เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทยยังทรุดหนัก


 

ในที่สุด สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก็ได้ประกาศปรับลดอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเป็นครั้งที่ 3 ในรอบปี

 

 

โดย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ สศช. หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ขยายตัว 2.7% ชะลอลงจากไตรมาส 2 ที่ขยายตัว 2.9% เนื่องจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ยังลดลง 1.2% เทียบกับขยายตัว2.5% ในไตรมาสก่อนหน้า จากโครงการรถยนต์คันแรกที่ชะลอลง ราคาสินค้าเกษตรและรายได้ส่งออกยังอยู่ในภาวะอ่อนตัว และมีการระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อของภาคการเงินที่ชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้เศรษฐกิจปีนี้น่าจะเติบโตเพียง 3% ซึ่งต่ำกว่าประมาณการที่ 3.8-4.4% เนื่องจากการส่งออกที่ขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ โดยประเมินว่าทั้งปีการส่งออกจะอยู่ที่ 0% หรือไม่เติบโตเลย ส่วนการนำเข้าขยายตัวที่ 0.6%

                                                                     ประมาณการณ์เศรษฐกิจปี  2556 (หน่วย:%)

                                                                     ใหม่                เดิม

                                                      จีดีพี          3               3.8 - 4.3

                                                     ส่งออก       0                   5

                                                     ลงทุน        0.9                 6

                                                     บริโภค      1.6                2.6

                                                                                                                      ที่มา: สศช.

 

 

ซึ่งหลังการประกาศตัวเลขจีดีพีของสศช. นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยอมรับว่า ผิดหวังกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพราะไม่สามารถลงทุนโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทได้ ส่วนตัวเลขจีดีพีที่ สศช. ปรับประมาณการลงเหลือ 3% ก็ยอมรับได้ แต่โดยส่วนตัวมองไปถึง แนวโน้มจีดีพีในปี 2557 จะสามารถเติบโตได้ 4.5% เพราะมองเห็นการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวได้ ทั้งในสหรัฐ สหภาพยุโรป และจีน

ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2556 ลงมาที่ 3.0%จากคาดการณ์เดิม 3.7% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 3 ที่อ่อนแอกว่าที่คาด และแนวโน้มที่อ่อนแอของหลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 ส่วนไตรมาส 4 อาจจะชะลอตัวลงมาอีกครั้งที่ระดับประมาณ 1.0% หลังจากขยายตัว 2.7% ในช่วงไตรมาส 3 แต่หากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไม่ได้พัฒนาไปถึงจุดที่มีความรุนแรงเกิดขึ้น ก็คาดว่าจีดีพีไตรมาส 4 น่าจะสามารถรักษาทิศทางการเติบโตไว้ได้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของการส่งออกในปี 2556 ลงมาอยู่ที่ 0.5% จากคาดการณ์เดิมที่ 1.5% จากการฟื้นตัวของการส่งออกไทยที่ยังอ่อนแอ แม้สัญญาณจากเศรษฐกิจโลกจะมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจที่เป็นแกนสำคัญของโลกในช่วงไตรมาสที่ 4 ยังคงอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก แม้จะเป็นช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองปลายปีแ ต่ภาพรวมของการส่งออกในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2556 ก็ยังไม่น่าจะสามารถกลับสู่เส้นทางการฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ โดยคาดว่าการส่งออกในช่วงไตรมาส 4 อาจเติบโตประมาณ 1.5% ขยับขึ้นจากที่ขยายตัว 0.2% 

 

 

ส่วน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) ระบุจากการลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐที่หดตัวในไตรมาส 3 อาจทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวต่ำกว่าที่ EIC ประมาณการไว้เดิมที่ 3.4% โดยการลงทุนภาคเอกชนในปี 2013 อาจขยายตัวต่ำกว่า 2.9% และการลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่า 12.7% ตามที่ EIC ได้ประเมินไว้เดิม ซึ่งสะท้อนว่าการใช้จ่ายในประเทศของไทยค่อนข้างอ่อนแอกว่าที่คาด

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปียังมีความเสี่ยงทางการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อภาวะการท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างประเทศ หากความไม่สงบทางการเมืองยังมีความยืดเยื้อ อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไตรมาสที่ 4 ซึ่งเป็นไตรมาสที่สำคัญของการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ การลงทุนจากต่างประเทศจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก หากนักลงทุนต่างชาติไม่มั่นใจในเสถียรภาพทางการเมืองของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายภาครัฐต่างๆ ที่อาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยทางการเมือง


LastUpdate 19/11/2556 09:01:24 โดย : Admin
23-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 23, 2024, 2:33 pm