แบงก์-นอนแบงก์
บสย.- กรุงไทยเปิดโครงการ"ค้ำประกันสินเชื่อ SME เพื่อรับงานภาครัฐ"


 บสย. - กรุงไทย  ผนึกกำลัง เสริมความแกร่งการเงิน กลุ่มผู้ประกอบการรับงานภาครัฐ  เปิดโครงการความร่วมมือ   "ค้ำประกันสินเชื่อ SME เพื่อรับงานภาครัฐ" กรุงไทย ปล่อยกู้  บสย.ค้ำประกัน  สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่องทางการเงิน ชี้ช่วยผู้ประกอบการทำงานได้จนจบโครงการ ลดโอกาสทิ้งงาน สร้างเม็ดเงิน กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ

 นายประสิทธิ์ วสุภัทร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจขนาดกลาง ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลมีแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ กอปรกับการที่ธนาคารกรุงไทยเป็นธนาคารที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องงานรัฐ โดยเฉพาะในการดูแลสินเชื่อของผู้ประกอบการที่รับงานจากภาครัฐ พร้อมสนองนโยบายภาครัฐ ธนาคารกรุงไทยจึงเล็งเห็นโอกาสที่จะเข้าไปสนับสนุนสินเชื่อครบวงจรให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ ภายใต้โครงการ 2 โครงการ ได้แก่ หนังสือค้ำประกันทันใจ ซึ่งสามารถอนุมัติภายใน   1 วัน และเมื่อประมูลงานได้ ธนาคารพร้อมสนับสนุนสินเชื่อทุนหมุนเวียนในรูป Pre Finance สูงสุด 30% ของมูลค่าโครงการ และพร้อมรับซื้องวดงาน (Post Finance) สูงสุด 90% ของมูลค่าสุทธิในแต่ละงวดงาน โดยในครั้งนี้กรุงไทยได้รับความร่วมมือจาก บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) ในการค้ำประกันวงเงินสินเชื่อ Pre Finance ซึ่งเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย SME อย่างแท้จริง  
"โครงการนี้มุ่งสนับสนุนผู้ประกอบการSME ที่รับงานภาครัฐ(ครอบคลุมรัฐ-รัฐวิสาหกิจ รับเหมา จัดซื้อจัดจ้าง งานภาครัฐทุกประเภท)ให้ได้รับสินเชื่ออย่างทั่วถึง ถือเป็นการตอบโจทย์ลูกค้าจริง ๆ  โดยออกหนังสือค้ำประกันให้ได้เร็วที่สุดเพื่อไปประมูลงานและสนับสนุนสินเชื่อทุนหมุนเวียนให้ 30% เพื่อใช้ทำงาน ซึ่งที่ผ่านมาทำมาหลายโครงการประสบความสำเร็จ  เราต้องการจะสร้างผู้ประกอบการ SME ให้แข็งแกร่งเหมือนรายใหญ่"
 
 
ทั้งนี้ภายใต้โครงการนี้ บสย.จะทำหน้าที่ "ค้ำประกัน" สินเชื่อที่จะนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนก่อนเริ่มทำงาน (Pre Finance) โดยบสย.ค้ำประกัน ในสัดส่วน 70% ของสินเชื่อที่กรุงไทยให้ Pre Finance30%  โดยค้ำประกันในวงเงินสูงสุด 40 ล้านบาทต่อราย สูงสุดไม่เกิน 7 ปีและมีค่าธรรมเนียม 1.75% ต่อปีของวงเงินค้ำประกัน ซึ่งคุณสมบัติของผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมโครงการได้ต้องเป็นผู้ประกอบการบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลที่มีสัญชาติไทย เป็นลูกหนี้ปรกติตามเกณฑ์ ธปท. และมีสินทรัพย์ถาวรไม่รวมที่ดินไม่เกิน 200 ล้านบาท
ด้านนายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจ บสย. เปิดเผยว่า      เงินส่วน 30% นี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการทำงานได้ จ้างแรงงาน มีเงินหมุนเวียน จนปิดโครงการได้ ซึ่งการนำกลไกนี้มาใช้ จะช่วยลดเปอร์เซนต์การทิ้งงานของผู้ประกอบการ ก่อให้เกิดผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม เกิดการกระตุ้นงานภาครัฐ และสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้บสย.จะใช้วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ กลุ่มผู้ประกอบการเพื่องานภาครัฐ ผ่านโครงการ PGS 5 ที่รัฐบาลอนุมัติไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา มูลค่า 2.4 แสนล้านบาท ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม ปี 2558    
สำหรับยอดค้ำประกันกลุ่มผู้ประกอบการงานภาครัฐ ตั้งแต่ก่อตั้ง บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) ในปี พ.ศ. 2534 เป็นต้นมา บสย. มียอดค้ำประกัน กลุ่มผู้ประกอบงานภาครัฐ รวม 1,297 ราย วงเงินค้ำประกัน 6,559.81 ล้านบาท   แบ่งเป็น 1.กลุ่มกิจการรับเหมาก่อสร้างงานภาครัฐ อนุมัติรวม 1,183 ราย วงเงิน 5,843.25 ล้านบาท และ 2. กลุ่มกิจการรับเหมาก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัย ของภาครัฐ จำนวน 114 ราย วงเงินอนุมัติ 716.56 ล้านบาท 
นายวิเชษฐ ยังกล่าวด้วยว่า " จากการหารือกับทางธ.กรุงไทยพบว่า กรุงไทยยินดีปล่อยสินเชื่อโดยไม่มีวงเงินจำกัด ซึ่ง นโยบายการลงทุนภาครัฐแต่ละปีมีมูลค่าประมาณ 4 แสนล้านบาท  จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ประกอบการ SME จะได้งานของราชการที่ความเสี่ยงต่ำ ธนาคารสนับสนุนเงินทุนให้ได้ทำงาน และงบประมาณในโครงการ PGS 5 ยังมีอยู่อีกมาก"   
 
นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบสย.เปิดเผยว่า โครงการร่วมมือกับกรุงไทยนี้จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องสภาพคล่องได้และที่ผ่านมาการใช้แนวทางนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ โดยหลังจากวิกฤตการเงินในปี 2551 สถาบันการเงินกังวลในการปล่อยสินเชื่อมาก แต่เมื่อนำแนวทางนี้มาใช้ผลปรากฏว่า ในปี 2552 ทำให้มีการปล่อยสินเชื่อโตขึ้นมากกว่า 10 เท่า ผลจากทำให้ธนาคารมีความเชื่อมั่นมากขึ้นและปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบ
สำหรับการค้ำประกันสำหรับผู้ประกอบการใหม่(Start up)ก็มีเช่นกัน บสย.มีวงเงินค้ำประกันรวม 10,000 ล้านบาท รวมทุกสถาบัน โดยค้ำประกันวงเงินสูงสุด  2 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน ปิดรับคำขอในวันที่  31 ธันวาคม 2558 หรือจนกว่าวงเงินหมด
 
 
นายศุภกิจ บุญเลี้ยง ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์SME ของธนาคารกรุงไทยเปิดเผยว่า ธนาคารมีเป้าหมายปล่อยสินเชื่อ SME โดยรวมสำหรับปีนี้มีมูลค่า  56,000 ล้านบาท ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมายอดสินเชื่อที่ปล่อยไปแล้ว 75,000 ล้านบาท ให้แก่ SME ประมาณ  20,000 ราย โดยมีหนี้เสียน้อยมาก ถือเป็นนโยบายของทางธนาคารที่จะไม่ให้มีหนี้เสียเกิดขึ้นเลย
 
 
 

 


LastUpdate 13/10/2556 10:22:45 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 5:11 am