เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ซีไอเอ็มบี ไทย มองเฟดถ่วงเวลาลด QE รอตัวเลขเศรษฐกิจสนับสนุน


 

 

 

นายอมรเทพ จาวะลา หัวหน้าส่วนวิจัย เศรษฐกิจและตลาดการเงิน สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) (Mr. Amonthep Chawla, Ph.D., Vice President, Economic and Financial Market Research, Research Office, CIMB Thai Bank PCL) เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากช่วงเช้าของวันที่ 31 ตุลาคม 2556 (ตามเวลาประเทศไทย) คณะกรรมการการเงินสหรัฐฯได้มีมติ คงมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE ไว้ โดยจะคงซื้อสินทรัพย์ต่อเนื่องเดือนละ 85,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำที่ 0-0.25% ต่อไป

 

 

สำนักวิจัยฯมองว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กำลังถ่วงเวลาการปรับลด QE เพื่อรอตัวเลขเศรษฐกิจมาสนับสนุน โดยอ้างอิงการปรับลดลงของอัตราว่างงานว่าควรอยู่ที่ระดับ 6.5% ก่อนจึงจะหยุด QE หรือปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น สำนักวิจัยคาดว่า อาจจะได้เห็นการปรับลด QE ในอีกไม่ช้า คาดว่าจะเป็นไตรมาสหนึ่งปี 2557 หลังการเจรจาเพิ่มเพดานหนี้ผ่านไป

“ทั้งนี้ เพราะเรามองว่า แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯที่แม้จะฟื้นตัวได้ดี จากการบริโภคภาคครัวเรือน และภาคการผลิต อันมีผลทำให้อัตราการว่างงานลดลง แต่แท้จริงแล้วตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงอ่อนแอ เพราะอัตราว่างงานที่ลดลงไม่ได้สะท้อนภาพคนมีงานทำมากขึ้น จากจำนวนผู้ที่ออกนอกตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นมาก จึงน่ากังวลว่า หากคณะกรรมการการเงินสหรัฐฯ อ้างอิงการปรับลดลงของอัตราว่างงานว่าควรอยู่ที่ระดับ 6.5% ก่อนจึงจะหยุด QE หรือปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แล้วละก็ การปรับลด QE อาจเกิดขึ้นเร็วๆนี้ ซึ่งเราคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงหลังการเจรจาเพิ่มเพดานหนี้ผ่านพ้นไปในไตรมาสหนึ่งปีหน้า ซึ่งอัตราการว่างงานจะลดลงต่อเนื่อง แต่อาจจะไม่แตะระดับที่ทางคณะกรรมการการเงินตั้งมาตรวัดเอาไว้” นายอมรเทพ กล่าว

 

 

สำหรับสาเหตุที่คณะกรรมการการเงินสหรัฐฯได้มีมติคงมาตรการ QE ไว้ก่อน สะท้อนว่ามาตรการทางการเงินแบบผ่อนคลายจะยังจำเป็นต่อการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เนื่องจากคณะกรรมการการเงินสหรัฐฯเห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯขยายตัวได้ระดับปานกลาง แม้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนปรับตัวดีขึ้น แต่ตลาดบ้านยังคงฟื้นตัวช้า อีกทั้งอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ นโยบายการคลังด้านการขยายเพดานหนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างชัดเจน อันมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างจำกัด จึงเป็นที่มาของการคงมาตรการ QE ดังกล่าว

เมื่อพิจารณาปัจจัยรายตัวพบว่า การบริโภคภาคครัวเรือนของสหรัฐฯฟื้นตัวได้ดีในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา จากรายได้และค่าใช้จ่ายที่เติบโตดีขึ้น แม้ว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลงบ้างในเดือนตุลาคม จากความกังวลต่อการแก้ปัญหาการคลังระหว่างรัฐบาลและรัฐสภาสหรัฐฯ แต่สำนักวิจัยคาดว่าภาคครัวเรือนสหรัฐฯ จะฟื้นตัวได้อย่างมีเสถียรภาพหลังการเจรจาเพิ่มเพดานหนี้ในช่วงต้นปีหน้า

ขณะที่ภาคการผลิตของสหรัฐฯ ก็ฟื้นตัวได้ดีเช่นกัน จากผลการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการสั่งซื้อสินค้าคงทน อีกทั้งความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการก็ปรับตัวดีขึ้น อันสนับสนุนการจ้างงานของสหรัฐฯ

“หากถามว่าทำไมต้องมีการส่งสัญญาณชะลอ QE หรือปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เราอาจมาดูถึงตลาดบ้านของสหรัฐฯ ที่เริ่มฟื้นตัวได้ดี แม้ยอดขายบ้านใหม่หรือก่อสร้างอาจโตช้าลงในช่วงเดือนก่อนหน้า แต่น่าจะเป็นเพียงชั่วคราว ที่น่ากังวลคือราคาบ้านของสหรัฐฯ ที่เริ่มเร่งตัวขึ้นแรงอันอาจก่อให้เกิดภาวะฟองสบู่อีกครั้ง จากสภาพคล่องที่ท่วมระบบและอัตราดอกเบี้ยกู้บ้านที่อยู่ในระดับต่ำ ด้วยเหตุนี้มาตรการ QE จึงอาจต้องชะลอลงเพื่อป้องกันปัญหานี้ในต้นปีหน้า” นายอมรเทพ กล่าว

โดยสรุป ทางเฟดคงรอการแก้ปัญหาทางการคลังของสหรัฐฯ ให้ผ่านไปก่อนประกาศลด QE เพื่อไม่ให้เกิดการสะดุดในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และรอตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่านี้ ดั้งนั้น ช่วงนี้ไปจนถึงเดือนมีนาคมปีหน้าคือช่วงรอเวลา ขณะที่ผู้ลงทุนก็ทราบดีว่ายังไงเฟดก็ต้องทยอยถอน QE เพียงแต่ยังไม่รู้เวลาที่ชัดเจน

นายอมรเทพ กล่าวว่า สำหรับผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจไทย แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะกำลังฟื้นตัวจากแรงสนับสนุนจากมาตรการดอกเบี้ยต่ำและเงินอัดฉีดสภาพคล่อง แต่การส่งออกของไทยอาจได้รับผลบวกอย่างจำกัด เนื่องจากโครงสร้างการส่งออกสินค้าของไทยที่อาศัยเทคโนโลยีต่ำ และมีมูลค่าเพิ่มไม่มาก อาจไม่เป็นที่ต้องการของตลาดสหรัฐฯ มากนัก ผู้ส่งออกไทยอาจมีการปรับตัวเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิต และสร้างความสามารถในการแข่งขัน ไม่เช่นนั้นแล้ว การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจไม่ช่วยสนับสนุนให้การส่งออกของไทยเติบโตได้อย่างที่คาดหวังกันในปีหน้า


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 01 พ.ย. 2556 เวลา : 16:30:52
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 12:34 pm