การตลาด
"ซีพีเอฟ" ปูแผน 5 ปี ลุยธุรกิจรอบทิศ หวังดันยอดขาย 7 แสนล้าน




 

 

หลังจากเจอกระแสข่าวไข้หวัดนกออกมารบกวน ผู้ผลิตเนื้อไก่ และไข่ไก่รายใหญ่อย่างบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) หรือซีพีเอฟ เลยต้องออกมาชี้แจงผ่านสื่อในรูปแบบต่างๆ ว่าเนื้อไก่ทั้งที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกปลอดภัยสามารถบริโภคได้ เพราะเลี้ยงมาจากฟาร์มมาตรฐานด้วยระบบ “คอมพาร์ทเม้นท์” ซึ่งเป็นระบบที่ได้รับการรับรองจากองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) และโรงงานแปรรูปอาหารที่ได้มาตรฐานระดับโลก 
 
        
นอกจากนี้ ยังออกมาโชว์ตัวเลขการส่งออกเนื้อไก่ไปยังตลาดต่างประเทศว่าปีนี้ได้ผลการตอบรับที่ดีจากลูกค้าต่างแดน ส่งผลให้ธุรกิจไก่ปีนี้มีอัตราการเติบโตมากกว่าปีที่ผ่านมาเนื่องจากปีนี้ประเทศไทยสามารถส่งออกเนื้อไก่สดไปยังตลาดภูมิภาคยุโรป(อียู)ได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้คาดการณ์ว่าช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้น่าจะดีขึ้นทั้งราคาและปริมาณการส่งออก
จากแนวโน้มที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ซีพีเอฟ คาดว่าภาพรวมของการทำธุรกิจไก่ปีนี้น่าจะมีอัตราการโตประมาณ 15-20%   ขณะที่ภาพรวมการส่งออกคาดว่าจะมีอัตราการโตที่ประมาณ 10-15%  ซึ่งหากมองในด้านของรายได้ที่มาจากธุรกิจไก่สดและไก่แปรรูป ซีพีเอฟ คาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 14,000 ล้านบาท   มียอดขายจากการส่งออกอยู่ที่ประมาณ 100,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มียอดส่งออกอยู่ที่ประมาณ 80,000 ตัน   แบ่งเป็นไก่แปรรูป 80,000 ตัน และไก่สด 20,000 ตัน
 
นายธีรศักดิ์ อุรุนานนท์ รองประธานคณะผู้บริหาร บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทจะติดตามการส่งผ่านข้อมูลผ่านสื่อสังคมออนไลน์อย่างใกล้ชิด เพราะที่ผ่านมามีการส่งผ่านข้อมูลไข้หวัดนกระบาดผ่านสื่อดังกล่าว ทำให้เกิดความเสียหายโดยเฉพาะการส่งออกภาพรวมของประเทศ   อย่างไรก็ตามบริษัทขอยืนยันว่าข่าวลือหรือข้อมูลเกี่ยวกับไข้หวัดนกในประเทศไทยไม่ว่ากรณีใดๆ ไม่เป็นความจริง
หลังจากเคลียร์ปัญหาเรื่องข่าวลือไข้หวัดนกผ่านพ้นไปด้วยดี ล่าสุดซีพีเอฟขอออกมาเปิดเกมรุกธุรกิจอาหารในกลุ่มของปลา ซึ่งปลาที่ ซีพีเอฟ ปลุกปั้นจนประสบความสำเร็จออกมาเป็นธุรกิจปลานั่นก็คือ ปลาแพนกาเซียสดอรี่   ภายหลังจากผลิตออกทดลองทำตลาดในกลุ่มผู้บริโภคคนไทยจนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ล่าสุด ซีพีเอฟ ประกาศเปิดแผนเตรียมส่งปลาแพนกาเซียสดอรี่   ลุยตลาดต่างประเทศ
 
นายพิสิฐ โอมพรนุวัฒน์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ สายธุรกิจการค้าต่างประเทศ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า  หลังจากที่บริษัทได้นำปลาแพนกาเซียสดอรี เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยมากว่า 5 ปี พบว่าผู้บริโภคให้ผลการตอบรับเป็นอย่างดี ส่งผลให้คาดการณ์ว่าในปีนี้จะมีปริมาณนำเข้าปลาดอร์รี่อยู่ที่ประมาณ   2,800 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 107% ซึ่งจากแนวโน้มที่ดีดังกล่าวคาดว่าปีหน้าจะมีการนำเข้าปลาแพนดาเซียสดอร์รี่เป็น 6,500 ตันหรือเติบโตจากปีนี้ที่ประมาณ 132%
ปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเข้าปลาแพนกาเซียสดอร์รี่เข้ามาทำตลาดปีละประมาณ 12,000 ตัน ในจำนวนดังกล่าว ซีพีเอฟมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ประมาณ 1 ใน 4 ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด   ซึ่งในส่วนของซีพีเอฟ มีการนำเข้าปลาแพนกาเซียสดอร์รี่ เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยจำนวน 2 รูปแบบ คือ ปลาแล่แช่แข็งและปลาแปรรูป
 
ตลาดหลักที่ ซีพีเอฟนำเข้าปลาแพสกาเซียสดอร์รี่ เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยคือ จากประเทศเวียดนาม   เนื่องจากประเทศเวียดนามมีบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ทางตอนใต้ของประเทศจึงทำให้ ซีพีเอฟ ตัดสินใจเข้าไปสร้างแหล่งเพาะพันธุ์ปลาแพนกาเซียสดอร์รี่ ที่ประเทศเวียดนามภายใต้การทำงานของบริษัท ซีพี เวียดนาม
สำหรับรูปแบบของการเข้าไปดำเนินธุรกิจเพาะพันธุ์ปลาจะเข้าไปในรูปแบบของการส่งเสริมการเลี้ยงและสนับสนุนเทคโนโลยีมาตรฐานสากลในฟาร์ม รวมถึงการลงทุนจัดตั้งโรงงานแปรรูปปลามาตรฐานไม่ไกลจากฟาร์ม ซึ่งปลาชนิดนี้มีโอกาสในการทำการตลาดสูงเพราะสามารถผลิตได้ทั้งปี ต่างจากปลาทะเลที่จับเป็นฤดูกาลและปริมาณไม่แน่นอน ที่สำคัญมีคุณค่าทางอาหารสูงและปลอดภัย
 
 
จากความอุดมสมบูรณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ปัจจุบันประเทศเวียดนาม กลายเป็นประเทศผู้เลี้ยงและผู้ส่งออกปลาแพนกาเซียสดอรีรายใหญ่ที่สุด   ด้วยการมีกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 1.5 ล้านตันต่อปี ในจำนวนดังกล่าวส่งออกไปทำตลาดในประเทศต่างๆ ประมาณ 650,000 ตันต่อปี   โดยมีตลาดส่งออกสำคัญจำนวน 9ประเทศ คือ อเมริกา ยุโรป อาเซียน บราซิล เม็กซิโก จีน ซาอุดีอาระเบีย โคลอมเบียและไทย   
นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ยังมีแผนที่จะขยายตลาดส่งออกปลาแพสกาเซียสดอร์รี่ ไปในประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น ภายหลังจากเริ่มส่งออกปลาดังกล่าวเข้าไปทำตลาดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา   และจากการขยายตลาดส่งออกดังกล่าว ส่งผลให้ ซีพีเอฟ คาดการณ์ว่าในสิ้นปีนี้ บริษัท ซีพี เวียดนาม    จะมีปริมาณการส่งออกปลาแพนกาเซียสดอร์รี่ อยู่ที่ประมาณ 9,000 ตันคิดเป็นมูลค่า 22 ล้านเหรียญสหรัฐ   เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่มียอดการส่งออก 4,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 12 ล้านเหรียญสหรัฐ   และคาดว่าในสิ้นปี 2557 จะมียอดการส่งออกเพิ่มเป็น 15,000  ตัน หรือคิดเป็นมูลค่า 40 ล้านเหรียญสหรัฐ
แม้ว่า ซีพีเอฟ จะได้แหล่งอุดมสมบูรณ์อย่างประเทศเวียดนามเป็นพื้นที่เพาะพันธุ์ปลาแพนกาเซียสดอร์รี่ เพื่อการส่งออกแล้ว ขณะนี้ ซีพีเอฟ ยังเดินหน้าสำรวจหาพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อเพาะพันธุ์ปลาแพสกาเซียสดอร์รี่เพิ่มเติม ซึ่งประเทศที่ ซีพีเอฟ ให้ความสนใจและกำลังเข้าไปทำการศึกษา คือ  พม่า และกัมพูชา
สำหรับการทำตลาดปลาแพนกาเซียสดอร์รี่ ในประเทศไทยนั้น ซีพีเอฟ ได้จัดจำหน่ายภายใต้ตราสินค้า ซีพี ผ่านช่องทางค้าปลีกในรูปแบบต่างๆ   เช่น ร้านซีพี เฟรชมาร์ท ในเครือซีพีเอฟ, ห้างแม็คโคร ในเครือซีพีออลล์, ห้างโมเดิร์นเทรด, ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น   และร้านอาหารจานด่วน
 
 
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ซีพีเอฟ จะมีการส่งออกปลาแพนกาเซียสดอร์รี่ เข้าไปทำตลาดในหลายประเทศ แต่ปัจจุบันยังคงมีสัดส่วนรายได้จากสินค้าดังกล่าวไม่ถึง 1% ของรายได้รวมแต่หลังจากออกมาขยายตลาดเพิ่มขึ้น ซีพีเอฟ คาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากปลาแพนกาเซียสดอร์รี่ เป็น 3% ภายใน 5 ปีนับจากนี้นับจากปี 2556-2560 ขณะที่เป้าหมายรายได้รวม ซีพีเอฟ คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตปีละไม่ต่ำกว่า 10-15% และภายในปี 2560 คาดว่าจะมีรายได้แตะ 700,000  ล้านบาท
นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่  บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า   ภายในระยะเวลา 5 ปีนับจากนี้ นับจากปี 2556-2560 บริษัทมั่นใจว่าในแต่ละปีจะมีรายได้เติบโตเฉลี่ยปีละประมาณ10-15% ซึ่งอัตราการเติบโตดังกล่าวจะส่งผลให้บริษัทมีรายได้แตะระดับ 700,000 ล้านบาทได้ในปี2560เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่มียอดขายอยู่ที่ประมาณ 350,000ล้านบาท
สำหรับกลยุทธ์หลักที่ซีพีเอฟ จะใช้ในการขยายธุรกิจ คือ การสร้างมูลค่าเพิ่มในธุรกิจเดิมที่มีอยู่ รวมถึงการเข้าซื้อกิจการของธุรกิจต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ จะเห็นได้ว่าในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ซีพีเอฟ เริ่มมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เข้ามาทำตลาด โดยเฉพาะอาหารแปรรูปและอาหารพร้อมรับประทาน เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่ชอบความสะดวกและรวดเร็ว
 
 
ถึงแม้ว่า ซีพีเอฟ จะมีการขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง   แต่ล่าสุด ซีพีเอฟได้ออกมาประเทศปรับลดวงเงินการลงทุน 5 ปีข้างหน้า จาก 75,000  ล้านบาท เหลือ 50,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 10,000 ล้านบาท  ด้วยการชะลอการลงทุนขนาดใหญ่ เนื่องจากต้องการสร้างผลกำไรให้มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องตลอดระยะเวลา5 ปีนับจากนี้ 
อีกปัจจัยหนุนที่จะช่วยให้ ซีพีเอฟ มีรายได้และผลกำไรเติบโตดีอย่างต่อเนื่อง คือ การขยายกิจการแบรนด์สินค้าต่างๆ ไปในต่างประเทศ  เช่น แบรนด์5 ดาว และเชสเตอร์กริลล์ มีแผนจะขยายตลาดไปยังประเทศอินเดียและเวียดนาม   ขณะที่แบรนด์ของผลิตภัณฑ์นมเมจิที่จะขยายไปยังประเทศพม่า อินโดนีเซียและมาเลเซีย   และแบรนด์ของซีพี เฟรชมาร์ทจะขยายสาขาในประเทศเพิ่มมากขึ้น   เป็นต้น

LastUpdate 14/10/2556 21:44:51 โดย : Admin
12-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 12, 2024, 7:14 pm