เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
TMB Analytics มองตลาดค้าปลีกสมัยใหม่ใน CLMV สดใส




 

 

 

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics มองตลาดค้าปลีกสมัยใหม่ใน CLMV สดใส ได้อานิสงส์จากพรมแดนติดต่อกัน รวมทั้งผู้บริโภคยังให้การยอมรับในคุณภาพสินค้าไทย แนะเจาะกำลังซื้อของหัวเมืองหลักเป็นสำคัญ 

 

 


ธุรกิจค้าปลีกนับเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทุกประเทศ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการอุปโภคบริโภคในชีวิต ประจำวัน และการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ก็ใกล้เข้ามาทุกขณะ โดยธุรกิจค้าปลีกที่จัดเป็นสาขาหนึ่งในบริการจัดจำหน่าย (Distribution Service) ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเจรจาเพื่อให้มีการเปิดเสรีมากขึ้น และผลักดันให้แต่ละประเทศเปิดตลาดตามข้อตกลง เพื่อที่จะสนับสุนการค้าระหว่างกันและสร้างโอกาสในธุรกิจจัดจำหน่ายให้นักธุรกิจสัญชาติอาเซียนมากขึ้น

 

 

 

โดยเฉพาะ ประเทศกลุ่มอาเซียนใหม่ (กัมพูชา ลาว เมียนม่าร์ และเวียดนาม) หรือ  CLMV ซึ่งอยู่ช่วงต้นของการเปิดและพัฒนาประเทศ การผลิตสินค้าภายในประเทศจึงยังไม่หลากหลาย ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้ ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคจากต่างประเทศจำนวนมาก และการที่ไทยมีพรมแดนติดต่อหรือใกล้เคียงกับประเทศ CLMV จึงนับเป็นข้อได้เปรียบในการส่งสินค้าอุปโภคบริโภคเข้าไปจำหน่าย ซึ่งรวมถึงการเข้าไปลงทุนในธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ ประกอบกับการเข้าสู่ตลาดในช่วงแรกนี้ ตลาดยังเปิดกว้างให้ผู้ประกอบการรายใหม่ๆเข้าไปยึดส่วนแบ่งตลาดได้ไม่ยากนัก  ปัจจุบันในประเทศกลุ่ม CLMV เวียดนามมีสัดส่วนค้าปลีกสมัยใหม่ในสัดส่วนสูงสุดอยู่เพียงร้อยละ 30 ในขณะที่ประเทศ CLM มีค้าปลีกสมัยใหม่ในสัดส่วนที่น้อยกว่านี้

 

 

ธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ของไทยเอง ก็เริ่มเข้าไปบุกตลาดเพื่อนบ้านบ้างแล้ว ได้แก่ Big C, BJC และ CP Fresh Mart ซึ่งนอกจากนักธุรกิจไทยจะให้ความสนใจแล้ว ปัจจุบันยังมีนักธุรกิจต่างชาติที่ทะยอยเข้าไปเปิดตลาดเช่นเดียวกัน ได้แก่ กลุ่มทุนจีนและเกาหลีใต้ ที่เปิดห้างสรรพสินค้าและ Hypermarket ใน สปป.ลาว และ เวียดนาม อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคในประเทศ CLMV ยังนิยมชมชอบสินค้าไทย และให้การยอมรับในคุณภาพมากกว่าสินค้าจากจีน

ทั้งนี้ ประเทศกลุ่ม CLMV ยังมีรายได้ต่อหัวของประชากรไม่สูงมากนัก แม้กระทั่งเมื่อเทียบรายได้ต่อหัวของประเทศไทยที่ 5,390 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดย เวียดนามเป็นประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีสูงสุดในกลุ่มคือ 1,752 ดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาได้แก่ สปป.ลาว 1,379 กัมพูชา 925 และพม่า 868 ดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ อีกทั้ง มีความแตกต่างของรายได้ระหว่างจังหวัดค่อนข้างมาก ดังนั้นการเลือกเปิดร้านค้าปลีกสมัยใหม่ใน CLMV จึงต้องคำนึงถึงกำลังซื้อของประชากรในหัวเมืองหลักเป็นสำคัญ

โดยพบว่า ประเทศที่ผู้ประกอบการไทยควรไปเปิดตลาดค้าปลีกประเภท Hypermarket, Discount Store, Supermarket มากที่สุด ได้แก่เมืองใหญ่ๆในเวียดนาม อาทิ ฮานอย ไซ่ง่อน ไฮฟอง ดานัง และเว้ รองลงมาเป็นสปป.ลาว ที่เมืองเวียงจันทน์ และสุวรรณเขต ส่วนในเมียนม่าร์ที่เมืองเนปิดอร์และย่างกุ้ง และในกัมพูชา ควรจะให้ความสนใจในกรุงพนมเปญและพระตะบอง ขณะที่ค้าปลีกประเภทสะดวกซื้อ เหมาะสมสำหรับเปิดในเวียดนามที่สุด เนื่องจากไม่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับค้าปลีกขนาดเล็ก ขณะที่เมียนม่าร์ไม่อนุญาตให้ร้านค้าเปิดหลังเที่ยงคืน จึงไม่เหมาะสมสำหรับร้านคอนวีเนียนสโตร์ที่ต้องเปิดตลอด 24 ชั่วโมง

ทว่า การเปิดเสรีตลาดค้าปลีกในประเทศกลุ่ม CLMV หลายประเทศมีลักษณะไม่เปิดเสรีเต็มที่ในแง่การให้ต่างชาติเข้าถือหุ้นทั้งหมด ประเทศไทยนับว่าเปิดให้ต่างชาติเข้าถือหุ้นน้อยที่สุดเพียง 49% เท่านั้น ขณะที่เวียดนามและกัมพูชาเปิด 100% สปป.ลาวเปิดในค้าปลีกขนาดใหญ่ แต่จำกัด 49% ในธุรกิจค้าส่ง และไม่เปิดเลยในค้าปลีกขนาดเล็ก และเมียนม่าร์เปิดระหว่าง 35-100% แล้วแต่กรณี ดังนั้นการเข้าไปเปิดตลาดในประเทศเหล่านี้ จึงควรมีลักษณะร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการท้องถิ่น ซึ่งมีความเข้าใจตลาดภายในประเทศเป็นอย่างดี รวมทั้งมีเครือข่ายการจำหน่ายที่กว้างขวางกว่า

จึงสรุปได้ว่า การเปิดเสรีในหมวดบริการจัดจำหน่ายในกลุ่มประเทศ CLMV นั้น นับเป็นการเปิดโอกาสอย่างมากให้กับธุรกิจค้าปลีกไทย ที่มีทั้งจุดแข็งทั้งทางภูมิศาสตร์และสินค้าในการเลือกเข้าไปขยายตลาดในประเทศเพื่อนบ้านได้ก่อนคู่แข่งอื่นๆจะคว้าไป แต่ควรอยู่บนพื้นฐานของพันธมิตรทางธุรกิจที่แข็งแกร่งที่จะช่วยให้เราเจาะและขยายตลาดในแต่ละประเทศได้ง่ายขึ้น

 

 

 

 

 


LastUpdate 25/12/2556 14:12:20 โดย : Admin
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 11:28 pm