เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"รัฐ-เอกชน" เชื่อน้ำท่วมปีนี้ ไม่รุนแรงเท่าปี 54


 

 

 

พอย่างเข้าเดือนต.ค.สถานการณ์น้ำท่วมก็เริ่มสร้างความหวั่นวิตกให้กับประชาชนคนไทยอีกครั้ง โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯที่ต้องเผชิญกับน้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา

ซึ่งสถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้ ล่าสุดมีจังหวัดที่ประสบภัยแล้วกว่า 27 จังหวัด ประชาชนได้รับผลกระทบ 499,270 ครัวเรือน 1,798,270 คน บ้านเรือนเสียหาย 4,069 หลัง พื้นที่การเกษตรเสียหาย 659,077 ไร่

แต่รัฐบาลและเอกชนต่างก็เชื่อว่าจะไม่มีความรุนแรงเหมือนปี 2554 ที่ผ่านมา และสามารถรับมือได้

 

 

นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บอกว่า จากที่รับฟังรายงานสถานการณ์น้ำท่วม ถ้าดูปริมาณน้ำฝนโดยรวมน้อยกว่าปี 2554 และจากการประชุมผู้ว่าราชการจังหวัด รวมถึงกทม. ได้มีการบูรณาการประสานงานร่วมกัน เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำดีขึ้น

 

 

 

 

ส่วนภาคอุตสาหกรรม นายวีระพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ยืนยืนว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และ อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ขณะนี้ยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะอยู่ห่างจากนิคมอุตสาหกรรม ประกอบกับเขื่อนกำแพงกั้นน้ำรอบเขตนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 5 แห่ง แล้วเสร็จ 100% พร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น มีเพียงนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนครเท่านั้นที่เพิ่งเริ่มก่อสร้างเขื่อนและกำแพงกันน้ำ ซึ่งขณะนี้ดำเนินการก่อสร้าง ไปแล้ว 30% 

 

 

 

ส่วน นายนิพิฐ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ นิคมอุตสาหกรรมนวนคร (NNCL) กล่าวว่า ปีนี้สถานการณ์น้ำไม่รุนแรง แต่ก็ต้องจับตาปริมาณฝน และพายุ ที่พัดผ่านเข้ามาอย่างใกล้ชิด เพราะหากมีดีเปรสชั่นหลายลูกติดต่อกัน ก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ได้อีก

สำหรับการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วมของนิคมอุตสาหกรรมนวนคร เชื่อมั่นว่า เขื่อนป้องกันน้ำรอบนิคมฯมีความแข็งแกร่ง สามารถรับน้ำท่วมในระดับที่รุนแรงกว่าปี 2554 ได้อย่างแน่นอน 

 

 

 

ขณะที่ นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจได้ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจจากผลกระทบน้ำท่วมในหลายจังหวัดไม่เกิน 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็นความเสียหายเกี่ยวกับเส้นทางโลจิสติกส์,ภาคธุรกิจ,พืชผลทางการเกษตร, ทรัพย์สินของบ้านเรือนและสถานที่ต่างๆ 5,000 ล้านบาท และความวิตกกังวลของผู้บริโภคจึงไม่กล้าใช้จ่ายทั้งการท่องเที่ยวและซื้อสินค้าทั่วไปอีก 5,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ความเสียหายทางเศรษฐกิจจากน้ำท่วมครั้งนี้ไม่น่าจะมีมูลค่าสูงมากนัก เพราะจังหวัดที่ถูกน้ำท่วมหนักไม่ใช่เป็นแหล่งที่ตั้งของสถานที่ท่องเที่ยวหรือเป็นย่านธุรกิจ แต่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ในชนบทและเป็นบ้านเรือนของประชาชนที่ได้รับความเสียหาย ไม่เหมือนกับปลายปี 54 ที่นิคมอุตสาหกรรมและย่านธุรกิจได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมจึงมีมูลค่าความเสียหายสูงมาก


LastUpdate 30/09/2556 12:29:41 โดย : Admin
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 8:59 pm