เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
TMB Analytics คาด กนง. คงดอกเบี้ย รอภาพการเมืองชัดเจน


 

 

 

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics มอง กนง. มีแนวโน้มเก็บกระสุนไว้ก่อน  คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ2.25 ในรอบประชุมวันพุธ22ม.ค.นี้ แม้ความเสี่ยงการเมืองในประเทศเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังไม่รุนแรงจนทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก

 

 

 

 

ภายหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้มีมติ 6 ต่อ 1 ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 สู่ระดับร้อยละ 2.25 ในการประชุมครั้งสุดท้ายของปี 2556 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้เริ่มเกิดกระแสในตลาดการเงินและแวดวงนักวิเคราะห์ว่า กนง. อาจตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้ง ในการประชุมครั้งแรกของปี ที่จะมีขึ้นในวันที่ 22 มกราคม ที่จะถึงนี้

หลังจากที่ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี(TMB Analytics) เคยเสนอมุมมองที่สวนทางกับตลาดว่า กนง. จะลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งก่อน เนื่องจากภาพของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างชัดเจน สำหรับการประชุมวันพุธนี้ เรายังคงมุมมองที่ว่า ระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.25 เป็นอัตราที่เหมาะสม สำหรับสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน

จริงอยู่ที่ภาพความไม่สงบทางการเมืองจะทำให้ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันดูไม่ค่อยสวยนัก แต่การขยายตัวของสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่ยังอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง เมื่อพิจารณาประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง เป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่า อาจยังเร็วเกินไปที่จะตัดสินใจผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นการกู้ยืมของผู้บริโภคและธุรกิจเอกชน

เหตุผลอีกประการหนึ่งที่เรามองว่า กนง. น่าจะพิจารณาคงดอกเบี้ยในครั้งนี้ เนื่องจากหากลองพิจารณาบริบทเทียบกันของสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองในปัจจุบันกับในช่วงปี 2553 จะพบว่า ในมิติความรุนแรงทางการเมืองนั้น สถานการณ์ในช่วงสามปีก่อนมีความรุนแรงกว่ามาก กล่าวคือ มีการประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินและได้มีการเผชิญหน้าอย่างรุนแรง ซึ่งสถานการณ์ในปัจจุบันยังไม่พัฒนารุนแรงไปถึงจุดนั้น

สำหรับมิติทางด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 กนง. ได้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ย แต่ได้แสดงความพร้อมที่จะดำเนินนโยบายใดๆ หากมีผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเมืองต่อเศรษฐกิจ โดยอิงจากหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ว่า เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาคในประเทศอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพึงพอใจ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในประเทศแม้อยู่ระดับต่ำ (น้อยกว่าร้อยละ 1) แต่คาดว่าจะเร่งตัวสูงขึ้นในระยะต่อไป ซึ่งศูนย์วิเคราะห์ฯประเมินว่า สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันอยู่ภายใต้บริบททางเศรษฐกิจใกล้เคียงกับภาวะแวดล้อมในช่วงดังกล่าวอยู่มาก

 

 

ด้านการส่งออกซึ่งเป็นที่พึ่งสุดท้ายในยามที่เศรษฐกิจของประเทศอ่อนแอ แม้อัตราการขยายตัวของการส่งออกยังมีแนวโน้มชะลอลงในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ จากฐานการคำนวณที่กลับมาปกติ แต่ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงมาก ส่วนหนึ่งจะช่วยผู้ประกอบการส่งออกในแง่ของรายได้รูปเงินบาทเพิ่มขึ้น ทำให้ภาคการส่งออกจะช่วยลดทอนความรุนแรงของผลทางการเมืองลงได้ระดับหนึ่ง นอกจากนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า โดยเฉพาะคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ ยูโรโซนและจีน ทำให้การส่งออกของไทยไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าวเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจนในไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน รวมถึงการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม (CLMV) ยังคงมีทิศทางการขยายตัวที่สดใส ส่งผลให้เครื่องยนต์ภาคการส่งออกจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ไตรมาสสองเรื่อยไปจนถึงสิ้นปี

ท้ายสุดนี้การตัดสินใจกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการหั่นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งที่ผ่านมา จะเริ่มส่งผลไปยังภาคเศรษฐกิจจริงอย่างช้าๆ โดยมาตรการดังกล่าวจะเห็นผลเต็มที่ในไตรมาส 2 ของปีนี้ ดังนั้นทางเราจึงเชื่อว่า กนง. จะยังเก็บเครื่องมือไว้จนกว่าภาพเศรษฐกิจจะชัดเจนกว่านี้  โดยคาดว่า กนง. จะรอพิจารณาถึงสถานการณ์หลังจากการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ และรายงานตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว ที่จะถูกประกาศในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ซึ่งข้อมูล 2 ชุดนี้จะช่วยประเมินเศรษฐกิจของไทยในอนาคตได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่ยังคลุมเครือในปัจจุบัน

 

 

 

 

 


LastUpdate 20/01/2557 16:36:16 โดย : Admin
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 1:24 pm