แบงก์-นอนแบงก์
"กองทุนภัยพิบัติ" เล็งกดเบี้ยลงปีหน้า กระตุ้นตลาดพุ่งขึ้น หลังแผนลงทุนโครงการน้ำเลื่อน



 
"กองทุนภัยพิบัติ"เล็งปีหน้าหั่นเบี้ยลงอีก หวังกดอัตราเบี้ย กระตุ้นแรงแข่งขันในตลาด หลังเจอปัญหาการเมือง-ยุบสภา เลื่อนแผนโครงการลงทุนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน หวั่นรีอินชัวเรอร์โขกเบี้ยแพงทั้งที่ความเสี่ยงลดแล้ว พร้อมกระตุ้นแรงซื้อต่อเนื่องแม้ 2 ปีไร้ภัยพิบัติรุนแรง
 

 

นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในฐานะกรรมการกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการกองทุนมีแผนจะประชุมเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขการรับประกันภัยพิบัติใหม่ในเร็วๆ นี้ โดยมีเป้าหมายจะผลักดันให้ตลาดปรับลดอัตราเบี้ยประกันภัยพิบัติลงจากปัจจุบัน
 
ทั้งนี้ ที่ผ่านมากองทุนฯ ได้ออกเงื่อนไขการรับประกันภัยพิบัติใหม่ โดยกรณีประกันภัยพิบัติสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีและธุรกิจรายใหญ่ ซึ่งเดิมกำหนดอัตราเบี้ยไว้ 1% และ 1.25% ตามลำดับนั้น ในกรณีที่บริษัทประกันภัยสามารถเสนอราคาเบี้ยที่ต่ำกว่าอัตราดังกล่าวได้ไม่น้อยกว่า 20% สามารถรับเสี่ยงภัยเองได้โดยไม่ต้องส่งเข้ามาที่กองทุนฯ ขณะที่อัตราเบี้ยประกันภัยพิบัติสำหรับรายย่อยยังคิดอัตรา 0.5% เท่าเดิม
 
"การประชุมครั้งต่อไปน่าจะหารือกันในเรื่องนี้เพื่อพยายามกดค่าเบี้ยประกันภัยพิบัติในตลาดลงอีก และคงใช้วิธีปรับเงื่อนไขในลักษณะที่กองทุนฯ สามารถกำหนดได้เอง โดยกรณีที่สามารถเสนอราคาเบี้ยต่ำกว่าอัตราของกองทุนฯ ก็จะสามารถรับประกันภัยได้เองโดยไม่ต้องส่งเข้ามาที่กองทุนฯ ซึ่งวิธีนี้กองทุนฯ สามารถดำเนินการได้ทันทีโดยมติของคณะกรรมการกองทุนฯ ไม่ต้องไปผ่านมติของคณะรัฐมนตรี”
 
สำหรับเหตุผลในการปรับลดอัตราเบี้ยประกันภัยพิบัติดังกล่าว นายประเวชกล่าวว่า นอกจากเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคแล้ว ในสถานการณ์การเมืองปัจจุบันและการประกาศยุบสภา ทำให้มีโอกาสสูงมากที่โครงการลงทุนเพื่อบริหารจัดการน้ำมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท อาจจะต้องเลื่อนกำหนดเวลาออกไป
 
เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า โครงการลงทุนเพื่อบริหารจัดการน้ำ จะมีผลในแง่ลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติของประเทศไทยลงไปได้อีกมาก โดยเฉพาะในแง่การฟื้นความเชื่อมั่นของรีอินชัวเรอร์ในต่างประเทศ หลังจากเกิดความเสียหายจากน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2554 แต่เมื่อโครงการนี้ต้องเลื่อนออกไป ก็จะมีผลต่อการซื้อประกันภัยพิบัติจากต่างประเทศเช่นกัน เบี้ยประกันก็อาจจะไม่ได้ลดลงอย่างที่ควรจะเป็น แม้ว่าภาพความเสี่ยงภัยพิบัติในไทยจะเริ่มดีขึ้นแล้วก็ตาม
 

 

“เมื่อกลไกนี้ยังเดินไปไม่ได้ในปีหน้า เราก็น่าจะใช้กองทุนฯ เข้ามาเป็นกลไกที่ช่วยกดให้อัตราเบี้ยประกันภัยในตลาดลดลงไปอีก เพื่อพยายามชดเชยกับแรงซื้อประกันภัยพิบัติที่อาจจะลดลง เพราะสถานการณ์ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยก็ไม่มีเหตุภัยพิบัติที่รุนแรงเกิดขึ้นซ้ำเหมือนเมื่อปี 2554 ความวิตกของประชาชนก็อาจจะลดลง เราก็ต้องทำให้อัตราเบี้ยต่ำลงเพื่อดึงดูดให้ประชาชนยังซื้ออยู่ เพราะจะได้เห็นว่าไม่เป็นภาระมากเกินไป” นายประเวชกล่าว
 


LastUpdate 17/12/2556 17:40:26 โดย : Admin
02-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 2, 2024, 5:02 am