แบงก์-นอนแบงก์
AIA สำรวจพบไทยแชมป์ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพสูงสุด


 

 

 

กลุ่มบริษัทเอไอเอ เผยประเทศไทยมีคะแนนการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพสูงสุดในภูมิภาค ด้วยคะแนน 61 คะแนนจากคะแนนเต็มร้อย จากการสำรวจดัชนีเฮลธ์ตี้ ลิฟวิ่ง (Healthy Living Index Survey) ประจำปี 2556 ในกลุ่มตัวอย่างประชากรวัยทำงานกว่า 10,000 คน จาก 15 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยคะแนนของไทยเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ทำได้ 57 คะแนน ในปี 2554 แต่ผลการสำรวจดังกล่าวนี้ยังไม่ครอบคลุมรูปแบบในการดำเนินชีวิตแบบสมัยใหม่ที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต อาทิ พฤติกรรมการติดอินเทอร์เน็ต และความกังวลเรื่องการมีน้ำหนักตัวมากเกินไป

 

 

 

นายมาร์ค ทักเกอร์ ประธานคณะกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัท เอไอเอ เผยว่า “ด้วยความมุ่งมั่นในการส่งเสริมให้ประชาชนในภูมิภาคมีชีวิตที่ยืนยาวและมีสุขภาพที่ดีขึ้น เอไอเอจึงสร้างการตื่นตัวและการรับรู้ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชากรวัยทำงาน โดยทำการสำรวจในตลาด 15 ประเทศทั่วเอเชีย-แปซิฟิก รวมทั้งประเทศไทยด้วย”


จากการสำรวจพบว่า ประชากรไทยในวัยทำงานมีความพึงพอใจในสุขภาพของตนเองลดลง เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค (6.8 ต่อ 7.0 จากทั้งหมด 10 คะแนน) 67% ของประชากรวัยทำงานในประเทศไทยเห็นด้วยกับข้อความที่ว่า “สุขภาพของฉันไม่ได้ดีเหมือนเช่นเมื่อ 5 ปี ที่แล้ว” ซึ่งรวมถึงผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี ที่สูงถึง 61% จากผลการสำรวจทั้งหมด

โรคติดอินเทอร์เน็ตส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ การออกกำลังกาย และบุคลิกภาพ

การสำรวจในปีนี้ยังได้วิจัยถึงพฤติกรรมการติดอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่ส่งผลต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี แม้ว่าการเข้ามามีบทบาทของอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยจะยังไม่สูงเท่ากับตลาดอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ แต่ผลการสำรวจประชากรวัยทำงานไทยพบว่า 78% เห็นด้วยว่าการติดต่อสื่อสารทางโซเชียลเน็ตเวิร์คเป็นการเสพติดชนิดหนึ่ง โดย ตัวเลขดังกล่าวนับว่าเป็นเปอร์เซนต์ที่สูงที่สุดในภูมิภาค

 

 


แนวโน้มการติดอินเทอร์เน็ตยังเพิ่มสูงขึ้นอีกในหมู่เยาวชนที่เติบโตในยุคที่อินเตอร์เน็ตกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน  การขยายตัวของโรคติดอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมีผลในเชิงลบ เนื่องจากอาการติดอินเทอร์เน็ตส่งผลให้ออกกำลังกายน้อยลง พักผ่อนน้อยลง และมีผลเสียต่อบุคลิกภาพ

การพักผ่อนอย่างเพียงพอได้รับการจัดอันดับว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดต่อการมีสุขภาพที่ดี ขณะที่ประชากรวัยทำงานในประเทศไทยต้องการเวลาในการพักผ่อนอย่างต่ำ 8 ชั่วโมง แต่ในความเป็นจริง เฉลี่ยเพียง  6.3 ชั่วโมง ถือว่ามีการพักผ่อนน้อยสูงเป็นอันดับสองในภูมิภาค อีกทั้งการใช้เวลาท่องโลกออนไลน์ยังเป็นหนึ่งในสาเหตุของการพักผ่อนไม่เพียงพออีกด้วย

การคลายความเครียดด้วยการพักผ่อนถือว่ามีผลต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี


แม้ว่าประเทศไทยยังตามหลังอยู่ในด้านการมีสุขนิสัยที่ดี แต่ก็มีการพัฒนาไปในทางที่ดีให้เห็นมากขึ้น โดย 73% ของประชากรวัยทำงานบอกว่าพวกตนออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจาก  63% ในปี พ.ศ.2554 โดยเฉลี่ยแล้วคนไทยจะใช้เวลาออกกำลังกาย 2.7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้นจากปีพ.ศ.2554 ที่อัตรา 2.5% ซึ่งก็ยังต่ำกว่าสถิติของประเทศในภูมิภาคที่มีค่าเฉลี่ย 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และต่ำกว่าที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำไว้

 

 

วิธีในการคลายความเครียดที่พบบ่อยๆของคนไทยคือ  คือ การชมรายการโทรทัศน์/ดูภาพยนตร์ (75%) ใช้เวลาท่องโลกออนไลน์ (64%) เล่นคอมพิวเตอร์หรือเล่นเกมโทรศัพท์มือถือ (63%) ซึ่งทั้งหมดถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาค   และสูงกว่าการใช้เวลาในการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา (46%)

นอกจากนั้น การสังสรรค์กับเพื่อนฝูง (43%) และการใช้เวลากับครอบครัวหรือลูกๆ (43%) ก็เป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมในการขจัดความเครียดของชาวไทยวัยทำงาน อย่างไรก็ตามแนวโน้มของวิธีการผ่อนคลายแบบนั่งติดอยู่กับที่ก่อให้เกิดผลในแง่ลบต่อการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพอันเนื่องจากพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตมากเกินไป ซึ่งอาจมีผลบั่นทอนสุขนิสัยในแง่อื่นๆ ที่ผ่านการปรับปรุงจนดีขึ้น

ความกังวลเกี่ยวกับโรคอ้วนเป็นผลกระทบจากนิสัยการบริโภคที่แย่ลงซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน โดยประชากรวัยทำงานราว 68% บอกว่าต้องการลดน้ำหนัก และ 88% เห็นด้วยกับโรคอ้วนในกลุ่มคนวัยเด็กเรื่องที่น่าเป็นห่วง และเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ดูเหมือนว่าจะมีอัตราสูงขึ้น

วิถีชีวิตที่ทันสมัยสร้างแรงกดดันต่อคุณภาพชีวิตที่ดี

จากปัญหาความกังวลต่อเรื่องความปลอดภัยในอาหารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปทั่วโลก กลายเป็นความกังวลที่เกิดขึ้นต่อความปลอดภัยและความซื่อตรงที่เพิ่มทวีคูณขึ้นในภูมิภาค รวมถึงประเทศไทย จากการสำรวจ ชาวไทย 69% บอกว่าตนเองมีความกังวลเรื่องส่วนผสมในอาหารที่เป็นอันตราย และ 74% กล่าวว่าส่วนประกอบในอาหารไม่ตรงกับฉลาก หรือ 70% คิดว่าอาหารที่ซื้ออาจจะเสียแล้ว


มลภาวะยังเป็นปัญหาสร้างความกังวลอย่างมากในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งในประเทศไทยนั้น 97% ของประชากรวัยทำงานรู้สึกว่ามลภาวะเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างแท้จริง ซึ่งประชากรวัยทำงานในประเทศไทยมีความกังวลในมลภาวะทางอากาศมากที่สุดคิดเป็น 78% ตามด้วยมลภาวะในดิน (62%) มลภาวะทางน้ำ (58%) และอีก 53% กังวลเรื่องระบบการจำกัดของเสียที่เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นปัญหาที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการใช้เทคโนโลยี

ความกังวลเรื่องสุขภาพสูงขึ้น แต่ยังขาดความเคร่งครัดในการลงมือปฏิบัติ

ในปัจจุบัน คนไทยมีความกังวลในโรคต่างๆ ได้แก่ โรคมะเร็ง  (48%) การมีภาวะน้ำหนักเกิน (32%) และโรคหัวใจ (30%) อย่างไรก็ดี ด้วยความกังวลในโรคดังกล่าว ยังมีประชากรไทยเพียง 55% เท่านั้นที่ทำการตรวจสุขภาพในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา จากการศึกษาพบว่าประชากรวัยทำงานในประเทศไทยราว 83% รู้สึกว่านายจ้างควรจะส่งเสริมลูกจ้างมีไลฟ์สไตล์รักสุขภาพ โดยจัดให้มีการตรวจสุขภาพฟรีไม่ใช่จำกัดเพียงลูกจ้างที่มีความเครียด หรือจัดให้ลูกจ้างได้ออกกำลังก่อนไปทำงานหรือหลังจากทำงานด้วย


ทั้งนี้ นายซาลูน ธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอ ประเทศไทย เปิดเผยว่า “ผลการสำรวจจากประเทศไทยประจำปี 2556 นั้นน่ายินดีในหลายเรื่อง แต่ก็มีด้านอื่นๆ ที่น่าเป็นห่วงเช่นกัน การปรับตัวเรื่องการออกกำลังกายและนิสัยการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพถือว่าพัฒนาไปในเชิงบวก อย่างไรก็ตามวิถีชีวิตปัจจุบันส่งผลต่อประชากรไทยวัยทำงานที่อาจจะเป็นไปในทางตรงข้าม แนวทางที่ปฏิบัติคือ การอยู่นิ่งเพื่อช่วยผ่อนคลายความเครียดที่เป็นตัวปัญหา อย่างไรก็ตาม เอไอเอจะยังคงส่งเสริมทัศนคติเชิงบวกและพฤติกรรมการรักสุขภาพแก่ลูกค้าต่อไป”


สำหรับดัชนีพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ (Healthy Living) ของเอไอเอเปิดตัวครั้งแรกในปี พ.ศ.2554 โดยเป็นการสำรวจที่จัดทำขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจต่อผู้คนที่ใส่ใจในสุขภาพและมีนิสัยรักสุขภาพ ตลอดจนความกังวลและความหวังเพื่อให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น

ผลการสำรวจนี้ได้ดำเนินโดยกลุ่มบริษัทเอไอเอ และทำการสำรวจโดย บริษัท ทีเอ็นเอส (TNS) บริษัทวิจัยอิสระระดับโลก สำหรับปี พ.ศ.2556 ได้ทำการสำรวจโดยใช้การสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัวกับประชากรวัยทำงานที่มีอายุระหว่าง 18-65 ปี จำนวน 10,245 คน (รวมประชากรวัยทำงานในประเทศไทยจำนวน 750 คน) ในตลาดทั้งหมด 15 แห่ง ครอบคลุมประเทศจีน ฮ่องกง มาเก๊า สิงคโปร์ มาเลเซีย ประเทศไทย เกาหลี ไต้หวัน อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์  เวียดนาม ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และศรีลังกา

 


LastUpdate 17/12/2556 12:06:47 โดย : Admin
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 10:59 am