แบงก์-นอนแบงก์
"ออมสิน"คลอดมาตรการช่วยลูกค้าน้ำท่วม "พักหนี้ 6 เดือน" พร้อมปล่อยกู้ฉุกเฉินลูกค้าเดิมทุกประเภท ดบ.พิเศษ ผ่อนยาว 5 ปี


 

"ธนาคารออมสิน"คลอดมาตราการช่วยลูกค้าน้ำท่วมทั่วประเทศ พักชำระหนี้ 6 เดือน ปรับลดเงินงวด หรือ ขยายระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 1 ปี พร้อมเปิดลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ-SMEs ให้กู้สูงสุด 500,000 บาท ดบ. MLR – 2% ผ่อนยาว 5 ปี ส่วนลูกค้าสินเชื่อธุรกิจห้องแถวให้กู้ในวงเงิน 100,000 บาท ดบ. MLR – 2% ผ่อน 5 ปี และลูกค้าสินเชื่อเคหะ-ปชช.ทั่วไป  ยื่นกู้ฉุกเฉินหรือซ่อมบ้าน วงเงินสูงสุด 300,000 บาท ผ่อน 5 ปี ดบ.คงที่ 4.5% พร้อมผ่อนปรนเงื่อนไขลูกค้าเดิมสินเชื่อบุคคลและสินเชื่อเพื่อพัฒนากลุ่มอาชีพ กู้ฉุกเฉินในวงเงิน 50,000 บาท โดยไม่ต้องใช้หลักประกัน!

 

 

นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า เหตุอุทกภัยหลายพื้นที่  ของประเทศไทยในขณะนี้ ได้สร้างความเสียหายและส่งผลกระทบต่อลูกค้าและประชาชนทั่วไป ธนาคารออมสินจึงมีมาตรการบรรเทาความเดือดร้อน โดยได้ดำเนินการสำรวจความเสียหายของลูกค้า พร้อมกับออกเยี่ยมเยียนประชาชนและลูกค้าในพื้นที่ อาทิ จ.ปราจีนบุรี, สุรินทร์, ศรีสะเกษ, อุบลราชธานี, พิษณุโลก, ชัยภูมิ, พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น พร้อมนำถุงยังชีพ ประกอบด้วยข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่ม ของใช้จำเป็น และเวชภัณฑ์ ไปแจกจ่ายแล้วจำนวนกว่า 10,000 ชุด พร้อมกับมาตรการบรรเทาภาระลูกค้าสินเชื่อของธนาคารออมสินเป็นกรณีเร่งด่วน ด้วยการให้พักชำระหนี้เงินต้น 6 เดือน หรือพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับลดเงินงวด และ/หรือขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ออกไปอีกได้สูงสุดไม่เกิน 1 ปี ซึ่งสามารถยื่นความจำนงได้ที่ธนาคารออมสินทุกสาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2556

“ผู้ประสบภัยกลุ่มนี้ถือว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะไม่สามารถดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพหารายได้ได้ตามปกติ ทั้งยังไม่รวมความเสียหายที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายตามมาอีก ธนาคารออมสิน   จึงพร้อมอย่างยิ่งที่จะเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยทุกคน”ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าว

ทั้งนี้ ธนาคารออมสินยังมีมาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือเพิ่มเติมกรณีฉุกเฉิน สำหรับลูกค้าเดิมในทุกประเภทสินเชื่อ โดย สินเชื่อธุรกิจ และ SMEs ธนาคารฯ ให้กู้ในจำนวนที่เมื่อรวมกับภาระหนี้เดิมแล้วต้องไม่เกินจำนวนเงินกู้ตามสัญญาเดิม แต่สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MLR - 2.00 ต่อปี ชำระเงินกู้ไม่เกิน 5 ปี ส่วนลูกค้าเดิม สินเชื่อธุรกิจห้องแถว สามารถกู้ได้รายละไม่เกินร้อยละ 20 ของจำนวนเงินกู้ตามสัญญาเดิม  แต่ไม่เกิน 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MLR – ร้อยละ 2.00 ต่อปี (ปัจจุบัน MLR อยู่ที่ร้อยละ 7.00) ชำระเงินกู้ไม่เกิน 5 ปี

ขณะที่ ลูกค้าเดิมสินเชื่อเคหะ ธนาคารฯ ให้กู้กรณีฉุกเฉินรายละไม่เกินร้อยละ 10 ของจำนวนเงินกู้ตามสัญญาเดิม แต่ไม่เกิน 300,000 บาท ผ่อนชำระภายใน 5 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 4.50 ต่อปี ตลอดระยะเวลาผ่อนชำระ 5 ปี โดยไม่ต้องประเมินหลักทรัพย์ และสำหรับลูกค้าเดิมและประชาชนทั่วไป ให้กู้เพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยได้รายละไม่เกิน 300,000 บาท ผ่อนชำระภายใน 5 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.50 ต่อปี ตลอดระยะเวลา 5 ปี

สำหรับ ลูกค้าเดิม สินเชื่อโครงการธนาคารประชาชน สินเชื่อโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สิน  ภาคประชาชน (หนี้นอกระบบ) และสินเชื่อองค์กรชุมชน รวมถึงประชาชนทั่วไป สามารถใช้บริการเงินกู้ สินเชื่อโครงการธนาคารประชาชน (ช่วยภัยน้ำท่วม) วงเงินกู้รายละไม่เกิน 30,000 บาท ระยะเวลาชำระเงินกู้ไม่เกิน 2 ปี อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี หรือ MRR ต่อปี (ปัจจุบัน MRR = 7.625) โดยที่ลูกค้าเดิมที่มีประวัติการออมเงินดี หรือชำระหนี้ดี ไม่ต้องใช้หลักประกันในการกู้เงินฉุกเฉินนี้

นอกจากนี้ ลูกค้าสินเชื่อบุคคล และ สินเชื่อเพื่อพัฒนากลุ่มอาชีพ ธนาคารฯ ให้กู้กรณีฉุกเฉิน  รายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี ชำระเงินกู้ไม่เกิน 5 ปี พร้อมผ่อนปรนเงื่อนไขสำคัญคือ ไม่ต้องใช้บุคคลค้ำประกันหรือหลักทรัพย์ค้ำประกัน ส่วน ลูกค้าโครงการบ้านเอื้ออาทร (เฉพาะรายที่ยังไม่มีการจดจำนองซึ่งอยู่ระหว่างการค้ำประกันโดยการเคหะแห่งชาติ) ธนาคารฯ มีมาตรการช่วยเหลือ 3 ทางเลือก คือ   1.พักชำระเงินต้น สูงสุดได้ไม่เกิน 6 เดือน (จ่ายชำระแต่ดอกเบี้ย) หรือ 2.พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยไม่เกิน 3 เดือน หรือ 3.ปรับลดเงินงวด และ/หรือขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ไม่เกิน 1 ปี แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับสถานะของลูกค้าก่อนเข้ามาตรการ
  

“ลูกค้าและประชาชนทั่วไปสามารถติดต่อใช้บริการได้ที่ ธนาคารออมสิน ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ สามารถดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.gsb.or.th หรือ โทรศัพท์สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วน ธนาคารออมสิน โทร.1115” นายวรวิทย์กล่าว.

 



LastUpdate 06/10/2556 05:41:48 โดย : Admin
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 1:15 pm