แบงก์-นอนแบงก์
ประกันชีวิตปรอทแตก "ขาใหญ่" โหมสินค้าเข้าสู้ ชิงยอดนาทีสุดท้าย ชูจุดขาย "หักภาษี-รีเทิร์นสูง"



 
ค่ายประกันชีวิตโหมประกันลดหย่อนภาษี ทิ้งทวนปั๊มเบี้ยเฮือกสุดท้าย "เมืองไทย"ชู 4 สินค้าใหม่ ออมสั้น-กลาง-คุ้มครอง "กรุงเทพ"จัดหนักจ่ายเบี้ยปีเดียว คุ้มครอง 10 ปี รีเทิร์นปีละ 4% "ไทยประกัน"ทุ่มทุนโฆษณา โหม “50 แซบเวอร์-ลดหย่อนภาษี มีคืน มีคุ้ม” ส่วน"ไทยพาณิชย์" รุกรายเซ็กเมนต์ “มนุษย์เงินเดือน-อาชีพอิสระ” ฟาก "คปภ." โดดเตือน ลดหย่อนภาษีต้องซื้อประกัน 10 ปีขึ้นไป
 

 

ช่วงปลายปีที่เป็นช่วงเวลาทองของการซื้อประกันชีวิตเพื่อลดหย่อนภาษี ทำให้บรรดาบริษัทประกันชีวิตต่างโหมสินค้าใหม่เข้ามารุกทำตลาดโค้งท้ายปีกันอย่างหนัก

เริ่มตั้งแต่ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต โดยนายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า บริษัทได้ออกสินค้าใหม่ 4 แบบ คือ 1.เมืองไทย ท็อป เซฟเวอร์ 10/4 ซึ่งเป็นประกันออมทรัพย์จ่ายเบี้ยระยะสั้น 4 ปี คุ้มครองชีวิตถึง 10 ปี เน้นตอบโจทย์การออมระยะสั้นและได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ด้วยผลประโยชน์และความคุ้มครองเพิ่มขึ้นทุกปี 2.เมืองไทย ซุปเปอร์ เซฟวิ่ง 14/7 ประกันออมทรัพย์ 14 ปี จ่ายเบี้ย 7 ปี เน้นตอบโจทย์การออมระยะกลาง จ่ายเบี้ยเบาๆ และได้สิทธิหักลดหย่อนภาษี
 
3.เมืองไทย แทนใจจากลูก ประกันชีวิตแบบคุ้มครองระยะยาว เจาะตลาดลูกที่ต้องการซื้อเป็นความคุ้มครองให้พ่อแม่ที่มีอายุ 40-65 ปี คุ้มครองถึงอายุ 90 ปี คุ้มครองทั้งชีวิต ค่ารักษาพยาบาล สุขภาพ โรคร้ายแรง 35 โรค และมีค่าห้องให้สูงสุดถึง 3,000 บาท/วัน โดยเบี้ยส่วนที่เป็นความคุ้มครองสุขภาพ ผู้ซื้อที่เป็นลูกสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เมื่อซื้อให้พ่อแม่
 
4.P.A. รักพ่อ ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลที่ให้ผลประโยชน์ความคุ้มครองสูงสุดถึง 1 ล้านบาท คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุสูงสุดถึง 1 แสนบาท มีเงินชดเชยกรณีกระดูกแตกหัก ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก และบาดเจ็บอวัยวะภายในจากอุบัติเหตุถึง 2 แสนบาท 
 

 

 

ด้าน นายเรืองศักดิ์ ปัญญาบดีกุล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายการตลาด บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต กล่าวว่า กลยุทธ์สินค้าใหม่ในช่วงท้ายปีจะเน้นการบริหารเงินลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงและลดหย่อนภาษีได้ เพื่อจับตลาดกลุ่มคนวัยทำงานและนักธุรกิจ ซึ่งล่าสุดได้ออกสินค้าใหม่ BLA Premier Gain 10/1 คุ้มครองชีวิต 10 ปี จ่ายเบี้ยเพียงครั้งเดียว ซึ่งให้ผลตอบแทนสูงถึง 4% เต็มทุกปี และสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 1 แสนบาท
 
“กลยุทธ์ของเราจะเน้นขายสินค้านี้เพิ่มเป็นทางเลือกควบคู่กันไปกับการวางแผนภาษีให้แก่ลูกค้า รวมถึงมีสินค้าอื่นๆ เข้ามาตอบโจทย์ด้วย เช่น ประกันบำนาญ 600, ห่วงรักคุ้มครองครบ และกองทุนรวม LTF/RMF โดยมีทีมที่ปรึกษาวางแผนการเงินมืออาชีพพร้อมให้บริการและแนะนำตามเป้าหมายการบริหารเงินของลูกค้าแต่ละรายอย่างเฉพาะเจาะจงอีกด้วย” นายเรืองศักดิ์กล่าว


 

 

ด้าน บมจ.ไทยประกันชีวิต ที่ได้ออกสินค้าโครงการใหม่ออกมา “ลดหย่อนภาษี มีคืน มีคุ้ม” ซึ่งนำสินค้ายอดฮิต ธนทวี 1 10/5 คุ้มครอง 10 ปี จ่ายเบี้ยเพียง 5 ปี มาจัดแพ็คเกจใหม่ ซึ่งจะให้ความคุ้มครองชีวิตเพิ่มขึ้นปีละ 100% จนถึง 500% ในปีที่ 5 ไปจนครบอายุสัญญา และจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนคืนให้ปีละ 10% ทุกปี นอกจากนี้ ยังโปรโมทสินค้า “ไทยประกันชีวิต 50 แซบเวอร์” จับกลุ่มวัยกลางคนที่ต้องการประกันชีวิตและคุ้มครองกรณีโรคร้ายแรงยอดฮิต 3 กลุ่มโรค คือ มะเร็ง หัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง
 

 

 

ขณะที่ บมจ.ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต วางกลยุทธ์รุกตลาดแบบรายเซ็กเมนต์ โดยเฉพาะล่าสุดที่ออกสินค้าใหม่ “ประกันออมสบาย..ชดเชยรายวัน” จับกลุ่มลูกค้าที่มีอาชีพอิสระและมนุษย์เงินเดือน ที่ต้องการสิทธิประโยชน์ด้านชดเชยรายได้ เพียงออมวันละพัน ชดเชยวันละพัน รวมถึงยังมี “ประกันเลือกได้..ออมตามใจ” จับตลาดมนุษย์เงินเดือนในวัยทำงานที่ต้องการออมระยะต่างๆ ที่เลือกได้เอง และได้สิทธิหักลดหย่อนภาษี
 
ขณะที่ลูกค้ากลุ่มเจ้าของกิจการที่ต้องการสร้างทรัพย์มรดกไว้ให้กับทายาท ก็จะมี “ประกันเลือกได้..มรดกตามใจ” ซึ่งเน้นทุนประกันสูงตั้งแต่ 5 แสนบาทขึ้นไป เลือกออมได้ง่ายๆ แบบจ่ายเบี้ย 5 ปี หรือ 10 ปี คุ้มครองไปจนถึงอายุ 99 ปี และสามารถลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน
 

 

 

ด้าน นางสาววราวรรณ เวชชสัสถ์ รองเลขาธิการด้านกำกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า การซื้อประกันชีวิตที่สามารถได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีนั้น จะต้องเป็นแบบที่มีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และในกรณีที่มีเงื่อนไขจ่ายเงินหรือผลประโยชน์คืน ก็จะต้องจ่ายไม่เกิน 20% ของมูลค่าเบี้ยสะสมที่จ่ายในช่วงเวลานั้น จึงจะสามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีค่าเบี้ยประกันชีวิตได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาท
 
นอกจากนี้ ในกรณีที่ซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญ ก็สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีได้เพิ่มเติมอีกไม่เกิน 2 แสนบาท โดยผู้เอาประกันจะต้องซื้อเบี้ยในวงเงินไม่เกิน 15% ของรายได้พึงประเมินด้วย ขณะที่ค่าเบี้ยเฉพาะส่วนที่เป็นสัญญาเพิ่มเติมแนบท้ายกรมธรรม์ เช่น สัญญาสุขภาพและอุบัติเหตุ จะไม่สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีได้

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 07 ธ.ค. 2556 เวลา : 10:01:10
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 7:06 am