เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ปฎิกริยาหลังเสียงเตือนจากไอเอ็มเอฟ


 

 

คณะกรรมการบริหารของ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ออกรายงานสรุปการทบทวนภาวะเศรษฐกิจไทยประจำปี 2556 โดยมีประเด็นสำคัญว่าภายใต้นโยบายรัฐบาลปัจจุบัน การขาดดุลทางการคลังจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.4%ของจีดีพีในปีงบประมาณ 2556 จากระดับ 1.7%ในปีงบประมาณ 2554 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการลดภาษีนิติบุคคลและการจ่ายคืนภาษีซื้อรถคันแรกกับบ้านหลังแรกรวมถึงภาษีน้ำมัน

นอกจากนี้ การขาดดุลงบประมาณคาดว่าจะเพิ่มจาก 1.5% ของจีดีพีในปีงบประมาณ 2554 เป็น 4.2% ของจีดีพีในปีงบประมาณ 2557 ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะคาดว่าจะเกิน 53% ของจีดีพีในปีงบประมาณ 2561 โดยคาดการณ์เหล่านี้ พิจารณาจากนโยบายต่างๆ ของรัฐและภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจพึงพอใจโดยรวม

 

 

ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟเห็นว่า ไทยควรพิจารณามาตรการเพิ่มเติม เพื่อให้แน่ใจว่าบรรลุเป้าหมายทางการคลัง โดยกระตุ้นให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อลดการขาดดุลทางการคลัง และกำหนดการใช้จ่ายให้แก่ภาคส่วนต่างๆ แบบเรียงลำดับก่อนหลัง รวมถึงการลดใช้งบหรือเงินทุนอุดหนุนด้านพลังงาน และให้โยกงบประมาณไปช่วยเหลือภาคครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำในชนบทแทนการใช้งบประมาณใช้ไปกับโครงการรับจำนำข้าว แต่เนื่องจากการประหยัดงบประมาณจากนโยบายต่างๆ ข้างต้นเพียงอย่างเดียว น่าจะไม่เพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายทางการคลัง ไอเอ็มเอฟจึงได้แนะนำให้ทางการไทยพิจารณาใช้มาตรการต่างๆ เพื่อเพิ่มรายได้ ซึ่งรวมถึงการขึ้นภาษีอสังหาริมทรัพย์กับการบริโภคให้มากขึ้น และขยายฐานภาษีรายได้ให้กว้างขึ้นผ่านการยกเลิกมาตรการลดหย่อนภาษีรายได้บุคคลประเภทต่างๆ

และสุดท้าย ไอเอ็มเอฟแนะนำว่าหน่วยงานด้านการจัดเก็บภาษีของรัฐ สามารถปรับปรุงกฎระเบียบข้อบังคับใช้ต่างๆให้เข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง  ด้านนโยบายการเงินไอเอ็มเอฟชี้ว่า การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในปัจจุบันมีความเหมาะสม แต่อย่างไรก็ตาม ทางการไทยควรเตรียมความพร้อมในการลดการผ่อนคลายเข้าสู่การดำเนินนโยบายแบบปกติ หากแรงกดดันเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

 

 

 

ทั้งนี้ หลังการออกรายงานของไอเอ็มเอฟ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แสดงความเห็นว่า กำลังศึกษารายงานของไอเอ็มเอฟอย่างละเอียด โดยเฉพาะข้อเสนอที่ให้รัฐบาลยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว เพราะจะเป็นภาระงบประมาณในระยะยาว และให้ปรับเปลี่ยนวิธีในการช่วยเกษตรกร คิดว่าไอเอ็มเอฟยังไม่เข้าใจในหลายๆเรื่อง เช่น เสนอให้ไทยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อรองรับอัตราเงินเฟ้อที่จะเพิ่มขึ้น โดยมองว่าไอเอ็มเอฟควรจะศึกษาข้อมูลต่างๆ ของประเทศไทยให้รอบด้าน ก่อนที่จะมีการนำเสนอหรือแนะนำ เพราะปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ หากมีการปรับดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลให้เศรษฐกิจอาจชะลอตัว

"ใครที่อยู่ในเศรษฐกิจไทยคงเข้าใจดีว่าเป็นภาวะของประเทศอื่นที่ไม่ใช่ไทย เพราะฉะนั้นจึงบ่งบอกถึงความไม่เข้าอย่างลึกซึ้งในบางเรื่อง คงต้องมีการอธิบายกัน"นายกิตติรัตน์กล่าว

ส่วนข้อเสนอที่ให้เลิกโครงการรับจำนำข้าวและมาชดเชยราคาสินค้าให้แก่เกษตรกรแทน นายกิตติรัตน์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ แต่ไอเอ็มเอฟเองต้องเข้าใจอะไรให้ลึกซึ้งก่อนที่จะออกมาให้ความเห็นอันเป็นทฤษฎีที่อาจนำไปใช้กับประเทศอื่นๆได้ แต่จะเหมาะกับไทยหรือไม่ และแนวทางปฏิบัติเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะพิจารณา

 

 

 

ขณะที่ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองถึงข้อแนะนำของไอเอ็มเอฟว่า ที่ไอเอ็มเอฟแนะให้ไทยเลิกใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย น่าจะเป็นการเสนอแนะความคิดเห็นในสิ่งที่ควรทำเมื่อเศรษฐกิจพื้นตัวขึ้น คงไม่ได้เร่งรัดให้ ธปท. ทบทวนนโยบายการเงินให้ลดความผ่อนคลายลง หรือปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในขณะนี้ เพราะขณะนี้ไอเอ็มเอฟก็มองว่าไทยเรามีการดำเนินนโยบายการเงิน หรือดอกเบี้ยที่เหมาะสมอยู่แล้ว   


LastUpdate 14/11/2556 10:39:43 โดย : Admin
23-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 23, 2024, 7:23 pm