แบงก์-นอนแบงก์
ธ.เกียรตินาคินชู "Prefab"ช่วย SMEอสังหาฯฝ่าวิกฤตแรงงาน


ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) จัดสัมนาในหัวข้อ Prefab ทางออกงานก่อสร้างในยุควิกฤตแรงงาน ชี้การก่อสร้างระบบพรีแฟบในกลุ่มบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย-ลดเวลาก่อสร้างได้เกือบเท่าตัว ที่สำคัญช่วยแก้ปัญหาแรงงานก่อสร้างขาดแคลนและคุมมาตรฐานและคุณภาพงานได้ดี เวลานี้เกียรตินาออกแบบโครงสร้างพรีแฟบสำหรับผู้ประกอบการนำไปต่อยอดได้ พร้อมสนับสนุนวงเงินสินเชื่อเกือบ 100% ด้านอดีตนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรแนะผู้ประกอบการปรับตัว แนะรัฐช่วยเปิดตลาดแรงงานเพิ่ม

 
นายศราวุธ จารุจินดา ประธานสายสินเชื่อธุรกิจ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคก่อสร้างก่อตัวมาระยะหนึ่ง ผลจากภาคอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาและมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่จากภาครัฐทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น และเนื่องจากธนาคารเกียรตินาคินให้ความสำคัญกับภาคอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างด้วยจึงทำความเข้าใจกับลูกค้าและร่วมกันหาทางออกเพื่อให้ลูกค้าสามารถแข่งขันได้ โดยเล็งเห็นว่า การนำระบบพรีแฟบซึ่งเป็นระบบการก่อสร้างกึ่งสำเร็จรูปเข้ามาใช้ ถือเป็นทางออกที่ดีในขณะนี้  จึงได้ตั้งโครงการ Prefabrication Project ขึ้นเพื่อทำการศึกษาและจัดทำโมเดลสนับสนุนลูกค้า เพื่อให้ลูกสามารถนำไปต่อยอดหรือเป็นทางเลือกนำไปใช้งานตามความเหมาะสมกับธุรกิจของตัวเอง รวมถึงรายละเอียดของชิ้นส่วนงานก่อสร้างพร้อมรายการ Bill of Quantity(BOQ)ของรูปแบบบ้านที่ได้รับความนิยม
นายศราวุธชี้ว่า จากการศึกษาของทีมที่ปรึกษาโครงการ สายสินเชื่อธุรกิจของธนาคารฯพบว่า ระบบพรีแฟบได้รับความสนใจจากธุรกิจก่อสร้างในไทยเป็นอย่างมากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2552-2554 การก่อสร้างด้วยระบบพรีแฟบมีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละประมาณ 50% (ในกลุ่มบ้านเดี่ยวและทาวเฮาส์) โดยมีผู้ประกอบการรายใหญ่(ซึ่งส่วนใหญ่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์)  นำระบบนี้มาใช้งาน ส่วนผู้ประกอบการSME พบในกลุ่มลูกค้าระดับกลางหลายรายได้เริ่มหันมาใช้ระบบพรีแฟบบ้างแล้ว
ทั้งนี้ข้อดีของพรีแฟบคือ ช่วยประหยัดแรงงานและวัสดุก่อสร้าง ใช้เวลาก่อสร้างน้อยที่ช่วยประหยัดค่าดอกเบี้ยเงินกู้และค่าแรงได้ ในทางกลับกันถ้าก่อสร้างช้าทำให้ส่งมอบบ้านได้ช้า เสียค่าปรับและดอกเบี้ยตามมา ขณะเดียวกันยังได้ผลงานที่มีคุณภาพสม่ำเสมอ แต่มีข้อจำกัดในระยะแรกเริ่มต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนสูงและต้องมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญมาช่วยพัฒนา การศึกษาพรีแฟบในส่วนของบ้านเดี่ยวและทาวเฮาส์ยังพบว่า บ้านเดี่ยวที่นิยมสร้างด้วยระบบพรีแฟบจะอยู่ในกลุ่มราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท ส่วนทาวเฮาส์มีการก่อสร้างในทุกระดับราคา
สำหรับการศึกษาเฉพาะแปลนบ้านยอดนิยมในหมู่บ้านจัดสรรทั่วไป ซึ่งเป็นทาวเฮาส์ 2 ชั้น หน้ากว้าง 6 เมตร ในโครงการ 200 ยูนิต ๆ ละ 1.95 ล้าน พบว่า หากก่อสร้างด้วยระบบพรีแฟจะใช้เวลาก่อสร้างเสร็จภายใน 22 เดือน ใช้แรงงานสูงสุดเพียง 45 คน ใช้ทุนหมุนเวียนมากสุดที่สุด 71.5 ล้านบาทและกำไรเฉลี่ยถึง 70 ล้านบาทต่อปี เมื่อจบโครงการจะมีกำไรประมาณ 140 ล้านบาท  เมื่อเปรียบเทียบกับการสร้างบ้านแบบปรกติและเร่งให้เสร็จภายใน 22 เดือนเหมือนกันพบว่า การเร่งงานจะมีผลตอบแทนที่ไม่แตกต่างกันมาก แต่ต้องใช้แรงงานมากสุดในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งถึง 150 คน ซึ่งมากกว่าพรีแฟบถึง 3 เท่าและใช้เงินทุนเวียนมากสุดที่ 134.5 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าเกือบ 2 เท่า
นายศราวุธชี้ว่า ในอนาคตมีแนวโน้มที่ระบบพรีแฟบจะเติบโตต่อเนื่องและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง  โดยโครงการภาครัฐที่เกี่ยวกับด้านคมนาคมจะทำให้เกิดพื้นที่ใหม่ ๆ ตามมาทำให้คอนโดมิเนียมและที่อยู่อาศัยขยายไปยังต่างจังหวัดตลอดเส้นทาง SME ที่สนใจลงทุนสามารถพิจารณาโมเดลนำเสนอของธนาคารเกียรตินาคินไปใช้งานได้ทันทีและต่อไปธนาคารจะนำระบบก่อสร้างพรีแฟบเข้าบรรจุในระบบ “Supplier Program”ด้วย ซึ่งเป็นระบบธนาคารพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยสนับสนุนลูกค้าในการว่างจ้างผู้รับเหมาในการผลิตร่วมกันของผู้ประกอบการที่มีจำนวนการผลิตไม่มากพอ โดยมีธนาคารเกียรตินาคินเป็นตัวกลางประสานระหว่างลูกค้าและผู้รับจ้างผลิตและบริการสินเชื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่จะตั้งโรงงานและผลิตชิ้นส่วนก่อสร้างระบบพรีแฟบ
“ผู้ประกอบการที่ใช้ระบบพรีแฟบส่วนใหญ่เป็นรายใหญ่มีอยู่ประมาณ 10 ราย เช่น พฤกษาทำมาประมาณ 10 ปีแล้ว ลูกค้าของธนาคารมี 10% ขึ้นไปใช้ระบบพรีแฟบ สำหรับSME ที่สนใจลงทุนทางธนาคารเกียรตินาคินมีสินเชื่อ พร้อมทีมงานสถาปนิคช่วยดูและให้คำปรึกษาซึ่งการลงทุนโรงงานขั้นต่ำอยู่ที่ 7 ล้านบาท
ปัจจุบันสินเชื่อ SME ของธนาคารราว 60% อยู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ปี 2556 นี้อนุมัติไปแล้ว 27,000 ล้านบาทจากเป้า 30,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 2,000 ล้านบาทจากยอด 28,000 ล้านบาท SMEที่ได้สินเชื่อไปแล้วเช่น  กลุ่มบริษัทบ้านกานดา, บจก.ดรีมแลนด์ พรอพเพอร์ตี้, อารียา พรอพเพอร์ตี้ จำกัด(มหาชน)และบจก. ดี-แลนด์ กรุ๊ป  แต่สินเชื่อใหม่ที่ปล่อยให้โรงงานพรีแฟบขณะนี้ยังไม่มี”
ด้านนายอิสระ บุญยัง อดีตนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรและกรรมการผู้จัดการกลุ่มบริษัทบ้านกานดาเปิดเผยถึงแนวทางช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างในสถานการณ์ปัจจุบันว่า ปัญหาขาดแคลนแรงงานมีมานานแล้ว จนในปี 2555 ที่รัฐบาลมีนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทออกมา ทางแก้เดิมใช้หลัก”Economy of Scale แต่เวลานี้ต้องใช้ “Economy of Speed สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือ ต่อไปการขาดแคลนแรงงานจะไม่ได้เป็นการขาดแคลนตามฤดูกาลอีกแล้ว แต่เป็นเรื่องของการขาดแคลนอย่าง “ถาวร” ขาดแคลนทั้งแรงงานมีฝีมือและไม่มีใครอยากมาทำ เช่น ภาคเกษตรมีรายได้ดี จึงไม่มีใครมาทำก่อสร้าง นอกจากนี้เศรษฐกิจในภูมิภาคโตขึ้น ไม่ได้มีเฉพาะในกรุงเทพฯและปริมณฑล แต่กระจายไปตามต่างจังหวัด ซึ่งเกิดโครงการอสังหาริมทรัพย์มากมาย งานนี้คนไทยจะไม่ทำอีกต่อไป จึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยดูแล
ผู้บริหารบริษัทบ้านกานดาเสนอแนะให้มีการเปิดตลาดแรงงานมากกว่านี้ เพราะขณะนี้การทำเอ็มโอยูหรือ “บันทึกความเข้าใจ” ด้านแรงงานมีเพียง 3 ประเทศเท่านั้น คือ เมียนมาร์ ลาวและกัมพูชา ซึ่งหลังเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) มีแรงงานที่เข้ามาได้เพียง 7ประเภทเท่านั้น ไม่รวมแรงงานไร้ฝีมือ โดยมองมีเพียงเมียนมาร์เท่านั้นที่มีศักยภาพที่จะมาได้ แรงงานจากอินโดนีเซียก็น่าสนใจเนื่องจากมีค่าแรงที่ถูก
นอกจากรอภาครัฐช่วยแล้ว บรรดาผู้ประกอบการเองยังจำเป็นต้องทบทวนกระบวนการบริหารจัดการทั้งหมด ใช้outsource  ใช้วัสดุที่ติดตั้งง่ายและใช้แรงงานมีฝีมือน้อยและชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูป เป็นต้น ซึ่งการก่อสร้างระบบพรีแฟบจะช่วยให้คุมเวลาและคุมค่าใช้จ่ายไม่ให้บานปลายได้ นอกจากนี้ราคาพรีแฟบพวกเสา คานที่เดิมเคยแพงกว่าถึง 80% ในปี 2547-2548 เวลานี้ราคาใกล้เคียงกันแล้วกับระบบก่อฉาบธรรมดา เวลานี้รายใหญ่ทำหมดแล้ว SME ก็ทำได้หรือจะใช้วิธีรายเล็กร่วมกันทำก็ได้
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

LastUpdate 25/09/2556 14:38:36 โดย : Admin
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 8:44 pm