสามารถเข้าถึงตลาดในพื้นที่ที่ต่างจังหวัดและกลุ่มลูกค้ารายย่อยได้อย่างครอบคลุม ผ่านสาขากว่า 1,200 แห่งและจุดบริการอื่นๆ ในเครือข่ายของ ปณท. รวมแล้วมีจุดบริการลูกค้าต่างๆ กว่า 4,000 จุดทั่วประเทศ"


 

ทั้งนี้ บริษัทประกันภัยที่ร่วมเป็นผู้จัดเตรียมสินค้าเพื่อมาเสนอขายผ่านช่องทางของ ปณท. จะมีทั้งหมด 5 บริษัท ประกอบด้วย บมจ.ทิพยประกันภัย,บมจ.วิริยะประกันภัย,บมจ.สยามซิตี้,บมจ.ไทยซัมซุงประกันชีวิต และ บมจ.อาคเนย์ประกันชีวิต


นางสาวอานุสรา กล่าวอีกว่า ปณท. ยังได้นำแบบประกันอุบัติเหตุ Micro Insurance รูปแบบมาตรฐาน ซึ่งค่าเบี้ยเพียง 200 บาท แต่ให้ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงจากอุบัติเหตุ ในวงเงิน 1 แสนบาท แต่ถ้าเป็นอุบัติเหตุเหตุจากรถจักรยานยนต์จะลดความคุ้มครองเหลือเพียง 5 หมื่นบาท และกรณีเสียชีวิตจากเจ็บป่วยจะได้รับค่าปลงศพ 1 หมื่นบาท ซึ่งกลุ่มเป้าหมายหลักจะเป็นกลุ่มประชาชนในพื้นที่ภูมิภาคที่ส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านประกันภัย จึงตรงกับช่องทางการเข้าถึงของ ปณท. อยู่แล้ว


 

ด้าน นายทนงศักดิ์ ศรีเรืองสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทิพยประกันภัย กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าหมายยอดขายประกันภัยผ่านช่องทางของ ปณท. ไว้ว่าน่าจะมีเบี้ยส่งเข้ามาที่บริษัทได้ประมาณ ปีละ 100 ล้านบาท ซึ่งจะนำแบบประกันเข้าไปขายครบทั้ง 4 รูปแบบในเบื้องต้น และยังมีแผนจะต่อยอดไปสู่การนำแบบประกันอื่นๆ เข้าไปขายด้วย เช่น ประกันภัยรถยนต์


นอกจากนี้ นายทนงศักดิ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทยังให้ความสำคัญในการขยายงานรับประกันภัยผ่านโครงการต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ทั้งการรับประกันภัยคลังสินค้าต่างๆ ที่อยู่ในโครงการของรัฐ เช่น องค์การคลังสินค้า องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร และองค์การสวนยาง ซึ่งมีคลังสินค้าเกษตรเข้าร่วมกว่า 1,000 แห่ง คิดเป็นเบี้ยกว่า 1,000 ล้านบาท รวมถึงโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ อย่างโครงการบริหารจัดการน้ำ และโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท บริษัทก็ได้เริ่มเข้าไปเตรียมดีลกับผู้รับเหมาที่ได้รับประมูลโครงการแล้วเช่นกัน

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 20 ก.ย. 2556 เวลา : 11:49:12
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 2:52 am