หุ้นทอง
ไทยออยล์มองแนวโน้มอุปทานสูงกดราคาน้ำมันปี 2557


 

 

 

ไทยออยล์สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในปี 2556 มีค่าเฉลี่ยที่ 106 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล พร้อมคาดการแนวโน้มสถานการณ์ฯ ในปี 2557 ชี้อุปทานน้ำมันโลกที่ยังสูง รวมถึงในสหรัฐ แคนาดาและจีนกดราคาน้ำมัน โดยราคาน้ำมันดิบดูไบจะมีราคาเฉลี่ยที่ 102 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

 

 

ราคาน้ำมันดิบในปี 2556 มีการเคลื่อนไหวผันผวนตลอดทั้งปี โดยราคาน้ำมันดิบดูไบเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 95 – 115 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และมีราคาเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 106 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปรับลดลงจากราคาเฉลี่ยในปี 2555 ที่ 109 เหรียญสหรัฐฯ โดยราคาน้ำมันดิบในช่วงต้นปีถือว่าปรับเพิ่มขึ้นจากปลายปี 2555 เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการผลิตของทั้งสหรัฐฯ และจีนออกมาดี ทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบปรับเพิ่มขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบปีที่ 113 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาหน้าผาการคลังและปัญหาหนี้ชนเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ขณะเดียวกันการเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการของผู้นำคนใหม่ของจีนในเดือนมีนาคม ทำให้ราคาน้ำมันปรับลดลงต่อเนื่อง ทั้งนี้เนื่องจากนโยบายปฏิรูปทางเศรษฐกิจทำให้ตลาดเกิดความกังวลว่านโยบายใหม่นี้จะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันของประเทศผู้บริโภคน้ำมันหลักอันดับที่ 2 ของโลกปรับตัวลดลง

โดยในไตรมาสที่ 2 ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันอย่างหนักจากสภาพเศรษฐกิจโลกที่อ่อนตัวลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะหนี้ในยุโรปที่รุนแรงขึ้นในไซปรัสและเศรษฐกิจของจีนที่แย่ลงจนทำให้ทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ออกมาปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของปี 2556 ลงเหลือ 7.7 - 7.8% ซึ่งเศรษฐกิจจีนที่แย่ลงนี้ยังส่งผลต่อเนื่องให้ไอเอ็มเอฟและธนาคารโลกปรับลดคาดการณ์จีดีพีโลกปี 2556 ลงเหลือ 3.3% และ 2.4% ตามลำดับด้วย ซึ่งในช่วงไตรมาสที่ 2 นี้ 3 สถาบันพลังงานหลักของโลก IEA EIA และ OPEC ต่างออกมาปรับลดคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันโลกปี 2556 ลงอย่างต่อเนื่องด้วย

แต่ในไตรมาสที่ 3 ราคาน้ำมันกลับปรับตัวพุ่งสูงขึ้นมาก ทั้งนี้เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันหลักของโลกหลายประเทศ ได้แก่ การใช้อาวุธเคมีในซีเรียซึ่งสร้างความกังวลต่อการใช้กำลังทางทหารเข้าแทรกแซงซีเรียโดยสหรัฐฯ การประท้วงปิดท่าเรือขนส่งน้ำมันดิบในลิเบียซึ่งทำให้กำลังการผลิตน้ำมันดิบลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 0.55 ล้านบาร์เรลต่อวันในไตรมาส 3/56 จากประมาณ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงเดือนมิถุนายน การปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีและทหารในอียิปต์ รวมไปถึงเหตุการณ์การระเบิดท่อน้ำมันดิบในอิรักและการขโมยน้ำมันจากท่อขนส่งในไนจีเรีย ล้วนส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบโลกเกิดความตึงตัว

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบไม่ได้ยืนอยู่ที่ระดับสูงนานนักเพราะหลังจากที่เหตุการณ์ความไม่สงบในซีเรียและอียิปต์คลี่คลายลงในช่วงปลายเดือนกันยายน ส่งผลให้ตลาดคลายความกังวลเรื่องอุปทานน้ำมันดิบในตะวันออกกลางตึงตัวลงได้ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังปรับตัวลดลงต่อเนื่องในช่วงต้นของไตรมาสที่ 4 หลังสหรัฐฯ ต้องประสบกับปัญหาวิกฤติงบประมาณรายจ่าย ซึ่งส่งผลให้หน่วยงานราชการ จำเป็นต้องปิดตัวลงชั่วคราวเป็นเวลา 17 วัน และทำให้ข้าราชการต้องหยุดงานกว่า 8 แสนคน โดยเหตุการณ์นี้สร้างความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และกระทบต่อราคาน้ำมันดิบเป็นอย่างมาก แต่เหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศลิเบียที่ปะทุรุนแรงขึ้นอีกครั้งส่งผลให้การผลิตและส่งออกน้ำมันดิบของลิเบียปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบปี ขณะที่การเจรจาเพื่อหาข้อสรุปเรื่องปัญหานิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านกับชาติมหาอำนาจตะวันตก 6 ชาติ ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ดูจะไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน จึงเป็นเหตุให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้ง แม้ในภายหลังการเจรจาเรื่องโครงการนิวเคลียร์อิหร่านจะประสบความสำเร็จด้วยข้อตกลงว่าด้วยการควบคุมการสะสมแร่ยูเรเนียมของอิหร่าน เพื่อแลกกับการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรเป็นเวลา 6 เดือน แต่หลายฝ่ายยังคงมองว่าการบรรลุข้อตกลงดังกล่าวถือว่ายังอยู่ในขั้นตอนเบื้องต้น และการที่อุปทานน้ำมันดิบจากอิหร่านจะกลับมาอยู่ในระดับเดิมที่ราว 2.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ได้นั้นคงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6-12 เดือน

 

 

ภาวะตลาดน้ำมันดิบและคาดการณ์แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในปี 2557

ในปี 2557 คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ระดับประมาณ 102 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งถือว่าปรับลดลงเล็กน้อยจากราคาเฉลี่ยในปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 106 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทั้งนี้เนื่องจากมีแนวโน้มว่าอัตราการขยายตัวของอุปทานน้ำมันดิบโลกจะเพิ่มขึ้นสูงกว่าอัตราการขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันโลก โดยอุปทานน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นมากนั้น ส่วนใหญ่เป็นอุปทานน้ำมันดิบที่มาจากประเทศผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปก ได้แก่ สหรัฐฯ และแคนาดา เป็นต้น อย่างไรก็ดี ความไม่สงบในประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลก ได้แก่ ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ รวมถึงภัยธรรมชาติและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ จะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบดูไบปรับลดลงไม่มากนัก และจะยังคงมีความผันผวนตลอดทั้งปี

เศรษฐกิจโลก: IMF คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2557 จะขยายตัวในอัตราร้อยละ 3.6 (รายงาน ณ เดือนตุลาคม 2556) ปรับเพิ่มขึ้นจากประมาณการปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.9 โดยเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้วจะเติบโตที่ร้อยละ 2.0 ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศที่กำลังพัฒนารวมถึงจีน อินเดีย และหลายๆ ประเทศในเอเชียเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 5.1

อุปทานน้ำมันดิบ: อุปทานน้ำมันดิบโลกในปี 2557 ถือว่ามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องด้วยอัตราที่เพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ได้คาดการณ์ว่าอุปทานน้ำมันดิบจากผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกในปี 2557 (รายงาน ณ เดือน ธ.ค. 2556) ปรับเพิ่มขึ้น 1.72 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปี 2556 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Tight oil) ของสหรัฐฯ ขณะเดียวกันการผลิตน้ำมันดิบจากผู้ผลิตหลักในโอเปกอย่างอิรักคาดว่าจะเพิ่มขึ้นราว 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 2557 หากโครงการสร้างแหล่งผลิตน้ำมันดิบของประเทศเสร็จสิ้นตามกำหนดการ

อุปสงค์น้ำมันสำเร็จรูป: ความต้องการใช้น้ำมันของโลกยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันของโลกในปี 2557 (รายงาน ณ เดือน ธ.ค. 2556) จะเฉลี่ยอยู่ที่ 92.37 ล้านบาร์เรลต่อวัน ปรับเพิ่มขึ้น 1.20 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปี 2556 โดยความต้องการหลักยังคงมากจากประเทศกำลังพัฒนาอย่างจีนและอินเดีย ขณะเดียวกันเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหภาพยุโรปมีแนวโน้มจะขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 2-3 ปี

สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศในตะวันออกกลาง: แม้การเจรจาระหว่างอิหร่านและชาติมหาอำนาจ 6 ชาติจะสิ้นสุดลงด้วยข้อตกลงที่อิหร่านจะยุติการพัฒนาสมรรถนะแร่ยูเรเนียมไม่ให้ไปถึงระดับที่จะสามารถนำไปผลิตเป็นอาวุธนิวเคลียร์ได้ เพื่อแลกกับการลดทอนมาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันดิบของอิหร่าน แต่การที่อุปทานขาดหายไปช่วงหนึ่งนั้น กว่าอิหร่านจะกลับมาส่งออกน้ำมันได้เต็มที่อีกครั้งยังคงต้องอาศัยเวลาในการฟื้นฟูอุปกรณ์การดำเนินการต่างๆ และอาจใช้เวลาอย่างน้อย 6-12 เดือน เพื่อที่จะทำให้น้ำมันดิบจากอิหร่านอีกราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน กลับมาสู่ตลาดเหมือนช่วงก่อนที่จะถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก ขณะที่การประท้วงและเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศลิเบียที่ดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องจะยังคงกดดันให้ลิเบียไม่สามารถที่จะกลับมาส่งออกน้ำมันดิบได้ที่ระดับเดิม เหมือนช่วงก่อนจะมีการประท้วงในช่วงกลางปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ในช่วงกลางปีนี้ยังต้องจับตาว่าซีเรียจะสามารถทำตามข้อตกลงที่ได้ให้ไว้กับองค์กรนานาชาติได้หรือไม่ ที่จะให้มีการตรวจสอบและทำลายล้างอาวุธเคมีให้เสร็จสิ้น ซึ่งหากซีเรียไม่สามารถทำตามข้อตกลงได้จริง ก็มีความเสี่ยงที่สหรัฐฯ อาจนำเรื่องการใช้กำลังทางทหารเข้าแทรกแซงในซีเรียกลับขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งก็เป็นได้

 

 

 


LastUpdate 25/12/2556 12:53:23 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 10:36 am