เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
SCB EIC วิเคราะห์ ส่งออกไทยเดือนส.ค. ขยายตัว 3.9% สูงสุดในรอบ 4 เดือน


 
 ส่งออกไทยเดือนส.ค. ขยายตัว 3.9% สูงสุดในรอบ 4 เดือน

 

Event
 
กระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าการส่งออกของไทยเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 20.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 3.9%YOY (เทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า) ขณะที่มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 20.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 2.1%YOY ดุลการค้าขาดดุล 94.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
 
Analysis
 
 มูลค่าการส่งออกสูงกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน และเป็นการกลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังจากหดตัว 3 เดือนติดต่อกัน โดยปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการส่งออกไปยังตลาดหลักส่วนใหญ่ที่ขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกไปจีนที่กลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ 3.1%YOY หลังจากที่หดตัวติดต่อกัน 4 เดือน นอกจากนี้ การส่งออกไปยังสหภาพยุโรปขยายตัวสูงถึง 14.1%YOY ประกอบกับการส่งออกไปอาเซียนก็ขยายตัวสูงที่ระดับ 17.3%YOY  ซึ่งสะท้อนถึงเศรษฐกิจจีนและยุโรปที่ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดีการส่งออกไปญี่ปุ่นยังคงหดตัว 6.0%YOY เนื่องจากมูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ของรถยนต์และส่วนประกอบ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ที่เป็นสินค้าส่งออกหลักไปยังญี่ปุ่นยังหดตัวสูงที่ราว 24.3%YOY และ 13.1%YOY ตามลำดับ
 
 
 
การส่งออกรถยนต์ขยายตัวสูง และการส่งออกยางพาราเริ่มปรับตัวดีขึ้น มูลค่าการส่งออกรถยนต์ในเดือนสิงหาคม ขยายตัว 15.9%YOY จากที่หดตัว 10.2%YOY ในเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ได้ปรับสายการผลิตให้เป็นการผลิตเพื่อส่งออกมากขึ้นเพื่อทดแทนตลาดรถยนต์ในประเทศที่ชะลอตัวลง โดยการส่งออกไปยังฟิลิปปินส์และซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่อันดับ 3 และ 4 ของไทย ขยายตัวสูงถึง 67%YOY และ 52.3%YOY ตามลำดับ นอกจากนี้การส่งออกยางพาราหดตัว 7.8%YOY น้อยลงจากเดือนที่แล้วที่หดตัว 20.5%YOY ซึ่งเป็นผลมาจากราคายางพาราที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้นและปริมาณการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้นจากปีที่แล้วราว 12.7%YOY ตามการส่งออกไปจีนและญี่ปุ่นที่ปรับตัวดีขึ้น
 
 
 
 การนำเข้าหดตัวเล็กน้อย การนำเข้าสินค้าทุนประเภทเครื่องจักรยังหดตัวต่อเนื่องจากเดือนที่แล้วที่ 7.3%YOY ประกอบกับการนำเข้าสินค้าในหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งหดตัวถึง 20.1%YOY เนื่องจากสินค้าทั้ง 2 หมวดนี้มีการนำเข้าค่อนข้างสูงในปีที่ผ่านมาตามการเร่งลงทุนภาคเอกชนและนโยบายรถคันแรก
 
 
 
 ดุลการค้าขาดดุล 94.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถ้าหากไม่รวมการส่งออกและนำเข้าทองคำ ดุลการค้าในเดือนสิงหาคมจะเกินดุล 170 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
 
 Implication
 
 EIC มองว่าการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปีจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น  โดยได้รับแรงสนับสนุนจากเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะตลาดส่งออกหลักที่สำคัญของไทย ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และจีน นอกจากนี้ แนวโน้มการส่งออกรถยนต์ที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อทดแทนตลาดในประเทศจะเป็นแรงส่งที่สำคัญต่อการส่งออกของไทยในระยะต่อไป
 

 


LastUpdate 26/09/2556 18:56:55 โดย : Admin
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 8:42 am