หุ้นทอง
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ไม่มีประกัน"บ.ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์"ที่ระดับ "AA-/Stable"


 
 
 
 
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกัน “บ. ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์” ที่ระดับ “AA-/Stable”และจัดอันดับหุ้นกู้ไม่มีประกันวงเงินไม่เกิน 8,250 ล้านบาทที่ระดับ “AA-”
 
 
 
 
 

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “AA-” พร้อมทั้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 8,250 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “AA-” เช่นกัน โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระหนี้หุ้นกู้ที่ครบกำหนดรวมทั้งใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและลงทุนตามแผนงาน
 
อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำของบริษัทในฐานะผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องรายใหญ่ระดับโลก รวมถึงการมีสินค้าและฐานลูกค้าที่หลากหลาย ตลอดจนตราสินค้าที่เป็นที่รู้จักในทวีปยุโรปและประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความผันผวนของต้นทุนวัตถุดิบ ตลอดจนความเสี่ยงเรื่องโรคระบาด และการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบข้อบังคับทางภาษีและกฎเกณฑ์การจับปลาทั่วโลกด้วย 

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันเอาไว้ได้จากการประหยัดจากขนาดและความมีประสิทธิภาพในการผลิต โดยตลาดส่งออกที่กระจายตัวและสินค้าที่หลากหลายน่าจะช่วยให้บริษัทมีกระแสรายได้ที่มีเสถียรภาพในช่วงที่ต้นทุนวัตถุดิบปลาทูน่าและกุ้งมีความผันผวน ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะคงวินัยทางการเงินเพื่อที่จะรักษาอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนให้อยู่ในระดับไม่สูงนักในภาวะที่บริษัทต้องเผชิญกับความท้าทายของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารทะเลในปัจจุบัน

บริษัทไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ก่อตั้งในปี 2531 โดยตระกูลจันศิริ บริษัทเป็นหนึ่งในผู้นำในบรรดาผู้ผลิตอาหารทะเลแบบครบวงจรระดับโลก สินค้าของบริษัทครอบคลุมทั้งผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตจากปลาทูน่า กุ้ง ปลาซาร์ดีน ปลาแซลมอน อาหารสัตว์และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 บริษัทมียอดขายจากผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าคิดเป็น 49% ของยอดขายรวม จากกุ้งแช่แข็งและอาหารกุ้ง 24% อาหารสัตว์เลี้ยง 7% ปลาซาร์ดีนและแมคเคอเรล 6% และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ 14% 
 
 
 

ปัจจุบันบริษัทมีปริมาณการผลิตผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าประมาณ 300,000 ตันต่อปี ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 5 ของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าทั่วโลกที่ประมาณ 1.6-1.7 ล้านตันต่อปี บริษัทมีฐานการผลิตใน 7 ประเทศซึ่งครอบคลุม 5 ทวีปทั่วโลก โดยฐานการผลิตหลักตั้งอยู่ในประเทศไทย สหรัฐอเมริกา กาน่า และซีเชลส์ นอกจากนี้ บริษัทยังมีฐานการผลิตในประเทศเวียดนาม ฝรั่งเศส และปาปัวนิวกินีด้วย ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 รายได้รวมของกลุ่มบริษัทมาจากตลาดสหรัฐอเมริกาคิดเป็นสัดส่วน 40% รองลงมาคือสหภาพยุโรป 30% ประเทศไทย 8% และประเทศญี่ปุ่น 7%

ผลประกอบการของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 ลดลงเนื่องจากความผันผวนของราคาปลาทูน่าและปัญหาโรค Early Mortality Syndrome (EMS) ที่ระบาดในฟาร์มกุ้งในประเทศไทย ราคาปลาทูน่าที่ผันผวนส่งผลต่อการชะลอคำสั่งซื้อของกลุ่มลูกค้าที่บริษัทรับจ้างผลิต อย่างไรก็ตาม รายได้จากผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าภายใต้ตราสินค้าของบริษัทยังคงเพิ่มขึ้นโดยปัจจุบันบริษัทมีรายได้ในส่วนนี้คิดเป็นสัดส่วน 50% ของปริมาณสินค้าปลาทูน่าทั้งหมดที่บริษัทจำหน่าย
 
ส่วนปัญหาโรคระบาดในฟาร์มกุ้งส่งผลอย่างมากต่อยอดขายอาหารกุ้งและกุ้งแช่แข็งในประเทศไทย โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 ปริมาณขายอาหารกุ้งลดลง 30% และกุ้งแช่แข็งลดลง 18.7% แต่หากรวมยอดขายจากฐานการผลิตในประเทศอื่นแล้ว ปริมาณการขายกุ้งแช่แข็งของทั้งกลุ่มเพิ่มขึ้น 9.1% สาเหตุหลักเนื่องจากการเติบโตของตลาดกุ้งในประเทศสหรัฐอเมริกา
 
นอกจากนี้ บริษัทยังได้ซื้อกิจการของ บริษัท แพ็คฟู้ด จำกัด (มหาชน) (PPC) และรวมผลประกอบการของบริษัทแพ็คฟู้ดเข้ามาในงบการเงินของบริษัทตั้งแต่เดือนมีนาคม 2556 เป็นต้นมา ส่งผลให้รายได้รวมของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 เพิ่มขึ้นเป็น 2,694 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่ม 4.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555

แม้ว่าอัตรากำไรของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 จะปรับลดลง แต่เมื่อพิจารณาตามรายไตรมาสแล้วพบว่า มีพัฒนาการที่ดีขึ้น ทั้งนี้ อัตรากำไรของบริษัทลดลงจากต้นทุนปลาทูน่าที่ผันผวนและต้นทุนกุ้งที่เพิ่มขึ้นสูงอย่างมากจากเหตุโรคระบาด EMS หลังจากที่ราคาปลาทูน่าปรับขึ้นถึงระดับ 2,325 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในเดือนมีนาคม 2556 แล้วก็ลดลงอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ 1,875 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในเดือนกันยายน 2556 และอยู่ที่ 1,400 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในเดือนธันวาคม 2556
 
อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายลดลงเหลือ 5.5% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 เปรียบเทียบกับระดับปรกติที่ 5.6%-9.2% ที่บริษัทสามารถทำได้ในช่วงปี 2551-2555 การฟื้นตัวของกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทในไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 มีสาเหตุหลักมาจากความสามารถในการปรับราคาผลิตภัณฑ์กุ้งเพื่อสะท้อนต้นทุนราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันอัตรากำไรของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าภายใต้ตราสินค้าของบริษัทก็ปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่ราคาต้นทุนปลาทูน่าลดลง โดยอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 เท่ากับ 2,217 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% จากไตรมาสก่อน ซึ่งใกล้เคียงกับ EBITDA ปรกติของบริษัทที่อยู่ในระดับ 2,500 ล้านบาทต่อไตรมาส อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทฟื้นตัวสู่ระดับพอใช้ที่ 5.5 เท่าในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2556

อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุน ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 เพิ่มขึ้นแต่อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ที่ 49% บริษัทได้ปรับลดแผนการลงทุนจากเดิม 6,000 ล้านบาทต่อปีเป็น 3,500-4,500 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2556-2558 เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของภาวะธุรกิจ ทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจปลาทูน่าจะฟื้นตัวโดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าที่บริษัทรับจ้างผลิตภายหลังจากที่ราคาปลาทูน่าลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปีที่ 1,400 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในเดือนธันวาคม 2556
 
ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงจะส่งผลดีต่อผลการดำเนินงานของบริษัทในระยะสั้น และสถานการณ์โรคระบาดในฟาร์มกุ้งคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นและส่งผลให้ผลผลิตลูกกุ้งในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 20%-25% ในปี 2557 รวมทั้งการที่บริษัทปรับลดแผนลงทุนลงจะส่งผลให้กระแสเงินสดและอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนปรับตัวดีขึ้นสู่ระดับปรกติในอนาคตอันใกล้

บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่นส์ โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) (TUF)

อันดับเครดิตองค์กร: AA-

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

TUF147A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 3,300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 AA-

TUF167A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,950 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 AA-

TUF217A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 AA-

หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 8,250 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2567 AA-

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
 
 

LastUpdate 22/01/2557 00:00:56 โดย : Admin
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 1:13 pm