เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เกาะติดผลประชุมกนง. 22 ม.ค.


 

 

หลายภาคส่วนทั้งแวดวงการเงิน  ตลาดเงิน  ตลาดทุน และภาคธุรกิจ  จับตาผลการประชุมกนง.นัดแรกของปี57 วันที่ 22 ม.ค.อย่างใกล้ชิด โฆษกธปท.เผยกนง.จะนำผลกระทบการชุมนุมต่อกิจกรรมเศรษฐกิจมากำหนดทิศทางดอกเบี้ยนโยบายด้วย

 

 

 

 

วันที่ 22 ม.ค. จะเป็นการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) นัดแรกของปี 2557  แวดวงการเงิน  ตลาดเงิน  ตลาดทุน และภาคธุรกิจต่างๆ จับตาผลการประชุมครั้งนี้อย่างใกล้ชิด ซึ่งนางรุ่ง  มัลลิกะมาส โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เปิดเผยว่า  การประชุมครั้งนี้คณะกรรมการกนง. จะนำผลกระทบจากการชุมนุมที่มีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจมาพิจารณา เพื่อกำหนดทิศทางของดอกเบี้ยนโยบายด้วย

 

 

ส่วนนางสาวอุสรา  วิไลพิชญ์  นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด(ไทย) คาดว่า  กนง.น่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25%  เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงที่กนง.ต้องพิจารณา คือ เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนและเงินเฟ้อ นอกเหนือจากปัจจัยการเมืองที่ยังยืดเยื้อ  เพราะหาก กนง. ต้องการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ  แต่ถ้าประชาชนไม่ใช้จ่าย ประโยชน์ที่คาดหวังไว้คงไม่เกิด  ขณะที่แนวโน้มเงินเฟ้อยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

 

 
สอดคล้องกับมุมมองของ นายธนวรรธน์ พลวิชัย  ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  ที่คาดว่า  กนง.น่าจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 2.25% เพราะผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการชุมนุมทางการเมืองขณะนี้ยังไม่ชัดเจน  แต่หากลดดอกเบี้ยนโยบายลงจะยิ่งกดดันค่าเงินบาทให้อ่อนค่า เป็นปัจจัยให้เงินไหลออก ทำให้กนง.มีความยากลำบากในการดำเนินนโยบายในระยะต่อไป

 

 

ส่วนนายอมรเทพ จาวะลา  หัวหน้าส่วนวิจัยเศรษฐกิจและตลาดการเงิน สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย  ประเมินว่า  มีความเป็นไปได้ที่กนง. อาจตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25%  จากปัจจุบัน 2.25% ไปสู่ระดับ 2%  ต่อเนื่องจากการลดดอกเบี้ยไป 0.25% ในการประชุมรอบล่าสุด  เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากที่ความขัดแย้งทางการเมืองยังมีโอกาสยืดเยื้อและเสี่ยงกระทบเศรษฐกิจปีนี้ในระยะยาว

แต่ยอมรับว่า  แรงกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้นโยบายการเงินในช่วงนี้อาจมีผลอย่างจำกัด เนื่องจากการชะลอตัวของการบริโภคในประเทศเวลานี้  เป็นผลมาจากหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงเป็นพื้นฐาน โดยมีปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองเป็นตัวเสริมที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ลงทุนทำให้คนอาจก่อหนี้เพิ่มขึ้นได้ไม่มาก  ขณะที่ภาคธุรกิจก็ไม่กล้าลงทุนเพิ่ม ซึ่งสะท้อนได้จากยอดการนำเข้าเครื่องจักรที่ลดลง

 

 

ด้านนายสมิทธ์  พนมยงค์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่  ธนาคารไทยพาณิชย์  ยอมรับว่า  มีความเป็นไปได้ที่ กนง.อาจจะลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% เนื่องจากกังวลปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยเชื่อว่า การลดดอกเบี้ยจะไม่ทำให้เกิดภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกแบบผิดปกติ เพราะธนาคารแห่งประเทศไทย  มีการเกาะติดและมีเครื่องมือเพียงพอในการดูแล

ส่วนนายกฤษณ์ จันทโนทก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวด้วยว่า  ธนาคารยังประเมินว่าดอกเบี้ยจะอยู่ภาวะทรงตัวไปจนถึงไตรมาส 3 และอาจปรับขึ้นในไตรมาส 4 อีก 0.25-0.50% ขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจ สถานการณ์การเมืองในประเทศ และการส่งออก
 


LastUpdate 20/01/2557 14:27:46 โดย : Admin
16-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 16, 2024, 6:58 pm