เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ยุบสภาฯไม่แก้ปัญหาวิกฤติการเมืองไทย


 

ภายหลังการประกาศยุบสภาของรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ด้วยเหตุผลที่ว่า ต้องการคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจ และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่า ต้องการให้ใคร คณะใดเข้ามาบริหารประเทศ

การเลือกแนวทางยุบสภา เพื่อแก้ปัญหาการเมืองของไทย ได้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย ทั้งจากนักวิชาการ และภาคธุรกิจ เอกชน

 

 

โดยในส่วนของนักวิชาการ นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การประกาศยุบสภา เป็นการคลี่คลายสถานการณ์ชั่วคราว ระยะสั้นเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรง จึงออกมาแถลงก่อนที่มวลชนจะเดินเข้าไปถึงที่ทำเนียบรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ต้องชมว่าการแก้ปัญหาครั้งนี้เป็นการสะท้อนว่ารัฐบาลเริ่มฟังเสียงประชาชนที่ยอมตัดสินใจ เพื่อไม่เกิดการเสียเลือดเสียเนื้อและไม่ให้เกิดความรุนแรง

ซึ่งระหว่างที่รอการเลือกตั้งใหม่ รัฐบาลควรสานต่อเรื่องการปฎิรูปการเมืองรวมกับทุกภาคฝ่าย ทั้งฝ่ายค้าน รัฐบาล และภาคประชาชน โดยการตั้งคณะกรรมการที่มาจากคนกลางจากทุกกลุ่ม เพื่อให้เกิดการยอมรับจากสังคมและก้าวผ่านความคิดเห็นที่ขัดแย้งในครั้งนี้ให้ได้

 

 

ด้าน นายเจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า การประกาศยุบสภาของนายกฯ ไม่สามารถสยบการเคลื่อนไหวของมวลชน กปปส. ได้ ส่วนตัวมองว่าการยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ทั้งที่บ้านเมืองไม่มีสภาวะความพร้อมอาจจะยิ่งทำให้เกิดปัญหา อีกทั้งข้อเสนอของ กปปส. ที่ต้องการสภาประชาชน แต่รัฐบาลเลือกที่จะยุบสภาเลือกตั้งใหม่ อาจทำให้ฝ่ายการเมืองทั้ง 2 ขั้ว จะเกิดการไม่ยอมรับกันและกัน และส่งผลให้สังคมไม่สงบได้

ดังนั้น ทางออกของปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น คือ รัฐบาลต้องลาออกจากการรักษาการ เพื่อเปิดทางให้ใช้การพิจารณาตามหลักประเพณีการปกครองที่ไม่ได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันผู้ชุมนุมต้องถอยอย่าดึงดันที่จะตั้งสภาประชาชนตามอำเภอใจ เพราะ กปปส.ไม่ใช่เจ้าของประเทศ

 

 

ส่วนมุมมองของภาคเอกชน นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานสภาหอการค้าไทย มองว่า การยุบสภาช่วยคลายความตึงเครียดของสถานการณ์ แต่การเลือกตั้งใหม่ไม่ช่วยแก้ไขคุณภาพนักการเมือง ซึ่งเป็นต้นตอของวิกฤตการเมือง และเป็นอุปสรรคต่อการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว

ทั้งนี้ หากเลือกตั้งใหม่โดยไม่ปฏิรูปนักการเมือง ทำให้ความเสี่ยงทางการเมืองในกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงมีอยู่ จึงเสนอให้มี องค์กรกลางร่างข้อตกลงสัญญาประชาคม เพื่อเป็นกรอบปฏิบัติสำหรับนักการเมืองที่ดี ก่อนกลับเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งใหม่

 

 

ขณะที่ นายอิสสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บอกถึงผลการหารือของภาคเอกชน 7 องค์กร ถึงแนวทางการคลี่คลายวิกฤติการเมือง หลังจากรัฐบาลประกาศยุบสภาว่า ภาคเอกชนต้องการให้มีการวางแนวทางการปฏิรูปประเทศตามระบอบประชาธิปไตยทุกด้าน ทั้งด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งใหม่ใน 60 วัน และเอกชนพร้อมที่จะเป็นเวทีกลางให้ทุกภาคี รวมทั้งสื่อมวลชน มาเสนอความเห็นและแนวทางที่จะเป็นประโยชน์กับประเทศและประชาชนทุกคน ซึ่งได้ตั้งทีมทำงานขึ้นมา 1 ชุดประสานกับทุกภาคี เพื่อหวังให้ประเทศสงบสุขสันติอย่างสมบูรณ์ และไม่เกิดปัญหาซ้ำแบบเดิมอีกหลังการเลือกตั้งครั้งใหม่

ซึ่ง 7 องค์กร ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย,สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย,สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย,สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย,ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย


LastUpdate 10/12/2556 21:41:42 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 7:24 pm