แบงก์-นอนแบงก์
ธปท.ห่วงภาคครัวเรือน เงินออมน้อย ภูมิคุ้มกันพร่องลง


 

 

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)ร่วมกับบริษัทในเครือทั้ง 4 แห่ง ที่เรียกว่า "ครอบครัวบัวหลวง" ประกอบด้วย บริษัท กรุงทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัทกรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัดและบริษัท หลักทรัพย์ จำกัด (มหาชน)จัดกิจกรรม "การเงินมั่นคงกับครอบครัวบัวหลวง:Bangkok Bank Family Banking" ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ได้รับความสนใจจากประชาชนเข้าร่วมอย่างล้นหลาม

กิจกรรมดังกล่าวนี้จัดขึ้นเพื่อมุ่งเสริมสร้างความรู้ด้านวางแผนการเงินครอบครัวในจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางของแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศ  จากการดำริของนายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ที่มองเห็นปัญหาของครอบครัวไทยที่กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมครั้งสำคัญ ทั้งด้านโครงสร้างอายุที่ยืนยาวขึ้น ตลอดจนความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่กำลังเพิ่มขึ้น ทำให้หัวหน้าครอบครัวไทยในปัจจุบันต้องเผชิญกับโจทย์ทางการเงินที่ซับซ้อนขึ้นตลอดเวลา ในการบริหารการเงินให้สมาชิกในครอบครัวอยู่อย่างมีความสุขและยั่งยืน ซึ่งการจัดงานที่ผ่านมาประสบความสำเร็จ โดยจัดไปแล้ว 3 ครั้งที่จ.เชียงใหม่ จ.อุดรธานีและที่อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 
 
 

 
ในงานครั้งล่าสุด ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้กล่าวปาถกฐาพิเศษ "วินัยกับความมั่นคงทางการเงินของครอบครัวไทยของครอบครัวไทย" โดยแสดงความเป็นห่วงครอบครัวไทยมีภาระหนี้สินมาก เงินออมลดลง โดยระบุว่าแม้อัตราการเติบโตของหนี้ครัวเรือนลดลงไปในช่วง2-3เดือนที่ผ่านมาจากที่เติบโตขึ้นมากในช่วง2-3ปีก่อน แต่เป็นผลจากการกระตุ้นของภาครัฐและมีการชำระหนี้ที่ก่อไว้ นอกจากนี้ครอบครัวไทยยังมีการนำเงินในอนาคตมาใช้เพิ่ม จึงส่งผลทำให้มีเงินออมลดลง โดยค่าเฉลี่ยการออมต่อรายได้ของภาคครัวเรือนเหลือเพียง 9.2% ในปี2554 

จากเหตุดังกล่าวผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า ทำให้ภูมิคุ้มกันภาคครัวเรือนจึงลดลง ถ้ารายได้ไม่เพิ่มจะเป็นปัญหาตามมา ดังนั้นทุกภาคส่วนจึงต้องช่วยกันเพื่อให้ภาคครัวเรือนมีภูมิคุ้มกันอย่างมั่นคงยั่งยืน ทั้งครอบครัว ภาคธุรกิจ ภาครัฐและภาคการเงิน โดยเริ่มจากภาคครัวเรือนที่ต้องรักษาวินัยในการใช้จ่าย  ส่วนบทบาทของภาคธุรกิจทำโดยการส่งเสริมการออม เช่น มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นอกเหนือจากการออมภาคบังคับในกองทุนสวัสดิการสังคม

สำหรับบทบาทภาครัฐเช่น การจัดระบบคุ้มครองทางสังคมที่ดี มีการจัดการทางเศรษฐกิจที่ดี การจัดการทรัพยากรอย่างเหมาะสม ไม่ควรเน้นขยายการเติบโตโดยทิ้งความรับผิดชอบต่อการใช้ทรัพยากรของประเทศ เพื่อการเติบโตและความมั่นคงของประเทศ ถ้าสังคมเพิกเฉยจะทำให้รัฐเน้นเฉพาะการเติบโตระยะสั้น โดยไม่มีภูมิคุ้มกันระยะยาว นอกจากนี้ยังต้องแก้ปัญหาความไม่สอดคล้องในด้านทักษะแรงงานที่ไม่ตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นความเห็นที่สอดพ้องกับที่มีรายงานว่า ในขณะนี้มีบัณฑิตใหม่เป็นแชมป์ตกงานจำนวนนับแสนคน

ด้านภาคการเงินสามารถช่วยสร้างภูมิคุ้มกันภาคครัวเรือนได้โดยเสนอผลิตภัณฑ์การเงินหลากหลายทั้งในรูปแบบเงินฝากระยะยาวและประกันภัยและชีวิต บนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น การให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมเพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ไม่ปล่อยสินเชื่อที่ไม่เน้นความสามารถในการชำระหนี้ที่อาจนำไปสู่ปัญหาหนี้เสีย หนีหนี้ เป็นต้น ซึ่งจะนำไปสู่ความไม่น่าเชื่อถือของสถาบันการเงิน

ผู้ว่าธปท.ยังเปิดเผยถึงภาพรวมเศรษฐกิจโลกด้วยว่า ขณะนี้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัว เศรษฐกิจโลกคลี่คลายระยะสั้น สถานการณ์สหรัฐยังไม่ดีเพราะมีความขัดแย้งทางการเมือง การยืดมาตรการQE ออกไปส่งผลให้มีการยกเลิกนโยบายชัตดาวน์หรือปิดการทำงานของหน่วยงานภาครัฐลง ตลาดการเงินรับความเสี่ยงได้เพิ่มขึ้น

ส่วนความเห็นเกี่ยวกับการนำเงินทุนสำรองของประเทศมาลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น มีการลงทุนหลากหลายอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีแนวคิดเรื่องกองทุนเพื่อความมั่งคั่ง
 

LastUpdate 22/10/2556 10:12:51 โดย : Admin
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 12:58 am