เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
การเมืองยืดเยื้อฉุดความแข็งแกร่งสถาบันการเงิน


 

 

 

 

หลายฝ่ายห่วงการเมืองไทยยืดเยื้อ สศค.ชี้แม้ปัจจุบันไทยมีจุดแข็ง มีเสถียรภาพเศรษฐกิจแข็งแกร่ง แต่จุดแข็งดังกล่าว ก็มีโอกาสโดนกัดกร่อนได้

 

 

 

 

หน่วยงานด้านเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต่างเป็นห่วงสถานการณ์การเมืองของไทยที่ยืดเยื้อยาวนาน จะส่งผลกระทบต่อความแข็งแกร่งของสถาบันกาเรงิน โดยนายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค.กล่าวว่า แม้ปัจจุบันไทยจะมีจุดแข็ง เพราะมีเสถียรภาพเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง แต่จุดแข็งดังกล่าว ก็มีโอกาสโดนกัดกร่อน หากมีปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ หากการเมืองยังคงยืดเยื้อ แม้ปัจจุบันเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ อัตราว่างงานอยู่เพียง 0.6% 

 

ซึ่ง ธปท.อาจสบายใจ เพราะนโยบายการเงินสามารถผ่อนคลายได้อีก คือการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การลดดอกเบี้ยต้องมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ หากทำแล้วไม่เกิดประสิทธิผล จะกลายเป็นข้อจำกัดทางการเงินทันที ขณะที่ด้านการคลังจากผลกระทบทางการเมืองทำให้ ไม่สามารถพิจารณางบปี 58 ได้ในขณะนี้ จึงถือเป็นการสูญเสียโอกาสไม่คุ้มค่า 

 

 

นอกจากนี้ จุดแข็ง อีกด้านของไทย คือ ภาคสถาบันการเงิน ที่กำไรยังมีอัตราการเติบโตที่สูง โดยในปี 2556 แบงก์พาณิชย์มีกำไรรวม 1 แสนกว่าล้านบาท NPL ในระบบยังอยู่ในระดับต่ำ ที่ 2.4% ณ สิ้นไตรมาส 4 แต่จะเห็นได้ว่า เอ็นพีแอลที่เร่งขึ้นมา จากไตรมาส3 ที่ 2.2% เป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่หากสถานการณ์ทางการเมืองยังยืดเยื้อ นโยบายกระตุ้นรัฐบาลหมด 
ภาคเอกชนบริโภค ลงทุนน้อยลง ภาคเอสเอ็มอีจะมีความสามารถในการชำระหนี้น้อยลง ซึ่งสิ่งที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด คือ การเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ตามมา ซึ่งหากสถาบันการเงินมีปัญหา จะทำให้วิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้นแน่นอน 

 

"การที่สถาบันการเงิน มีหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เงินเฟ้อสูง มีการปิดกิจการของภาคธุรกิจมากจะส่งสัญญาณไม่ดี ซึ่งอาจก่อให้เกิดวิกฤตการเงินได้" 

 

สอดคล้องกับมุมมองของ Fitch Ratings ที่ระบุว่า การแบ่งฝ่ายทางการเมืองที่ยืดเยื้อและตึงเครียดมาถึง 5 เดือน มีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อการดำเนินงานทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงินเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่อยู่ในกลุ่มอันดับความน่าเชื่อถือเดียวกัน แม้จะมีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 

 

โดยการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนและยืดเยื้อขึ้นกว่าที่ Fitch คาดการณ์ไว้ในปัจจุบัน อาจส่งผลกระทบต่อระบบธนาคารผ่านการด้อยค่าของคุณภาพสินทรัพย์ จากการที่สัดส่วนหนี้ของภาคเอกชนไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยหนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 80 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในไตรมาส 3 ของปี 2556 จากร้อยละ 60 เมื่อสิ้นปี 2552 

 

 

อย่างไรก็ดี Fitch ตระหนักดีว่าในช่วงที่ผ่านมาระบบธนาคารของประเทศไทยได้เสริมสร้างความแข็งแกร่งในการรองรับความเสี่ยงโดยมีสัดส่วนเงินกองทุนเพื่อรองรับความเสี่ยงชั้นที่ 1 ตามระบบ System-Wide Basis เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 12.4 จากร้อยละ 11.3 ของความเสี่ยงถ่วงน้ำหนักของสินทรัพย์ ในปี 2552 

 

แต่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าการคาดการณ์อย่างมีนัยสำคัญและต่อเนื่อง อาจจะค่อยๆ กัดกร่อนความสามารถในการรองรับความเสี่ยงได้ 


LastUpdate 09/02/2557 12:00:04 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 8:11 am