เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
SCB EIC วิเคราะห์ ส่งออกไทยพ.ย.มูลค่าต่ำสุดในรอบ 7 เดือน


 

 

 

SCB EIC นำเสนอบทวิเคราะห์ด้านส่งออกไทยเดือนพ.ย.มีมูลค่าต่ำสุดในรอบ 7 เดือน เชื่อการส่งออกไทยยังคงอยู่ในภาวะอ่อนแอและจะหดตัวต่อเนื่องถึงสิ้นปี แต่ปี 2014 น่าจะปรับตัวดีขึ้นตามแนวโน้มของเศรษฐกิจในกลุ่ม G3 (สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรป)

 

การส่งออกทอง เหล็ก และรถยนต์ เป็นสาเหตุหลักของการหดตัวในเดือนพฤศจิกายน โดยการส่งออกทองและเหล็กหดตัวอย่างรุนแรงถึง 63.2%YOY และ 54.5%YOY ตามลำดับ โดยการส่งออกเหล็กที่หดตัวรุนแรงนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานที่สูงในปีก่อนหน้าจากการส่งออกไปยังประเทศนอร์เวย์ซึ่งไม่ใช่ตลาดส่งออกหลักของเหล็กไทย โดยหากไม่รวมนอร์เวย์ การส่งออกเหล็กจะหดตัวประมาณ 17%YOY ขณะที่การส่งออกรถยนต์ไปยัง 2 ตลาดหลักอันได้แก่ออสเตรเลียและอินโดนีเซียยังคงหดตัว โดยเฉพาะอินโดนีเซียซึ่งหดตัวราว 40%YOY

อย่างไรก็ตามการส่งออกสินค้าหลักที่เคยเป็นปัญหาในช่วงก่อนหน้าอย่างคอมพิวเตอร์และยางพาราปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยในเดือนพฤศจิกายนการส่งออกคอมพิวเตอร์ขยายตัวได้ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ขณะที่ยางพาราขยายตัวได้เป็นเดือนที่ 2ติดต่อกัน   

การนำเข้าของกลุ่มปยังคงหดตัว การนำเข้าหดตัวเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานที่สูงจากการเร่งนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ในช่วงปลายปีก่อนหน้า โดยการนำเข้ารถยนต์และส่วนประกอบหดตัวถึง 30.7%YOY นอกจากนี้ การนำเข้าเครื่องจักรยังคงมีมูลค่าในระดับต่ำและหดตัวในอัตราที่ค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนที่ลดลงตามอุปสงค์ในประเทศที่ยังเปราะบาง และการส่งออกที่อยู่ในภาวะอ่อนแอ 

ในขณะที่ดุลการค้าขาดดุล 557 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่หากไม่รวมทอง ดุลการค้าจะเกินดุลประมาณ 115 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 

SCB EIC มองการส่งออกจะฟื้นตัวได้ในปีหน้า แม้ว่าการส่งออกในช่วงปลายปีจะหดตัวอย่างต่อเนื่อง และมีมูลค่าอยู่ในระดับต่ำจนอาจทำให้การส่งออกในปี 2013 มีโอกาสสูงที่จะไม่ขยายตัว แต่การส่งออกในปี 2014 น่าจะปรับตัวดีขึ้นตามแนวโน้มของเศรษฐกิจในกลุ่ม G3 (สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรป) โดยการส่งออกในสามสินค้าหลักของไทยอันได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้า น่าจะขยายตัวได้ในระดับที่ดี

 

 

 

 

 

 

 

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)นำเสนอบทวิเคราะห์เรื่อง "ส่งออกไทยเดือนพฤศจิกายน มูลค่าต่ำสุดในรอบ 7 เดือน" ซึ่งได้หยิบยกตัวเลขการรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ที่ระบุว่า มูลค่าการส่งออกของไทยเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 18.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว 4.1% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า(YOY) ขณะที่มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 19.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว 8.6% YOY ส่วนดุลการค้าขาดดุล 557 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

SCB EIC วิเคราะห์ว่า การส่งออกไทยยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง การส่งออกของไทยยังคงอยู่ในภาวะอ่อนแอ โดยการหดตัวในเดือนพฤศจิกายนนั้น นับเป็นการหดตัวเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันแล้ว ซึ่งนอกจากอัตราการขยายตัวที่ติดลบแล้ว มูลค่าการส่งออกในเดือนพฤศจิกายนยังเป็นมูลค่าที่ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมาอีกด้วย 

การส่งออกไปยังอาเซียนหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน โดยการส่งออกไปยังตลาดอาเซียนห้า (บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์) ซึ่งมีสัดส่วนต่อการส่งออกทั้งหมดถึง 17% หดตัวค่อนข้างมากประมาณ 10.3%YOY ในเดือนพฤศจิกายน โดยเฉพาะอินโดนีเซียและสิงคโปร์ที่หดตัวเฉลี่ยถึง 18%YOY ส่งผลให้การส่งออกไปยังอาเซียนทั้งหมด 9 ประเทศหดตัว 2.2%YOY นับเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม

อย่างไรก็ดีการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV และตลาดหลักอย่าง จีน สหรัฐฯ และยุโรปยังขยายตัวได้ในระดับดี นอกจากนี้การส่งออกไปยังญี่ปุ่นที่หดตัวอย่างต่อเนื่องและรุนแรงในช่วงก่อนหน้าเริ่มมีสัญญาณของการฟื้นตัว โดยมูลค่าการส่งออกไปยังญี่ปุ่นในเดือนพฤศจิกายนมากกว่าในช่วงไตรมาส 3 ประมาณ 121 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมากกว่าเดือนก่อนหน้าถึง 130 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 7%

 

 


LastUpdate 26/12/2556 11:25:14 โดย : Admin
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 4:46 am