เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทยปี 57 ติดหล่ม


 

 

 

 

หลายฝ่ายมอง การชุมนุมของกลุ่ม กปปส.ที่กำหนดชัตดาวน์กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม เป็นจุดเริ่มต้นการเสื่อมถอยของเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้เศรษฐกิจปี 2557 ปรับตัวลดลงอย่างน้อย 1% จากการเติบโตปกติที่ 3%

 

 

 

 


การเมืองที่เริ่มร้อนแรงขึ้นในช่วงกลางเดือนมกราคม เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยปี 57 เพราะจะกระทบทั้งความเชื่อมั่น การบริโภคและการลงทุน ทำให้การเติบโตลดลง โดยในมุมมองของ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายภาณุพงศ์ นิธิประภา มองว่า การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ที่กำหนดจะชัตดาวน์กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม เป็นจุดเริ่มต้นการเสื่อมถอยของเศรษฐกิจไทย จะส่งผลให้เศรษฐกิจในปี 2557 ปรับตัวลดลงอย่างน้อย 1% จากการเติบโตปกติที่ 3% เพราะมีผลต่อความเชื่อมั่นและการบริโภคของประชาชน และจะมีผลต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนของต่างชาติ หากเกิดความรุนแรงทางการเมืองถึงขั้นรัฐประหาร เศรษฐกิจไทยจะวนเวียนอยู่ในภาวะซบเซา ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2549 ที่ทำให้การลงทุนหยุดชะงักงัน 

 

 

 

 

นางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง อาจทำให้การใช้จ่ายภาครัฐขาดความแน่นอน ซึ่งปัจจัยในประเทศยังเป็นปัจจัยสำคัญที่การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 22 ม.ค. ต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน รวมถึงปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศที่มีแนวโน้มดีขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าปัจจัยต่างประเทศมีความเสี่ยงลดน้อยลง ขณะที่ปัจจัยในประเทศมีความเสี่ยงมากขึ้นและอาจจะมีผลต่อการประมาณการเศรษฐกิจ กนง.จะทบทวนอย่างรอบด้าน หากมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่มีนัยสำคัญที่ส่งผลต่อจีดีพี  แต่เชื่อว่าดอกเบี้ยนโยบายในระดับปัจจุบัน ยังสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และสร้างความเชื่อมั่น รวมถึงเอื้อต่อการลงทุนภาคเอกชนได้ 

 

 

 

 

 

ขณะที่นายธนิต โสรัตน์ ในฐานะรองประธานคณะทำงานเศรษฐกิจมหภาค การเงิน การคลัง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจแห่งชาติ เปิดเผยถึงผลการประชุมเรื่อง “ทิศทางเศรษฐกิจไทยหลังรัฐบาลใหม่และข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาผลกระทบทางเศรษฐกิจปี 2557 จากวิกฤติการเมืองในประเทศ” ว่า ที่ประชุมฯ ประเมินทิศทางเดียวกันว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2557 ยังคงมีความเปราะบางและมีสถานการณ์ความไม่แน่นอนสูง จนอาจทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตไม่ได้ 4-5% 

 

ทั้งนี้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ ได้ตั้งสมมติฐานไว้ว่า หากในวันที่ 2 ก.พ.57 มีการเลือกตั้งและสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้มีโอกาสที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในปีนี้จะยังคงขยายตัวได้ไม่น้อยกว่า 4% แต่หากสถานการณ์ทางการเมืองยังมีความไม่แน่นอนสูง ยืดเยื้อไปจนถึงเดือน มิ.ย.57 มีโอกาสที่เอกชนต่างชาติที่ได้สิทธิ์ในการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) 
จะเลื่อนการลงทุนในประเทศไทยออกไปหรือเปลี่ยนแผนไปลงทุนในประเทศอื่นๆแทน ส่วนกรณีที่สถานการณ์ทางการเมืองเลวร้ายที่สุด คือไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในปีนี้ รวมทั้งเกิดเหตุการณ์พิเศษ เช่น ปฏิวัติรัฐประหาร จีดีพีไทยจะขยายตัวได้เพียง 2% 

 

 

 

 

ส่วนนายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยกล่าวว่า  การชุมนุมใหญ่ของกลุ่ม กปปส. ในวันที่ 13 มกราคมนี้ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไร ขึ้นอยู่กับการชุมนุมมีผลทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอลง หรือดำเนินการไม่ได้ไปร้อยละเท่าใดของมูลค่าเศรษฐกิจรวมของกรุงเทพมหานคร ที่ในแต่ละวันมีมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 1 หมื่นล้านบาท หรือ 1 ใน 3 ของจีดีพีของประเทศไทย 

 

และยังคงต้องจับตาสถานการณ์การชุมนุมว่า จะยืดเยื้อ หรือมีเหตุการณ์ความรุนแรงหรือไม่ แต่คาดว่า จะครอบคลุมอยู่ในภาพรวมที่ได้ประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้ไว้ที่ร้อยละ 2.7 กรณีที่ไม่สามารถมีรัฐบาลบริหาร และผลักดันมาตรการได้ทันในช่วงครึ่งปีแรก แต่หากมีรัฐบาลและสามารถผลักดันมาตรการได้จะช่วยให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง 
ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจอาจขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 

 


LastUpdate 13/01/2557 15:07:28 โดย : Admin
16-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 16, 2024, 2:29 pm