เอสเอ็มอี
งาน SMEs-OTOP สู่เวทีโลกเปิดฉากเมืองทอง


 

 

 
 
"งาน SMEs และ OTOP สู่เวทีโลก" ระยะที่ 3 ภายใต้คอนเซ็ปต์ Growth for Goal เปิดฉากแล้ว ณ ฮอลล์ 9 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ดึงหน่วยงานรัฐ พรีอม 6 แบงค์พบผู้ประกอบการ ธกส.เผยจัดสรรสินเชื่อSMEs เฉพาะงานนี้  1,000 ล้านบาท  ด้านบสย.ร่วมมือธนาคารออมสินค้ำประกันเงินกู้SMEs วงเงิน 3,000 ล้าน
 
นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงาน SMEs และ OTOP สู่เวทีโลกระยะที่ 3  ภายใต้แนวคิด Growth for Goal รากฐานที่มั่นคงสู่อนาคตที่ยั่งยืน  เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 6 แห่ง เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการสู่เวทีโลก โดยมีนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการและประชาชนร่วมงาน ณ ฮอลล์ 9 อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยงานจะมีจนถึงวันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน 2556 นี้
 
 
นายทนุศักดิ์กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นเรื่องของภาคการผลิต ซึ่งเป็นต้นน้ำสำคัญของระบบเศรษฐกิจ โดยมีธ.ก.ส.และกรมส่งเสริมการเกษตรร่วมเป็นเจ้าภาพหลัก ซึ่งมีการนำเสนอเรื่องราวกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการ SMEs OTOP และวิสาหกิจชุมชน เช่น โซน Smart Office ศูนย์บริการธุรกิจครบวงจร ที่มีทั้งบูธข้อมูลงานวิจัยที่รวมผลงานวิจัยและความรู้ที่เป็นประโยชน์
บูธตัวอย่างการพัฒนา บูธสินเชื่อสนับสนุนได้แก่ ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.)และบูธตัวอย่างผลิตภัณฑ์คุณภาพ นอกจากนี้ยังมีโซนหมู่บ้านำลอง โซนวิชาการและโซนเสวนาทางวิชาการจากผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นต้น
 
 
ในโอกาสเดียวกันนายทนุศักดิ์ยังแถลงเกี่ยวกับการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวของธ.ก.ส.ด้วยว่า กรณีที่มีข่าวว่า ชาวนาที่เข้าโครงการรับจำนำข้าวรอบปีการผลิต 56/57 ต้องรอการจ่ายเงินของโครงการรับจำนำข้าว 1-2 เดือนนั้น นายทนุศักดิ์ยืนยันว่า กรณีดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใดเพราะคณะกรรมการธ.ก.ส.ได้มีมติเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2556 ให้ธ.ก.ส.จ่ายเงินให้กับชาวนาแล้วและธ.ก.ส.ได้ดำเนินการจ่ายเงินให้กับชาวนาไปตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2556 แล้ว จนปัจจุบันได้จ่ายไป 3,520 ล้านบาท ครอบคลุมครัวเรือนกว่า 20,000 ครัวเรือน
 
 
นอกจากนี้นายทนุศักดิ์ ยังชี้แจงต่อว่า รัฐบาลจะสามารถบริหารโครงการรับจำนำข้าวให้อยู่ในกรอบ 500,000 ล้านบาท ตามมติครม.ได้อย่างแน่นอน เพราะปัจจุบันโครงการรับจำนำข้าวใช้เงินไปแล้วทั้งสิ้น 680,000 ล้านบาท ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ได้ส่งเงินคืนธ.ก.ส.แล้วประมาณ 180,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อพิจารณาเพียงแค่นี้ จะเห็นว่า เมื่อหักเงินระบายแล้ว เงินที่ใช้ในโครงการรับจำนำข้าวมีความใกล้เคียงกับกรอบวงเงินตามมติครม.แล้ว
 
 
นอกเหนือจากนี้ธ.ก.ส.ยังได้รับการจัดสรรงบประมาณ ปี 2557 เพิ่มเติมจากรัฐบาลอีกกว่า 82,000 ล้านบาท ซึ่งธ.ก.ส.ได้นำมาใช้ในโครงการรับจำนำรอบ 56/57 ประมาณ 55,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับเงินระบายของกระทรวงพาณิชย์ที่จะส่งมาเพิ่มเติมในเดือนพ.ย.-ธ.ค.นี้อีกประมาณ 24,000 ล้านบาท จะทำให้ธ.ก.ส.มีเงินหมุนเวียนเพียงพอที่จะจ่ายให้ชาวนา ตลอดสิ้นปี 2556 ได้ โดยไม่เกินกรอบวงเงินที่ครม.อนุมัติไว้ 
ส่วนในต้นปี 2557 สำนักบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) ได้ยืนยันที่จะออกพันธบัตรให้กับธ.ก.ส.แล้ว ซึ่งเป็นแผนการหมุนเวียนเงินต่อเนื่อง ที่จะทำให้โครงการรับจำนำข้าว ปีการผลิต 56/57 ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด จึงขอเรียนให้ชาวนาสบายใจได้
ประเด็นสุดท้าย รัฐบาลยังได้เตรียมแหล่งเงินอื่นเพิ่มเติมให้กับธ.ก.ส.อีก ไม่ว่าจะเป็นเงินชดเชยข้าวถุงราคาถูก ซึ่งครม.อนุมัติแล้ว อีก 7,100 ล้านบาทและเงินระบายข้าวที่จะมาเพิ่มขึ้นจากการที่รัฐบาลขายข้าวแบบ G to G ยิ่งจะทำให้การดำเนินโครงการในปี 56/57  ไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน
 
 
ด้านนายชัยวัฒน์ ปกป้อง ผู้ช่วยผู้จัดการธ.ก.ส. กล่าวว่า การจัดงานครั้งที่ 3 นี้เป็นไปตามนโยบายกระทรวงการคลังที่ต้องการให้ส่วนราชการและธนาคารมาพบปะและช่วยเหลือ SMEs –OTOP  เพื่อให้คำปรึกษา พัฒนาวัตถุดิบเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนมั่นคง รวมถึงเข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งในไทยมีอยู่  2.9  ล้านผู้ประกอบการ เป็นธุรกิจที่หมุนเวียนอยู่ในไทยเป็นมูลค่า 2 ล้านล้านบาท ที่ประกอบด้วยอุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรม ท่องเที่ยว ค้าส่งค้าปลีก เป็นผู้ประกอบการรายย่อยระดับกลางประมาณ 90% รายใหญ่จะมีประมาณ 10 % ซึ่ง SMEs พิจารณาที่มีพนักงาน 50 คนมีไม่เกิน 20 ล้านและ 50คนขึ้นไป ไม่เกิน 200 ล้านบาท 
ทั้งนี้เฉพาะในงานนี้ธ.ก.ส.เตรียมวงเงินสำหรับไว้ปล่อยกู้แก่ SMEs ไว้ถึง 1,000 ล้านบาท ซึ่งผู้ประกอบการ SMEs สามารถมาลงชื่อแสดงความจำนงค์ได้ที่งาน ซึ่งธ.ก.ส.จะให้ไปใช้บริการในสาขาใกล้บ้าน สำหรับในปีนี้ปล่อยกู้แก่ SMEs  ที่มีศักยภาพไปแล้วประมาณ 8,000 ล้านบาท  ส่วนยอดการปล่อยกู้สะสมแก่ผู้ประกอบการโดยรวม ทั้งนิติบุคคล นิติบุคคล สหกรณ์และเกษตรกรที่มีผลผลิตเป็น SMEs-OTOP  ทั้งสิ้น 200,000ราย มียอดเงินกู้สะสม 40,000 ล้านบาท แต่เฉพาะกลุ่มวิสาหกิจชุมชน  อย่างเดียว 10,000 รายประมาณ 9,000 ล้านบาท
 
 
 
นายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไปบสย. เปิดเผยว่า  ในขณะนี้บสย.มีความร่วมมือกับธนาคารออมสิน โดยค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ลูกค้า SMEs เป็นวงเงิน 3,000 ล้านบาท แต่ต่อไปจะเพิ่มขึ้นโดยค้ำประกันสินเชื่อ SMEs กับทุกธนาคารในวงเงิน 10,000 ล้านบาท ซึ่งเวลานี้กระทรวงการคลังกำลังจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา คาดว่าจะได้ใช้ราวกลางเดือนมกราคมปี 2557
 

 


LastUpdate 22/11/2556 22:41:05 โดย : Admin
20-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 20, 2024, 8:58 pm