เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ท่องเที่ยวห่วงการเมือง ฉุดธุรกิจทรุด


 

 

หลังจากสภาผู้แทนราษฎรมีมติผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ท่ามกลางเสียงคัดค้านของผู้คนในแวดวงต่างๆ และถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองมีความรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งยังได้สร้างความกังวลแก่นักลงทุนในประเทศ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ที่ขณะนี้ถือเป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวที่ยังเติบโตได้ แต่สถานการณ์ทางการเมืองที่มีความร้อนแรงมากขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

 

 

ซึ่งเสียงสะท้อนจากนักธุรกิจในแวดวงท่องเที่ยว นางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า อยากให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงส่วนรวม ให้ดำเนินการในกรอบของกฎหมาย ทั้งนี้ ภาคท่องเที่ยวได้จับตาการเมืองและความเคลื่อนไหวต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อจะนำเสนอข้อมูลให้กับคู่ค้าหรือนักท่องเที่ยวต่างประเทศรับรู้ความจริงทั้งหมด จะได้ไม่เกิดความตระหนก และหลีกเลี่ยงในพื้นที่ที่อาจเป็นอันตราย โดยเฉพาะใน 3 เขต ที่ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง คือ เขตพระนคร ป้อมปราบ และดุสิต แต่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวในเมืองไทย ขณะนี้ยอมรับว่าไม่มีความกังวล เพราะไทยได้สื่อสารความจริงให้นักท่องเที่ยวรู้ทั้งหมด ในพื้นที่ท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นภาคเหนืและภาคใต้ ยังมีนักท่องเที่ยวปกติ

ขณะที่ นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) เปิดเผยว่า ปัจจุบันตลาดเอเชียที่มีความสำคัญสุด 3 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 10 เทียบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด กำลังอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงว่าอาจได้รับผลกระทบ หากการชุมนุมทางการเมืองเพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเกิดความรุนแรง เพราะถือเป็นปัจจัยเสี่ยงเพียงอย่างเดียวที่จะทำให้ธุรกิจ ในช่วงไฮซีซันไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งๆ เดิมประเมินว่าในช่วง 3 เดือนสุดท้ายปีนี้การท่องเที่ยวจะเติบโตกว่าร้อยละ 20 และขณะนี้เริ่มมีการสอบถามสถานการณ์จากบริษัทนำเที่ยวเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และอาจจะส่งผลกระทบในเชิงลบต่ออุตสาหกรรมมากกว่าครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากขณะนี้ไทยพึ่งพิงตลาดเอเชียเป็นหลักในสัดส่วนกว่าร้อยละ 70 ในภาวะที่ตลาดยุโรปที่มีสัดส่วนร้อยละ 25 ยังไม่ฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจ

 

 

สำหรับผลกระทบเบื้องต้น พบว่า นักท่องเที่ยวในช่วงนี้ลดลงร้อยละ 5 ซึ่งยังไม่ส่งผลในเชิงลบมาก เนื่องจากตั้งแต่ต้นปี ไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวเติบโตมาตลอด แต่ทั้งนี้จำเป็นต้องมีการควบคุมเงื่อนไขการชุมนุมให้อยู่ในกรอบ 2 เรื่อง คือ เป็นการชุมนุมปราศจากความรุนแรง ดูแลไม่ให้มีมือที่ 3 มาสร้างความวุ่นวาย และขอให้จำกัดขอบเขตการชุมนุมไม่ให้รบกวนพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยว หรือย่านศูนย์กลางเศรษฐกิจใจกลางเมือง เพราะหากเกิดขึ้นแล้วการฟื้นฟูตลาดต้องใช้เวลานานไม่ต่ำกว่า 6 เดือน - 1 ปี

 

 

ด้าน นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยอมรับว่า การชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้น อาจกระทบในส่วนท่องเที่ยวเป็นอย่างแรก ขณะที่นักลงทุนต่างชาติเริ่มแสดงความเป็นห่วง ทำให้ไทยสูญเสียโอกาสในการแข่งขันกับประเทศอื่นในภูมิภาค ซ้ำเติมปัญหาจากเศรษฐกิจโลก ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตเพียงร้อยละ 3-4

ส่วน นายตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่า มีความกังวลกับปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เพราะจะส่งผลกระทบในภาพรวมทั้งประเทศ เริ่มต้นจากภาคการท่องเที่ยว ซึ่งที่ผ่านๆ มาเมื่อประเทศไทยเกิดปัญหาการเมืองขึ้น ภาคการท่องเที่ยวจะชะลอตัวลงอย่างมาก หลังจากนั้นในส่วนของภาคการลงทุนและอุตสาหกรรมผลกระทบค่อยตามมาโดยเฉพาะในแง่ความเชื่อมั่นของทางนักลงทุนต่างชาติ จึงอยากให้ปัญหาต่างๆ ยุติโดยเร็ว ไม่อยากให้เกิดความรุนแรงใดๆ เกิดขึ้นอีก


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 01 พ.ย. 2556 เวลา : 10:26:44
18-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 18, 2024, 10:16 pm