หุ้นทอง
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่มีประกัน และแนวโน้ม บ. เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ที่ "A-/Stable"




 
 
 
 
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่มีประกัน และแนวโน้ม บ. เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ปที่ "A-/Stable"สะท้อนสถานะผู้นำในธุรกิจโรงภาพยนตร์ในประเทศไทย 
 
 
 
 
 
 
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะผู้นำในธุรกิจโรงภาพยนตร์ในประเทศไทย ตลอดจนการมีโรงภาพยนตร์ซึ่งตั้งอยู่ในทำเลที่ดีทั่วประเทศ และคณะผู้บริหารที่มีความสามารถ แต่จุดเด่นดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ อาทิ ปริมาณของภาพยนตร์ที่เข้าฉาย ความเป็นที่นิยมของภาพยนตร์ การแข่งขันจากกิจกรรมสันทนาการอื่น ๆ และการแพร่ระบาดของวิดีโอซีดี/ดีวีดีละเมิดลิขสิทธิ์
 
 
 
 
 
 
ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ว่า บริษัทจะสามารถดำรงสถานะผู้นำตลาดในธุรกิจโรงภาพยนตร์และรักษาผลประกอบการให้อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจเอาไว้ได้ โดยที่การลงทุนในอนาคตหรือการจ่ายเงินปันผลจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินและสภาพคล่องของบริษัทอย่างรุนแรงด้วย
 
 
 
 
 
บริษัทเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป เป็นผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 70% โดยพิจารณาจากรายได้รวมของภาพยนตร์ที่เข้าฉายในสัปดาห์แรก บริษัทก่อตั้งในปี 2538 โดยนายวิชา พูลวรลักษณ์ ซึ่งปัจจุบันถือหุ้นในสัดส่วน 36% บริษัทดำเนินธุรกิจหลัก 5 ประเภท ได้แก่ โรงภาพยนตร์ โบว์ลิ่งและคาราโอเกะ สื่อและโฆษณา การให้เช่าพื้นที่และบริการ รวมถึงการจัดจำหน่ายวิดีโอซีดี/ดีวีดีและลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 รายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทมาจากธุรกิจโรงภาพยนตร์และธุรกิจโฆษณา โดยรายได้จากธุรกิจโรงภาพยนตร์คิดเป็น 69% ของรายได้ทั้งหมด ในขณะที่รายได้จากธุรกิจโฆษณาคิดเป็น 14% สำหรับธุรกิจอื่น ๆ อีก 3 ประเภทต่างก็มีรายได้คิดเป็นประมาณ 6% ของรายได้ทั้งหมด
 
ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 บริษัทดำเนินกิจการโรงภาพยนตร์ 64 แห่ง โดยมีจำนวนจอภาพยนตร์ทั้งสิ้น 449 จอ และที่นั่ง 107,488 ที่นั่ง ณ ปัจจุบันบริษัทมีโรงภาพยนตร์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 31 แห่งและในต่างจังหวัด 33 แห่ง มีสาขาโบว์ลิ่งและคาราโอเกะ 22 แห่ง ซึ่งประกอบด้วยโบว์ลิ่ง 382 ราง ห้องคาราโอเกะ 246 ห้อง และลานสเกตน้ำแข็ง 3 แห่ง นอกจากนี้ บริษัทยังบริหารจัดการพื้นที่ให้เช่าขนาด 57,376 ตารางเมตร (ตร.ม.) ด้วย นอกจากโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ที่บริษัทได้เปิดดำเนินการเอง 5 แห่งแล้ว บริษัทยังขยายโรงภาพยนตร์ไปตามห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกสมัยใหม่โดยใช้ตราสัญลักษณ์หลากหลายเพื่อดึงดูดลูกค้าหลาย ๆ กลุ่มด้วย
 
ผลประกอบการของบริษัทได้รับแรงหนุนบางส่วนจากการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับตัวแทนผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์และมีโรงภาพยนตร์จำนวนมากครอบคลุมทั่วประเทศ โดยรายได้จากการเข้าชมภาพยนตร์ขึ้นอยู่กับจำนวนภาพยนตร์ที่เข้าฉายรวมถึงคุณภาพและความเป็นที่นิยมของภาพยนตร์ด้วย โดยการชมภาพยนตร์ในโรงเป็นรูปแบบความบันเทิงที่มีราคาไม่แพงและสามารถเข้าถึงได้ง่าย
 
อย่างไรก็ตาม การชมภาพยนตร์ในโรงก็มีความเสี่ยงจากการทดแทนโดยความบันเทิงในรูปแบบอื่น ๆ เช่น กิจกรรมความบันเทิงภายในบ้าน การใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ และกิจกรรมสันทนาการอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม การออกไปชมภาพยนตร์ในโรงยังคงเป็นวิถีชีวิตที่มีเสน่ห์และยังไม่มีกิจกรรมสันทนาการใดที่สามารถทดแทนประสบการณ์จากการชมภาพยนตร์ในโรงได้อย่างสมบูรณ์
 
แม้ว่าจะมีจำนวนภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมจำนวนน้อยกว่าปี 2554 กระนั้น ในปี 2555 บริษัทก็ยังมีรายได้รวมถึง 6,965 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 3% จากปีที่ผ่านมาเนื่องมาจากรายได้จากธุรกิจโฆษณาและการขายอาหารว่างและเครื่องดื่มที่เติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นสำคัญ สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 บริษัทมีรายได้รวมเพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา คิดเป็น 5,915 ล้านบาทจากการมีรายได้จากการฉายภาพยนตร์ที่ดีขึ้นอย่างมากทั้งภาพยนตร์ไทยและภาพยนตร์จากฮอลลีวูด เช่น พี่มากพระโขนง Iron Man 3 และ The Fast and Furious 6 และรายได้จากธุรกิจโฆษณาที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
 
บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายอยู่ที่ระดับ 29% ในปี 2553-2554 แต่ลดลงสู่ระดับ 24.9% ในปี 2555 เนื่องจากผลการดำเนินงานที่อ่อนแอลงในธุรกิจการจัดจำหน่ายวิดีโอซีดี/ดีวีดีและลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ ตลอดจนการให้เช่าพื้นที่และบริการ อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 29% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 เนื่องจากรายได้จากธุรกิจโรงภาพยนตร์ ธุรกิจโฆษณาและการขายอาหารว่างและเครื่องดื่มเติบโตขึ้น บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจากธุรกิจภาพยนตร์คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายทั้งหมด ส่วนธุรกิจโฆษณาสามารถสร้างกระแสเงินสดให้แก่บริษัทอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายต่ำ
 
หนี้สินรวมของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 2,852 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2555 สู่ระดับ 4,358 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 โดยบริษัทนำเงินที่ได้รับจากการกู้ยืมมาใช้ในการขยายสาขา ติดตั้งจอระบบดิจิตัล ในโรงภาพยนตร์ และซื้อหุ้นของ บริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) คืนจากประชาชน อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 55.8% ในปี 2555 สู่ระดับ 58.4% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 โดยระดับอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทคาดว่าจะลดลงเล็กน้อยในระยะปานกลาง โดยการลงทุนในจอระบบดิจิตัลจะได้รับการช่วยเหลือบางส่วนจากผู้ผลิตภาพยนตร์ในระยะปานกลาง บริษัทมีแผนการขยายจำนวนจอภาพยนตร์อีกไม่น้อยกว่า 50 จอในช่วง 3 ปี โดยจะจัดสรรงบลงทุนประมาณปีละ 600 ล้านบาท
 
สภาพคล่องของบริษัทอยู่ในระดับที่น่าพอใจ แม้ว่าเงินทุนจากการดำเนินงานจะปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากระดับ 1,558 ล้านบาทในปี 2554 เป็น 1,347 ล้านบาทในปี 2555 และอยู่ที่ 1,122 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 ก็ตาม อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ประมาณ 20% ในระหว่างปี 2555 ถึงในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 3.8 เท่าในปี 2555 เป็น 4.6 เท่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556
 
บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) (MAJOR)
 
อันดับเครดิตองค์กร: A-
 
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
 
MAJOR165A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 800 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A-
 
MAJOR178A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A-
 
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
 
 
 

LastUpdate 11/01/2557 17:10:44 โดย : Admin
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 6:18 am