ซีเอสอาร์-เอชอาร์
วธ.ชวนเยาวชนแสดงพลังสร้างสรรค์คลิปชิงรางวัล-ทุน 2แสนบ.


 

 

วธ.เปิดตัวโครงการ “เด็กไทยกับไอที”  รวมพลังเครือข่ายทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน นักวิชาการและผู้ประกอบการวิชาชีพด้านสื่อไอที ส่งเสริมเด็กและเยาวชนใช้สื่อไอทีอย่างสร้างสรรค์ พร้อมเชิญชวนเยาวชนอายุไม่เกิน  24 ปี จัดเต็มแสดงพลังสร้างสรรค์คลิปวีดีโอ เรื่องใดก็ได้ตามสไตล์ที่ชอบ “ระเบิดไอเดีย ระดมความกล้า ท้าทำคลิป” ชิงรางวัลถ้วยเกียรติยศและทุนการศึกษารวมมูลค่ากว่า  200,000 บาท ดันโครงการร่วมงาน TGS BIG Festival  ที่ สยามพารากอน 18-20 ต.ค.ด้วย

 

นายสุระ เตชะทัต ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.)เปิดเผยว่า กระทรวงร่วมกับสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ผู้ประกอบการธุรกิจและสื่อไอทีเพื่อจัดงาน “เด็กไทยกับไอที” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ที่สร้างภูมิคุ้มกันให้กับสังคม ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนรู้เท่าทันและรู้จักเลือกรับปรับใช้สื่อไอทีให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม ขณะเดียวกันยังจะช่วยสร้างความตระหนักถึงผลกระทบของสื่อไอทีที่มีต่อเด็กและเยาวชน เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองช่วยกันดูแลบุตรหลานให้ห่างไกลสื่อไอทีที่เป็นภัย โดยโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนภารกิจของคณะทำงานจัดการข้อมูลประเด็นสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กรณีเด็กไทยกับไอที ซึ่งเป็นการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านเด็กและเยาวชนกับสื่อไอทีในปัจจุบัน

กิจกรรมสำคัญของโครงการนี้   ได้แก่ การประกวดคลิปวีดีโอ“เด็กไทยกับไอที”   โดยเปิดโอกาสให้เยาวชนอายุไม่เกิน  24 ปีสร้างสรรค์ผลงานด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เช่น สมาร์ทโฟน กล้องดิจิตอล คอมพิวเตอร์  แท็บเล็ต ความยาวตั้งแต่  30 วินาที ไม่เกิน  5 นาที ไม่จำกัดเรื่อง ไม่จำกัดเทคนิค โดยส่งลิงค์ผลงานไปได้ที่ http:// www.facebook.com/itdekthai  ซึ่งเปิดรับผลงานไปจนถึงวันที่  14 พฤศจิกายน  2556 นี้  ซึ่งจะมีคณะกรรมผู้ทรงคุณวุฒิ  7 ท่านเป็นผู้ตัดสิน

จากนั้นประกาศผลและมอบรางวัลในวันที่  28 พฤศจิกายน  2556 ณ แบไต๋ ดิจิตอลไลฟ์ สตูดิโอ ชั้น  4  อาคารดิจิตอลเกตเวย์ สยามสแควร์ โดยผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจะได้รับถ้วนเกียรติยศ พร้อมประกาศนียบัตรจากกระทรวงวัฒนธรรมและเงินรางวัล  100,000 บาท รางวัลที่  2 รับประกาศนียบัตรพร้อมเงินรางวัล 50,000 บาทและรางวัลชมเชย  2 รางวัล ได้รับประกาศนียบัตรพร้อมเงินรางวัล 25,000 บาท

นอกจากนี้กระทรวงฯยังผนวกงานโครงการ “เด็กไทยกับไอที”เข้าเป็นส่วนหนึ่งของงาน Thailand Game Show BIG Festival  ที่จัดขึ้นนับแต่แต่วันศุกร์ที่  18 ตุลาคมนี้ไปจนถึงวันที่  20 ตุลาคม ณ รอยัลพารากอนฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน ด้วย โดยจะมีการจัดนิทรรศการ “พระเจ้าอยู่หัวกับไอที” นิทรรศนการเกี่ยวกับประเด็นสื่อไอทีต่าง ๆ และ “Kid’s Culture” เพื่อแสดงพัฒนาการการละเล่นของเด็กในรูปแบบดิจิตอลและเสวนาเกี่ยวกับ “เด็กไทยกับไอที”อีกหลายเรื่องด้วยกัน

นายสุระ กล่าวว่า “เทคโนโลยีไอทีในปัจจุบันใช้กันทุกเพศทุกวัย ซึ่งมีทั้งด้านดีและลบ ปัญหาที่เกิดขึ้นมากในไทยเรา มาจากการใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิด ทำให้เกิดปัญหาทำผิดกฎหมาย ศีลธรรม จี้ปล้น ปัญหาทางเพศ ชู้สาว ความอบอุ่นของครอบครัว ครอบครัวเกิดปัญหา สุขภาพเด็ก เงินที่ต้องใช้เล่นเกม เป็นการใช้สื่อในทางที่ผิดที่นำไปสู่การกระทำผิด

รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงฯดูแล เฝ้าระวัง และทำงานร่วมกับภาคีของแต่ละภูมิภาค รวมถึงกรมศาสนา กรมส่งเสริมศิลปะ นอกจากนี้กระทรวงฯยังมียุทธศาสตร์บูรณาการ ทำงานร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลด้วยเพื่อช่วยกันทำให้ได้ข้อมูลที่ตกผลึกสู่ทิศทางที่ดี เพื่อส่งเสริมให้มีการสร้างสรรค์สื่อที่ดี เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันเด็กและเยาวชน โดยนำไปสู่การลด แก้ไข ป้องกัน สร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กและเยาวชนในการบริโภคสื่อ ”

 

 

ด้านรศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล แห่งภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเปิดเผยว่า ปัญหาไอทีกับเด็กเป็นสิ่งหนึ่งที่มีการสำรวจความเห็นแล้วพบว่า ต้องการให้แก้ไขอย่างเร่งด่วน รองจากยาเสพติด ซึ่งกระทรวงฯมีการสำรวจล่าสุดใน  77 จังหวัด ๆ ละ 100-2,000 คน ระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายน  2556 พบว่า  15% ของเด็กและเยาวชนมีภาวะค่อนข้างติดเกม เมื่อนำมาคิดคำนวณเปรียบเทียบกับจำนวนเด็กและเยาวชนทั้งประเทศทำให้ประเมินได้ว่า มีเด็กเข้าเกณฑ์ติดเกมประมาณ  2.5 ล้านคน

จากการเก็บรวบรวมข่าวสารในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาพบมี  30-40 รายที่มีอาการติดเกมรุนแรงถึงขั้นก้าวร้าว ทำร้ายบุคคลอื่นหรือทำร้ายตัวเอง 

“ผู้ใหญ่ไม่ได้ปฏิเสธว่า ไอทีไม่มีประโยชน์ แต่ต้องการให้เด็ก ๆ รู้จักเล่น รู้จักแบ่งเวลา ความรับผิดชอบได้” รศ.นพ.ชาญวิทย์ กล่าว

นายปรีชา กันธิยะ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า เหตุผลที่ต้องทำโครงการ “เด็กไทยกับไอที” ขึ้นเนื่องจากกระทรวงฯต้องการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อให้มีการเข้าถึงสื่อได้อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งปัจจุบันเรามีองค์กรป้องกัน แต่ขาดสื่อที่เป็นภูมิคุ้มกัน สื่อดีหายาก จึงต้องช่วยกันทำ กิจกรรมประกวดคลิปวีดีโอ เป็นสิ่งที่จะช่วยให้เด็ก ๆ มีช่องทางแสดงความคิดของพวกเขาออกมา

ทั้งนี้ปลัดกระทรวงฯคาดหวังว่า “ผลจากการจัดงานครั้งนี้จะได้ระดมความคิดจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเด็ก ๆ เพื่อนำมาสร้างกฎ กติกา เพื่อส่งเสริมหรือควบคุมดูแลให้เกิดความสงบเรียบร้อยในการใช้ไอทีท่ามกลางโลกาภิวัตน์ และใช้เครื่องมือนี้มาพัฒนา สร้างสรรค์วัฒนธรรมความเป็นไทยขึ้นในเด็กและพี่น้องประชาชนทั่วไป”

 

 

พร้อมกันนี้ยังมองว่า การติดเกมไม่ใช่ปัญหา แต่เด็ก ๆ ไม่รู้จักใช้เวลาให้เป็นประโยชน์มากกว่า หรือไม่รู้จักใช้เวลาให้พอเหมาะพอควร ปัจจุบันร้านเกมมีอยู่นับแสนร้าน มีอยู่ทุกซอกทุกซอยให้เด็ก ๆ เข้าหา อนาคตอาจจะต่อยอดของโครงการร้านเกมสีขาว โดยสร้างกฎเกณฑ์มาตรฐาน พร้อมมีตราสัญลักษณ์เพื่อบอกว่า เข้าไปร้านเกมนี้แล้วปลอดภัย เปรียบเหมือนห้องสมุดแหล่งรวมความรู้สำหรับเด็ก ๆ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


LastUpdate 15/10/2556 07:52:56 โดย : Admin
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 9:39 am