เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ตอนที่ 6/2557: ความเกี่ยวเนื่องของเศรษฐกิจ การเติบโต แนวโน้มธุรกิจธนาคาร และข้อมูลจากเครดิตบูโร


 

 

 
 
ผมมีความเห็นจาก ท่านผู้บริหารสายงานวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ท่านหนึ่งที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของไทยที่ให้ไว้ในงานสัมมนาเกี่ยวกับอนาคตเศรษฐกิจไทย ท่านกล่าวไว้น่าสนใจมากๆ ว่า ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2557 น่าจะขยายตัวได้ 2.8% โดยมีสมมติฐานว่า ครึ่งแรกของปีนี้ยังไม่มีรัฐบาลที่เป็นทางการหรือเป็นตัวจริง ซึ่งจะทำให้ GDPครึ่งปีแรกโตเพียง 0.6% แต่ครึ่งปีช่วงหลังเริ่มมีรัฐบาล จะทำให้ GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 5% จากปัจจัยการบริโภคที่อั้นไว้ช่วงครึ่งปีแรกจะเร่งใช้จ่ายในครึ่งปีหลัง และการส่งออกกับการท่องเที่ยวจะกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้น โดยคาดการณ์ส่งออกทั้งปีนี้จะโต 4% ขณะที่การลงทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนยังอยู่ระดับต่ำ ขยายตัวได้ประมาณ 1% เท่านั้นข้อความที่สำคัญอยู่ตรงนี้ครับว่า “ถ้าปัญหาการเมืองยืดเยื้อทำให้ไม่มีรัฐบาลใหม่เกิน 6 เดือน หรือเกินครึ่งปีแรก ซึ่งผิดไปจากสมมติฐานที่ตั้งไว้ ก็มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะโตต่ำกว่า 2.8%”

ศูนย์วิจัยชั้นนำของธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งหนึ่งคาดว่า ในไตรมาสแรกของปี 2557 ธนาคารพาณิชย์คงต้องเผชิญความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่อาจชะลอตัวต่อเนื่องรวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่มีความแน่นอน ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์มีความยากมากขึ้น เสี่ยงมากขึ้น รายได้อาจชะลอตัวลง และหากไม่ระมัดระวังหรือไม่รอบคอบแล้วก็อาจมีหนี้เสีย หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่ม ทั้งนี้สถาบันวิจัยได้คาดว่าสินเชื่อไตรมาสแรกปี 2557 จะเติบโตชะลอลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนที่ไม่สดใสนัก ปัญหาหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ความเชื่อมั่นและการบริโภคภาคเอกชนยังมีลักษณะชะลอตัวลง คาดกันว่า สินเชื่อน่าจะเติบโตได้ 8.5% เทียบกับ 12.4% ณ สิ้นไตรมาส 1/2556 สำหรับส่วนต่างสุทธิของดอกเบี้ยรับจากการให้กู้และลงทุนกับดอกเบี้ยจ่ายจากการรับฝากเงินน่าจะอยู่ที่ระดับ 3% ในไตรมาสแรกปี 2557 และคาดว่าทั้งปีจะทรงตัวใกล้เคียงค่าเฉลี่ยปี 2556 ที่ประมาณการว่าจะอยู่ที่ระดับ 3%

กลยุทธ์ที่สำคัญนอกจากเรื่องการหารายได้จากสินเชื่อและค่าธรรมเนียมแล้ว สถาบันการเงินยังต้องเน้นการพัฒนากระบวนการกลั่นกรอง กระบวนการวิเคราะห์ และกระบวนการติดตามความเสี่ยงเพื่อไปสู่เป้าหมายการลดต้นทุนจากการตั้งสำรองหนี้สูญในอนาคตเพราะค่าใช้จ่ายส่วนนี้หากเกิดแล้วจะเป็นต้นทุนที่สูงมาก และยังเป็นตัวสะท้อนฝีมือการบริหารอีกด้วย ข้อแนะนำที่สถาบันวิจัยระบุที่เกี่ยวกับเครดิตบูโร อาทิ การใช้ประโยชน์จากข้อมูลของเครดิตบูโรและพฤติกรรมทางการเงินของลูกค้าอันประกอบด้วยพฤติกรรมการก่อหนี้ การสร้างภาระหนี้ พฤติกรรมการชำระหนี้ในแต่ละบัญชีที่ตนเองได้ก่อขึ้นว่าเป็นอย่างไร ใช้ครบใช้ตรงหรือไม่ การทราบถึงความตั้งใจในการชำระหนี้ประกอบกับความสามารถในการชำระหนี้ จะทำให้การพิจารณาการปล่อยและติดตามสินเชื่อมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดการตั้งสำรองหนี้สูญในอนาคต ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ เช่น ทรัพย์สินที่ยึดมาจากลูกหนี้ที่ชำระหนี้ไม่ได้ลงไปในคราวเดียวกันอีกด้วย ท่านผู้อ่านคงเห็นความสำคัญของข้อมูลเครดิตของบรรดาลูกหนี้ที่มีการจัดเก็บไว้ที่เครดิตบูโรแล้วนะครับ
 
สุรพล โอภาสเสถียร 
 
ผู้จัดการใหญ่ 
 
บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
 

LastUpdate 12/02/2557 22:53:07 โดย : Admin
16-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 16, 2024, 10:48 pm