เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ลุ้นสภาพัฒน์ฯ แถลงตัวเลขจีดีพีปี 56 "TMB Analytics" ฟันธงทั้งปีโตไม่เกินร้อยละ 3


 

 

 

 

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics คาดเศรษฐกิจไทยในปี 2556 ที่ผ่านมาขยายตัวร้อยละ 2.9 ... ไตรมาสสี่หมดแรงส่ง ตัวเลขบวกอ่อนๆ ... จับตารายงานสภาพัฒน์ฯ วันจันทร์ 17 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้

 

 

 

 

ยังคงเป็นที่เฝ้ารอของหลายฝ่าย สำหรับรายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพีของไทยในไตรมาสที่ 4/2556 ซึ่งนอกจากจะเป็นไตรมาสแรกที่จะเห็นผลกระทบของการชุมนุมทางการเมืองแล้ว ยังเป็นข้อมูลชุดสำคัญที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน จะใช้ในการตัดสินใจว่าจะลดหรือไม่ลดดอกเบี้ยนโยบาย โดยก่อนหน้านี้สำนักวิจัยล้วนประเมินว่าตัวเลขจีดีพีดังกล่าวจะออกมาไม่สวยหรูแต่มีมุมมองที่แตกต่างกันไป ตั้งแต่คาดว่าจะขยายตัวเพียงเล็กน้อยจากไตรมาสที่ 4/2555 หรืออาจจะมีการขยายตัวที่ร้อยละศูนย์ (ไม่ขยายตัว) ไปถึงขั้นหดตัวจากปีก่อนหน้า

 

 

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ( TMB Analytics) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสี่ของปีที่แล้ว น่าจะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 ซึ่งเป็นระดับที่ลดลงมามากจากการขยายตัวร้อยละ 2.7 ในไตรมาส 3/2556 เนื่องจากหมดแรงส่ง ไม่ว่าจะทางด้านการบริโภคภาคเอกชนที่โดนกดดันจากสภาวะหนี้ครัวเรือนและความไม่แน่นอนทางการเมือง ทางด้านการลงทุนของภาคธุรกิจที่ชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจโดยรวม หรือกระทั่งการใช้จ่ายของภาครัฐที่ต้องสะดุดจากการยุบสภาในช่วงปลายปี 

 


ดังนั้น ศูนย์วิเคราะห์ฯ จึงให้มุมมองสำหรับจีดีพีปี 2556 ไว้ว่าจะออกมาไม่ค่อยสวย โดยคาดว่าทั้งปีจะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2.9 (ปรับประมาณการครั้งล่าสุดเดือนพฤศจิกายน 2556) ซึ่งลดลงมากว่าครึ่งจากระดับร้อยละ 6.5 ในปีก่อนหน้า ตอกย้ำภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย


ภาคส่วนที่ดูแล้วยังมีความน่ากังวลอยู่มากก็คือ การลงทุนของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนซึ่งมีน้ำหนักรวมกันกว่าหนึ่งในห้าของจีดีพี โดยเมกะโปรเจกต์ภาคขนส่ง 2 ล้านล้านบาทของภาครัฐนั้นมีอันต้องสะดุด ส่วนภาคเอกชนก็ยังรอดูท่าทีให้สถานการณ์การเมืองชัดเจนจึงจะค่อยตัดสินใจลงทุนเพิ่มเติม ดังจะเห็นได้จากดัชนีการลงทุนภาคเอกชนที่ยังปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ลามไปถึงตัวเลขสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่มีแนวโน้มขยายตัวลดลงในช่วงไตรมาสสี่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า รวมถึงการที่สินเชื่อส่วนใหญ่นั้นจัดเป็นการกู้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน บ่งชี้สภาพคล่องของธุรกิจที่ตึงตัวขึ้น 


การวิเคราะห์ของศูนย์วิเคราะห์ฯ ยังพบอีกว่า หากตัวเลขของสภาพัฒน์ฯ ออกมาตามคาด การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะอยู่ใกล้กับระดับศักยภาพ พูดง่ายๆ คือ จีดีพียังสามารถขยายตัวไปได้ตามปัจจัยพื้นฐาน


แต่เมื่อมองในระยะถัดไป กลับพบแต่ความเสี่ยงที่จะทำให้อัตราการขยายของเศรษฐกิจ หลุดจากระดับศักยภาพ ซึ่งจะเป็นสัญญาณที่น่ากังวลในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่ปัญหาการเมืองไทยยังดูไม่มีทางออกชัดเจน และยังมีแนวโน้มว่าจะยืดเยื้อต่อไปอีกพักใหญ่


 

 
 

LastUpdate 16/02/2557 15:14:48 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 12:36 am