เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ตอนที่ 5/2557: ปัญหาโลกแตก ทำไมอนุมัติบัตรเครดิต...แต่ไม่อนุมัติสินเชื่อบ้าน


 

 

มีท่านสุภาพบุรษท่านหนึ่งสอบถามเข้ามาที่เครดิตบูโรว่า เมื่อประมาณ 4 ปีก่อนเขาเคยมีประวัติค้างชำระค่างวด แต่ตอนนี้ ในเวลานี้ที่เป็นปัจจุบันปิดยอดชำระไปหมดแล้ว และไม่เคยทำธุรกรรมทางการเงินใดๆ ที่หมายถึงการขอสินเชื่ออีกเลยนับจากนั้น แต่เมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา ท่านที่เคยมีประวัติค้างชำระรายนี้ ได้อ้างว่าลองยื่นเอกสารทำบัตรเครดิตดู ตามความเป็นจริงก็คือ การยื่นเรื่องขอมีบัตรเครดิตแหละครับ ไม่จำเป็นต้องอ้างว่าลองยื่นก็ได้ (อันนี้เป็นลักษณะที่เครดิตบูโรจะพบบ่อย ทั้งที่จะพูดความจริงไปก็ไม่ได้มีอะไรเสียหาย) ปรากฏว่า ผ่านการอนุมัติจากบริษัทบัตรเครดิตได้รับวงเงิน100,000 บาท ต่อมาท่านผู้นี้อยากได้บ้าน จึงไปยื่นเรื่องขอกู้บ้าน แต่ธนาคารไม่อนุมัติเลยมีข้อสงสัยว่าทำบัตรเครดิตผ่าน แต่เพราะเหตุใดจึงทำเรื่องกู้ซื้อบ้านไม่ผ่าน จึงได้สอบถามคนเดินเอกสาร ได้รับการบอกว่าธนาคารตรวจสอบเจอประวัติการชำระไม่ดีในอดีต จึงถามเข้ามาที่เครดิตบูโรเพื่อทราบว่าเรื่องมันเป็นอย่างไรกันแน่เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง เครดิตบูโร มีข้อแนะนำดังนี้ครับ


1. สินเชื่อที่ขอนั้นต่างกันครับ บัตรเครดิต กับสินเชื่อบ้านไม่เหมือนกัน ทั้งเรื่องเงื่อนไข วงเงิน ระยะเวลา หลักประกัน เอามาเทียบไม่ได้


2. สถาบันที่ให้สินเชื่อเป็นคนละประเภท ระหว่างบริษัทบัตรเครดิตกับธนาคารต่างกันครับ เปรียบเหมือนวัดกับโรงพยาบาลต่างเป็นที่พึ่งของคนที่ตกทุกข์ได้ยาก แต่มีลักษณะการให้บริการ เงื่อนไข และกระบวนการรักษาที่แตกต่างกันครับ


3. หากตัวเรามีประวัติค้างชำระ กล่าวคือไม่ได้ทำตามสัญญาแล้วต่อมากลับมาจ่ายเราเรียกลักษณะนี้ว่า คนเคยค้างต่อมากลับมาชำระหนี้ปิดบัญชี ปัจจุบันมีสถานะเป็นปิดบัญชี กรณีนี้ ท่านสุภาพบุรุษนี้ไม่ได้แจ้งรายละเอียดว่าได้ปิดบัญชีไปเมื่อไร ดังนั้นหากได้ชำระหนิ้ปิดบัญชีไปแล้ว นับแต่วันที่ปิดบัญชีเครดิตบูโรจะเก็บข้อมูลไว้ตามที่กฎหมายกำหนดในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี และจะแจ้งสถานะความเป็นหนี้ในเดือนสุดท้ายที่มีการชำระหนี้เสร็จของบัญชีที่เป็นปัญหานั้นว่าปิดบัญชี ยอดหนี้เป็นศูนย์บาท 


4. เครดิตบูโรขอเรียนว่า การที่จะได้รับอนุมัติสินเชื่อหรือไม่ได้นั้น ก็ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์การพิจารณาของแต่ละสถาบันการเงิน ซึ่งอาจแตกต่างกันไป ซึ่งไม่เกี่ยวกับเครดิตบูโร และ เครดิตบูโรก็ไม่มีส่วนในการพิจารณา หรือ มีอำนาจในการพิจารณาว่าจะให้หรือไม่ให้ ทั้งนี้สถาบันการเงินจะพิจารณาคุณสมบัติของลูกค้าตามเกณฑ์ที่สถาบันการเงินกำหนด เช่น รายได้ อาชีพ อายุงาน ประวัติการออม เป็นต้น เครดิตบูโรเป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งในการนำประกอบการพิจารณาสินเชื่อเท่านั้น ทั้งนี้หากสถาบันการเงินทั้ง 2 แห่ง พบว่าท่านสุภาพบุรุษท่านนี้เคยเป็นคนเคยค้าง แต่ต่อมาได้ชำระหนี้ปิดบัญชีแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับสถาบันการเงินแต่ละแห่งว่าจะเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อมากน้อยเพียงใด


5. กรณีของท่านผู้ถามรายนี้แจ้งว่าได้สอบถามกับคนเดินเอกสาร และบอกว่าธนาคารตรวจเจอประวัติการชำระไม่ดี เครดิตบูโรขอเรียนว่า ท่านควรจะถามผู้จัดการสาขาที่ท่านไปยื่นขอสินเชื่อ เปรียบเหมือนเราเอาลูกไปฝากเข้าโรงเรียน เมื่อไม่อนุมัติควรถาม ผอ. ไม่ใช่ไปถามภารโรงครับ มันจะไม่ได้คำตอบที่ถูกต้อง


6. ในกรณีที่สถาบันการเงินปฏิเสธสินเชื่อ หากท่านต้องการทราบเหตุผล สามารถติดต่อกับสาขา หรือเจ้าหน้าที่ของสถาบันการเงินที่ท่านติดต่อในการยื่นขอสินเชื่อโดยตรง เพื่อขอทราบเหตุผล และหากแจ้งว่าเป็นเหตุผลเพราะติดเครดิตบูโรแล้ว สถาบันการเงินนั้นต้องออกเป็นหนังสือแจ้งให้ท่านทราบเท่านั้น กฎหมายเครดิตบูโรห้ามแจ้งด้วยวาจา เพราะหากสถาบันการเงินไม่ออกหนังสือแจ้ง แล้วอ้างว่าติดเครดิตบูโร จะมีโทษปรับ 300,000 บาท และปรับอีกวันละ 10,000 บาท จนกว่าจะออกเป็นหนังสือ และท่านสามารถนำหนังสือแจ้งปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงิน มายื่นคำขอตรวจสอบเครดิตบูโรของตัวเอง พร้อมกับบัตรประชาชนตัวเครดิตบูโรได้ที่ Call Center 02-643-1250 ในวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 16.30 น.

 

สุรพล โอภาสเสถียร 


ผู้จัดการใหญ่ 


บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด

 

 


LastUpdate 05/02/2557 08:41:08 โดย : Admin
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 6:46 am