เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
กูรูเศรษฐศาสตร์เตือนรับมือเงินบาทแกว่ง จับจังหวะปลายปีอาจลด QE



 
นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสแนะจับทางค่าบาทผันผวน ตั้งป้อมบริหารความเสี่ยงรัดกุม พร้อมรับมือเฟดลด QE ปลายปี ชี้เงินบาทอ่อนค่าแต่อาจพลิกแข็งบางช่วง เคาะกรอบ 30.50-32.00 บาท/ดอลลาร์ เชื่ออานิสงส์ดันเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว
 

 

นางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ทิศทางค่าเงินบาทน่าจะแกว่งตัวอีกค่อนข้างมากในระยะข้างหน้า โดยแนวโน้มยังเป็นทิศทางอ่อนค่าลงในระยะยาว 6-12 เดือนข้างหน้า แต่บางช่วงเวลาอาจแข็งค่าขึ้นเป็นบางจังหวะในระยะสั้น ตามจังหวะการลงทุนที่อาจเข้ามาลงทุนในไทยเป็นระยะ โดยสถานการณ์ดังกล่าวจะเริ่มเห็นต่อเนื่อง และชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตัดสินใจประกาศลดปริมาณของวงเงินอัดฉีดสภาพคล่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ QE
 
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ต้องติดตามในระยะสั้นก่อนถึงสิ้นปีนี้ นางสาวอุสรากล่าวว่า ในเดือน ต.ค. นี้ สภาคองเกรสของสหรัฐจะต้องตัดสินใจดำเนินนโยบายทางการคลังที่สำคัญ 2 เรื่อง คือ การขยายระยะเวลาระดมเงินกู้เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่อง และการขยายเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐ ซึ่งเชื่อว่าทั้งสองมาตรการน่าจะผ่านไปได้ และส่งผลให้แรงกดดันต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐคลายตัวลง จึงเป็นเหตุผลที่มากพอให้เฟดสามารถลดระดับ QE ลงได้ภายในปลายปีนี้
 

 

“ตอนนี้ยังเหลือการประชุม FOMC อีก 3 ครั้งก่อนที่นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟด จะครบวาระในปลายเดือน ม.ค. ปีหน้า ฉะนั้นจึงมีโอกาสอีก 3 ครั้งที่เฟดอาจจะประกาศลดระดับวงเงิน QE ก็เหมือนกับมีจังหวะที่จะกดระเบิดได้ 3 ครั้ง ทันทีที่เฟดประกาศลดระดับ QE ก็น่าจะเกิดผลกระทบให้มีกระแสเงินลงทุนไหลกลับไปยังสหรัฐ ซึ่งกระทบต่อตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก รวมถึงค่าเงินบาทที่จะอ่อนค่าลงด้วย”
 
ผลจากความผันผวนตรงนี้ นางสาวอุสรากล่าวว่า ส่วนหนึ่งอาจจะมีผลดีต่อภาคเศรษฐกิจไทยที่จะมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงต่อฝั่งนำเข้าที่ไทยยังต้องนำเข้าวัตถุดิบและพลังงานอยู่ รวมถึงบางธุรกิจที่กู้เงินจากต่างประเทศ ก็ต้องระมัดระวังเรื่องการบริหารความเสี่ยงจากค่าเงินให้ดี โดยประเมินกรอบค่าเงินบาทจะอยู่ระหว่าง 30.50-32.00 บาท/ดอลลาร์
 

 

นางสาวอุสรากล่าวอีกว่า ผลจากเหตุการณ์ดังกล่าวอาจจะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยบ้าง โดยประเมินว่าภาคการส่งออกน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวมากขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3 และจะดีขึ้นอย่างชัดเจนในไตรมาส 4 เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐ ญี่ปุ่น และจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น และน่าจะทำให้ภาพรวมของปีนี้ เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้เกือบ 4% ในระหว่างนี้ปัจจัยเสริมที่สำคัญก็คือภาคการท่องเที่ยวที่จะเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นในไตรมาส 4 และต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 1 ปีหน้าด้วย
 
“เชื่อว่าผลที่เกิดขึ้นเมื่อเฟดประกาศลด QE จะทำให้นักลงทุนเทขายหลักทรัพย์และทยอยถอนเงินกลับออกไป ซึ่งเป็นภาพที่จะขึ้นทั่วทั้งภูมิภาค ไม่ใช่แค่เฉพาะตลาดทุนไทยเท่านั้น แต่เชื่อว่าในระยะถัดไปจะยังเห็นปริมาณเงินลงทุนที่จะกลับเข้ามาลงทุนในไทยอีกครั้ง เพราะปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจของเรายังค่อนข้างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะเทียบกับหลายๆ ประเทศรอบข้าง แต่การกลับเข้ามาใหม่นี้ปริมาณเงินคงไม่มากเท่าเดิม และคงมาในรอบการลงทุนสั้นๆ รวมถึงนักลงทุนเองจะระมัดระวังและคัดเลือกหลักทรัพย์มากขึ้นกว่าเดิม ฉะนั้น อยู่ที่เราะจะพร้อมให้เขาเลือกกลับเข้ามาลงทุนแค่ไหน” นางสาวอุสรากล่าว

 


LastUpdate 30/09/2556 15:31:35 โดย : Admin
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 9:10 am