เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
กสิกรไทยคาดส่งออกไทยไปจีนปี 56 อาจเข้าสู่แดนลบ หดตัว 1%


 

บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ ส่งออกไปจีนปี 2556 อาจเข้าสู่แดนลบหดตัวราว 1%...โครงสร้างการค้าเริ่มเปลี่ยน จับตา SHFTZ กระชับการค้าไทย-จีน


ประเด็นสำคัญ


•    การส่งออกของไทยไปจีนในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2556 ยังคงหดตัวร้อยละ 2.9 (YoY)  แม้ว่าในเดือนสิงหาคมจะพลิกกลับมาเป็นบวกที่ร้อยละ 3.1 (YoY) เป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน แต่ด้วยหลายปัจจัยที่เป็นแรงฉุดสำคัญตั้งแต่ต้นปี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงปรับประมาณการส่งออกของไทยไปจีนในปี 2556 อาจก้าวสู่แดนลบหดตัวที่ร้อยละ 1.0 โดยมีกรอบประมาณการอยู่ที่หดตัวร้อยละ 2.5 ถึงขยายตัวที่ร้อยละ 0.5 (จากประมาณการเดิมคาดไว้กรณีพื้นฐานขยายตัวร้อยละ 0.7 โดยมีกรอบประมาณการอยู่ที่หดตัวร้อยละ 4.3 ถึงขยายตัวร้อยละ 2.3)


•    โครงสร้างการส่งออกสินค้าไทยไปจีนลดการพึ่งพาสินค้าคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ โดยกระจายตัวไปสู่สินค้าเกษตรกรรมรองรับการบริโภคและสินค้ากลุ่มอื่นที่รองรับการเติบโตของความเป็นเมือง อาทิ ไม้/ผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก
•    เกาะติด “เซี่ยงไฮ้เขตการค้าเสรีนำร่อง หรือ SHFTZ” อานิสงส์ผู้ประกอบการไทยใช้ช่องทางดังกล่าวรุกสู่ตลาดจีน จากที่เซี่ยงไฮ้เป็นประตูเชื่อมการค้าระหว่างไทยกับจีนที่สำคัญอยู่แล้ว ด้วยสัดส่วนการค้ารวมสูงถึงร้อยละ 22 ของการค้ารวมระหว่างไทยกับจีน  


บรรยากาศการค้าระหว่างไทยกับจีนยังค่อนข้างเปราะบาง แม้ว่าการส่งออกจะกลับมาขยายตัวในเดือนสิงหาคม 2556 มีมูลค่าส่งออก 2,405 ล้านดอลลาร์ฯ สอดรับกับแรงกระเตื้องขึ้นของเศรษฐกิจจีน ที่มีปัจจัยหนุนจากภาคการส่งออกของจีนไปยังตลาดโลกช่วยดึงการผลิตในประเทศส่งอานิสงส์ต่อสินค้าขั้นกลางไทยเข้าไปรองรับการผลิต อาทิ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง รวมทั้งการเริ่มเติบโตของความเป็นเมืองทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์ไม้เพื่อการสร้างที่อยู่อาศัยและเครื่องแต่งบ้านเติบโตอย่างมาก แต่ในภาพรวมในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2556 การส่งออกยังคงหดตัวร้อยละ 2.9 (YoY) มีมูลค่า 17,434.7 ล้านดอลลาร์ฯ จากหลายปัจจัยฉุดรั้งตามโครงสร้างการส่งออกไทยไปจีนที่เริ่มผันเปลี่ยนไป


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนผนวกกับการเร่งสะสมสต็อกในช่วงเทศกาลปลายปีอาจช่วยผลักดันการส่งออกไทยไปจีนในช่วงที่เหลือของปี 2556 ปรับตัวดีขึ้น แต่ผลจากการปรับลดลงของราคายางพาราและการโยกย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนในกลุ่มสินค้าคอมพิวเตอร์ยังคงเป็นแรงฉุดสำคัญในปีนี้ คาดว่า การส่งออกของไทยไปจีนตลอดปี 2556 อาจปรับตัวลดลงเหลือมูลค่าส่งออกราว 26,600 ล้านดอลลาร์ฯ มีกรอบประมาณการอยู่ที่ระหว่าง 26,200 – 27,000 ล้านดอลลาร์ฯ


โครงสร้างส่งออกของไทยไปจีนเริ่มเปลี่ยน ... สัดส่วนคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบลดลง
    
แรงฉุดภาพการส่งออกไทยไปจีนในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2556 ที่สำคัญยังคงมาจากสินค้าคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบที่หดตัวถึงร้อยละ 41.9 (YoY) เนื่องจากการโยกย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการทั้งในไทยและในจีนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน รวมกับผลของการจำกัดโควต้านำเข้าน้ำตาลทรายของทางการจีน และราคาสินค้ายางพาราปรับตัวลดลง ซึ่งสาเหตุดังกล่าวอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่จะมีผลฉุดการส่งออกของไทยไปจีนต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้


เมื่อพิจารณาการส่งออกของไทยไปยังจีนโดยไม่นับรวมสินค้าคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ จะพบว่าในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ยังคงขยายตัวร้อยละ 5.7 (YoY) ย้ำภาพโครงสร้างการส่งออกสินค้าของไทยไปจีนลดการพึ่งพาสินค้าคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบลง


การส่งออกคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบที่เคยเป็นสินค้าส่งออกไปจีนเป็นอันดับ 1 มีสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 23.5 ในปี 2553 ได้ลดลงมาเป็นอันดับ 3 ด้วยสัดส่วนเพียงร้อยละ 10.9 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปยังจีน นับเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังในระยะข้างหน้าว่าไทยอาจสูญเสียส่วนแบ่งตลาดสินค้าในกลุ่มคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบในตลาดจีนมากขึ้น โดยบางรายการเริ่มมีสัญญาณการแข่งขันมากขึ้น อาทิ เครื่องประมวลผล/คอมพิวเตอร์พกพา/แท็บเล็ต ที่ไทยครองบทบาทเป็นแหล่งนำเข้าอันดับต้นๆ ของจีนด้วยส่วนแบ่งตลาดถึงร้อยละ 22 ของการนำเข้าในกลุ่มดังกล่าว กำลังเผชิญคู่แข่งอย่างเวียดนามเร่งตัวขึ้นมารวดเร็ว โดยล่าสุดขยายตัวขึ้นมาถึง 2.3 เท่าตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าจะมีส่วนแบ่งตลาดยังน้อยมากราวร้อยละ 1 ในตลาดจีน นอกจากนี้ยังมีคู่แข่งอื่นๆที่เร่งรุกตลาดจีนด้วย อาทิ เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ เป็นต้น


จะเห็นได้ว่า การโยกย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนและภาวะการแข่งขันในตลาดจีนที่เริ่มส่อเค้าทำให้ในขณะนี้จีนกลายเป็นตลาดส่งออกคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบอันดับ 3 ของไทย (รองจากสหรัฐฯ และฮ่องกง ตามลำดับ) จากอดีตที่เคยเป็นแชมป์ตลาดส่งออกคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบของไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา


อย่างไรก็ดี สัดส่วนการพึ่งพาสินค้าคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบที่ปรับลดลงบางส่วนได้กระจายตัวไปเป็นสินค้ากลุ่มรองรับภาคการผลิตอื่นๆ ตามโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตของจีนที่เปลี่ยนไปและเศรษฐกิจจีนที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น อาทิ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง รวมถึงสัญญาณการขยายความเป็นเมืองตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจผลักดันความต้องการในกลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์เพื่อการก่อสร้างและทำเฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เติบโตไปพร้อมกัน


สินค้าเกษตรกรรมของไทย ... ค่อยๆ ขยับบทบาทไปสู่ตลาดจีนมากขึ้น

สินค้าส่งออกของไทยที่ไปยังตลาดจีนเริ่มกระจายตัวไปในกลุ่มสินค้าเกษตรที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตมากขึ้น โดยขยับสัดส่วนมาเป็นกว่าร้อยละ 23 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปยังจีนในปัจจุบัน จากร้อยละ 20 ในปี 2553 โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และผลไม้เมืองร้อน ได้กลายมาเป็นหนึ่งในแรงผลักดันการส่งออกที่สำคัญไม่เพียงการส่งออกไปจีนเท่านั้น แต่ยังเป็นแรงดึงการส่งออกในภาพรวมของไทยด้วยเช่นกัน
    

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สัญญาณการเปลี่ยนแปลงตามแนวทางปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของทางการจีนเริ่มตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 12 ของจีน (ปี 2554-2558) ทวีความชัดเจนขึ้นในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นการโยกย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนในจีนจากแรงกดดันด้านค่าจ้างแรงงาน การกระจายความเป็นเมืองครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ในจีนสร้างอานิสงส์ให้สินค้าไทยหลายรายการเริ่มเข้าสู่ตลาดจีนรองรับการเติบโตดังกล่าว โดยในระยะข้างหน้าอาจเห็นการส่งออกของไทยไปยังตลาดจีนมีหลากหลายกลุ่มสินค้ามากขึ้น ไม่เพียงมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเท่านั้นแต่ยังมีบทบาทต่อสัดส่วนการค้าในภาพรวมการส่งออกของไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งการกระจายโครงสร้างกลุ่มสินค้ายังช่วยลดการกระจุกตัวพึ่งพาสินค้าบางกลุ่มและเสริมศักยภาพการส่งออกสินค้าจากไทยไปยังตลาดจีนต่อไปในระยะยาวได้

เขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้ SHFTZ ... ขยายโอกาสธุรกิจของไทยรุกตลาดจีน

“เซี่ยงไฮ้”  เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญที่จีนใช้เปิดตลาดสู่สากล มีความสะดวกในการประกอบธุรกิจมากกว่าพื้นที่อื่นในจีน เป็นทั้งศูนย์กลางการเงินของจีนแผ่นดินใหญ่ คับคั่งด้วยการลงทุนจากต่างชาติ (FDI) ร้อยละ 13.6 ของ FDI ในจีน และเป็นทั้งเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างจีนกับตลาดโลก โดยเฉพาะด่านศุลกากรเซี่ยงไฮ้มีปริมาณการค้ากับต่างประเทศสูงที่สุดของจีนด้วยสัดส่วนการค้ารวมกว่าร้อยละ 17 ของมูลค่าการค้ารวมของจีน (ตามมาด้วยด่านศุลกากรที่เมืองเซิ่นเจิ้น มณฑลกว่างตง)  

ด้วยองค์ประกอบที่ครบครันในการเป็นศูนย์กลางธุรกิจของจีน ระบบโลจิสติกส์เชื่อมโยงต่างประเทศด้วยแม่น้ำแยงซีเกียงสู่พื้นที่ใจกลางประเทศ ระบบขนส่งทางบกและอากาศของเซี่ยงไฮ้ที่เชื่อมโยงกับแต่ละมณฑล ทำให้ “เซี่ยงไฮ้” เป็นพื้นที่การค้าและศูนย์กระจายสินค้าระหว่างไทยกับจีนตอนกลางและตอนบนที่ครองส่วนแบ่งถึงร้อยละ 22 ของมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับจีน เป็นรองเพียงมณฑลกว่างตง (หรือกวางตุ้ง) ที่ช่วยกระจายสินค้าไทยสู่พื้นที่ตอนล่างของจีน ซึ่งเป็นมณฑลคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย

การเปิดเขตการค้าเสรีนำร่องแห่งแรกของจีนที่ “เซี่ยงไฮ้” (Shanghai Free Trade Zone: SHFTZ) เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2556 จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เอื้อประโยชน์จูงใจต่างชาติก้าวสู่แผ่นดินจีน พื้นที่เปิดเสรีครอบคลุมเนื้อที่ 28.8 ตารางกิโลเมตร บริเวณเขตสินค้าทัณฑ์บนในท่าเรือไวเกาเฉียว (Waigaoqiao) สวนโลจิสติกส์ไวเกาเฉียว ท่าอากาศยานนานาชาติผู่ตง และท่าเรือน้ำลึกหยางซาน ซึ่งในปัจจุบันการประกอบธุรกิจในเซี่ยงไฮ้ค่อนข้างสะดวกราบรื่นกว่าพื้นที่อื่นๆ ในจีนอยู่แล้ว แต่นับจากวันที่ 1 ตุลาคม 2556 เป็นต้นไป ที่หลายมาตรการเริ่มมีผลบังคับใช้ จะยิ่งเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจไทยอาศัยเซี่ยงไฮ้เป็นทางผ่านสินค้าและแหล่งลงทุนใช้ประโยชน์จากพื้นที่ดังกล่าวรุกเข้าสู่ตลาดจีนได้มากขึ้น ผ่านนโยบายการเปิดเสรีในด้านการค้า การลงทุน ภาคการเงิน และโดยเฉพาะแนวทางการลดบทบาทภาครัฐบาล จะยิ่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีความคล่องตัว มีความสามารถทางการแข่งขันในเชิงธุรกิจ โดยจะมีการทยอยเปิดเผยรายละเอียดการเปิดเสรีเป็นลำดับไปในช่วงที่เหลือของปี 2556 นี้






LastUpdate 02/10/2556 20:06:30 โดย : Admin
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 4:57 pm