แฟชั่น-เดินทาง-กินดื่ม-เที่ยว
มิงกะลาบา... เมียนมาร์


 

 

 

แม้ เมียนมาร์ หรือ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ (The Republic of the Union of Myanmar)เพิ่งเปิดประเทศมาได้ไม่นานเพียงประมาณ 2 ปี แต่ก็ถือว่า นานเพียงพอที่จะทำให้เมียนมาร์มีโอกาสได้ต้อนรับนักท่องเที่ยว นักธุรกิจและนักลงทุนจากต่างแดนมากมาย และส่งผลทำให้เมียนมาร์กลายเป็นแม่เหล็กที่มีมนต์เสน่ห์อีกแห่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างรวดเร็ว เหล่านักท่องเที่ยวหลั่งไหลมาเยือนเมียนมาร์เพื่อชื่นชมกับวิถีความเป็นอยู่ สถานที่สำคัญ ๆ ทางประวัติศาสตร์และสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาที่มีอยู่เป็นจำนวนมากเช่นกัน จากการที่เมียนมาร์เป็นเมืองพุทธเหมือนประเทศไทยและชาติเอเชียอื่น ๆ
 
 
 
 
 
 
 
 

เมื่อเร็ว ๆนี้ เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) บริษัทประกันชีวิตชั้นนำอีกแห่งหนึ่งของเมืองไทยได้นำคณะสื่อมวลชนไปเยือน ภายหลังประสบความสำเร็จเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งแรกของไทยที่ได้รับอนุญาตเข้าไปตั้งสำนักงานตัวแทนในเมียนมาร์  และเยี่ยมชมสถานที่หลายแห่งที่ล้วนสร้างความประทับใจกันถ้วนหน้าและมุ่งหวังที่จะมาเยือนอีกครั้งเมื่อมีโอกาส     

สำหรับผู้ที่ยังไม่มีโอกาสไปท่องเที่ยวเมียนมาร์ ขอบอกว่า  รีบเก็บสตางค์ใส่กระปุกเสียตั้งแต่วันนี้  ไม่นานก็สามารถไปได้แล้ว เพราะค่าใช้จ่ายไม่สูงมากนักและยังสามารถใช้บริการจากบริษัททัวร์หรือบริษัทนำเที่ยวไทยที่มีให้เลือกได้มากมาย   

 

 
เตรียมตัวก่อนไป
 
 
 
แต่ก่อนที่จะไปเที่ยว ควรทำความรู้จักกับเมียนมาร์กันก่อนสักเล็กน้อยเพื่อเตรียมตัว ทั้งนี้ “เมียนมาร์ เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับไทยเราทางภาคตะวันตกและอยู่ติดกับมหาสมุทรอินเดีย  เป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่กว่าไทยหรือขนาดประมาณ 1.3 เท่าของไทย ปัจจุบันมีรูปแบบการปกครองแบบสาธารณรัฐ มีรัฐสภาซึ่งประกอบด้วยสภาประชาชน สภาชาติพันธุ์ และสภาท้องถิ่น โดยมีนายเต็ง เส่ง ดำรงตำแหน่งประธาธิบดี ซึ่งเป็นประมุขและหัวหน้ารัฐบาล มาตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2554  
 
 
 
 
 
 
 
  
 
เมียนมาร์มีเมืองหลวงชื่อว่า เนปิดอว์ โดยเมืองหลวงเก่าคือ ย่างกุ้งและใช้สกุลเงิน จั๊ต (อัตราแลกเปลี่ยน 1 000.00 จั๊ต = 33.00 บาท= 1.01 ดอลลาร์สหรัฐ ..ณ  วันที่ 22 กุมภาพันธ์) เวลาของเมียนมาร์จะช้ากว่าของไทยประมาณ 30 นาที ประชาชนส่วนใหญ่จากประมาณ 65 ล้านคนนับถือศาสนาพุทธเหมือนกับไทย  
 
ก่อนไปเที่ยวเมียนมาร์ต้องตรวจสอบก่อนว่า หนังสือเดินทางมีอายุเหลืออยู่ไม่น้อยกว่า 6 เดือนและแนะนำว่า ควรจะไปกับบริษัททัวร์จะดีกว่าและสะดวกสบายกว่า เพราะทางบริษัททัวร์จะจัดการให้เราเสร็จสรรพ ทั้งเรื่องวีซ่า ที่พัก อาหารและเลือกสถานที่ท่องเที่ยวเด่น ๆเตรียมพร้อมไว้ให้เรา
 
แต่สิ่งที่ต้องเตรียมเป็นการส่วนตัวอยู่บ้าง เช่น แลกเงินจั๊ตสำรองไว้บ้างสำหรับการช้อปปิ้ง แต่ร้านค้าเมียนมาร์บางแห่งเราสามารถชำระเป็นเงินบาทไทยได้ เตรียมพกพาอาหารแห้งและขนมโปรดไปบ้างก็ดีสำหรับผู้ที่รับประทานอาหารยากสักหน่อยและไม่โปรดอาหารที่มีเครื่องเทศ
 
อีกสิ่งที่ต้องเตรียมคือ รองเท้าแตะแบบคีบ ที่ได้รับความนิยมในเมียนมาร์ ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่สุภาพ เพราะนี่เป็นรองเท้าที่ถือว่าสุภาพ โดยสามารถใส่เข้าสถานที่ราชการได้อย่างสบาย ๆ ที่สำคัญยังช่วยให้เราสะดวกสบายขณะเดินทางไปท่องเที่ยวสถานที่ต่าง ๆ ได้อีก เพราะสถานที่ส่วนใหญ่ที่ไปเที่ยวมักเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งต้องถอดรองเท้าเดินตลอด
 
ส่วนสิ่งอื่น ๆ อาทิ กระดาษทิชชูแบบเปียก(สำหรับใช้เช็ดมือ เช็ดเท้า)ถุงพลาสติกก๊อบแก๊บ ร่มและยาสามัญทั่วไป
 
 
แวะร้านกาแฟยามเช้าก่อนชม ช้างเผือก ที่เพนียดช้าง
 
 
 
 
 
 
 
จากการเดินทางไปเมียนมาร์พร้อมคณะของบริษัทเมืองไทยประกันชีวิตและเพื่อนสื่อมวลชนทำให้มีโอกาสได้พบเห็นวิถีชีวิตของชาวเมียนมาร์ยามเช้าและได้ไปเยือนสถานที่สวยงามและสำคัญหลายแห่งในเขตเมืองย่างกุ้งและเมืองหงสาวดีซึ่งล้วนสะท้อนให้เห็นว่า เมียนมาร์มีของดี สวยงามและน่าภาคภูมิใจอยู่มากมายไม่แพ้ชาติใดเลยทีเดียวแต่ขอนำมาบอกเล่าสู่กันเฉพาะสถานที่เด่น ๆ และแนะนำให้ไปเยือน หากมีโอกาสได้ไปเมียนมาร์กัน
 
 
 
 
 
 
 
 
คณะเดินทางไปถึงเมียนมาร์กันยามเช้า ซึ่งได้พบว่า ในเขตเมืองย่างกุ้งมีความเจริญ คึกคักของผู้คนและธุรกิจทำให้มองเห็นสภาพการจราจรที่เริ่มติดขัดพอสมควร
นอกจากนี้ชาวเมียนมาร์ยังนิยมออกมาดื่มน้ำชา กาแฟตามร้านยามเช้าด้วย ซึ่งร้านชา กาแฟ สามารถพบเห็นได้ทั่วไป ทั้งร้านขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับลูกค้าได้มากกว่าและร้านเล็ก ๆ ที่ตั้งบริเวณฟุตบาทริมทาง โดยมีโต๊ะและเก้าอี้เตี้ย ๆ คล้ายชุดโต๊ะเก้าอี้ของเด็กให้ลูกค้านั่ง  แต่เราได้เห็นว่า ร้านค้าเหล่านี้กลายเป็นที่นั่งสังสรรค์หรือพูดคุยธุรกิจเป็นวงย่อย ๆ
 
 
ไกด์หรือเจ้าหน้าที่นำเที่ยวเล่าว่า ความจริงแล้วชาวเมียนมาร์ไม่ได้ดื่มน้ำชาเฉพาะตอนเช้าเท่านั้น แต่ดื่มกันตลอดทั้งวัน ไม่จำกัดเวลา ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ได้ถ่ายทอดมาจากอังกฤษที่เคยเป็นเจ้าอาณานิคมมาก่อนหน้านี้นั่นเอง
สำหรับร้านที่คณะเมืองไทยประกันชีวิตไปนั่ง ค่อนข้างมีชื่อและมีขนาดใหญ่สักหน่อย ซึ่งเสิร์ฟน้ำชาและกาแฟร้อน พร้อมอาหาร เครื่องเคียงหลากหลาย ให้ลองชิมกันเพลิน
 
 
หลังรับประทานมื้อเช้ากันเสร็จแล้ว ได้ออกเดินทางไปชมสถานที่สำคัญที่แรกของเมียนมาร์  ซึ่งหากใครได้ไปเที่ยวเมียนมาร์แล้วอย่าลืมแวะไปชม นั่นคือ ไปชมช้างเผือกคู่บ้านคู่เมืองของเมียนมาร์ที่เพนียดช้าง ซึ่งมีอยู่ 3 เชือก เป็นช้างเผือกเพศเมีย 2 ตัวและเพศผู้ 1 เชือก
นับว่าช้างเผือกหาชมได้ยากแล้ว ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน ในเมียนมาร์หรือในไทยบ้านเรา เฉพาะในเมียนมาร์ ไกด์เล่าว่า ทั้งประเทศเหลืออยู่เพียง 8 เชือกเท่านั้นโดยยังมีอยู่ที่เมืองเนปิดอว์อีก 5 เชือก นับเป็นสายพันธุ์ช้างที่ต้องช่วยกันอนุรักษ์ไว้จริง ๆ
 
 
ทั้งนี้ชาวเมียนมาร์มีความเชื่อและนับถือช้างเผือกมากและเป็นความเชื่อที่มีมาแต่โบราณคล้ายกับไทย โดยยกช้างเผือกว่า เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง การมีช้างเผือกหมายถึง ความมีบุญบารมี อุดมสมบูรณ์ หากพระมหากษัตริย์พระองค์ใดได้ครอบครองช้างเผือกก็จะได้ชื่อเรียกว่า "ราชาแห่งช้างเผือก"
 
 
ขนของช้างเผือกก็ถือเป็นสิ่งมงคลด้วย โดยเชื่อว่า ช่วยป้องกันคุณไสยได้ จึงมักมีการนำไปทำเป็นแหวนหรือพกไว้ติดตัวเด็ก ๆ เพื่อให้ปลอดภัย ส่วน “งาช้างเผือก” มีความเชื่อว่า เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เช่นกัน ช่วยเพิ่มพลังชีวิตและป้องกันภัยอันตรายจากสัตว์ร้ายที่มีขนาดเล็กกว่าช้างได้
 
นมัสการวัดพระหินอ่อน
 
 
เสร็จจากไปชามช้างแล้วได้ออกเดินทางไปวัดกันต่อ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของเมียนมาร์จะเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาและมรดกทางประวัติศาสตร์เป็นสำคัญ จึงไม่น่าแปลกใจที่ทริปนี้จะเป็นวัดเสียเป็นส่วนใหญ่ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการมาไหว้พระ สร้างสมบุญบารมีและสิริมงคลให้กับตัวเอง
 
 
 
วัดแรกที่แนะนำว่าต้องไปกันได้แก่ “วัดพระหินอ่อน” หรือ “วัดพระหินขาว” ชาวเมียนมาร์เรียกว่า “หยก” เพราะเป็นพระพุทธรูปที่แกะสลักมาจากหินขาวสะอาด มันวาวเพียงก้อนเดียวโดยช่างฝีมือที่ดีสุดในเมืองมัณฑะเลย์ จนได้พระพุทธรูปที่สวยงดงาม มีความสูง 37 ฟุต กว้าง 24 ฟุต หนัก 600 ตันซึ่งถือว่า เป็น "พระหินอ่อน" ใหญ่สุดในเมียนมาร์ด้วย อยู่ภายใต้อาคารที่เป็นผลงานสถาปัตยกรรมที่สวยงาม
 
 
 
พระพุทธรูปเป็นปากประทับนั่งพระหัตถ์ขวาบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากสิงคโปร์และศรีลังกายกขึ้นหันฝ่าพระหัตถ์ออกจากองค์ ซึ่งหมายถึง การไล่ศัตรูและประทานความเจริญรุ่งเรือง มีการสร้างห้องกระจกแก้วกั้นไว้ด้วยเพื่อควบคุมอุณหภูมิและป้องกันการเสียหายของหินอ่อนจากการเปลี่ยนแปลงของอากาศ อีกทั้งยังเพื่อป้องกันนกมาถ่ายมูลใส่ให้สกปรก

ในบริเวณด้านข้าง มีการใช้หินที่เหลือจากการแกะสลักพระพุทธรูปมาสลักเป็นพระพุทธบาทซ้าย-ขวา รายล้อมด้วยสัตว์ประจำปีนักษัตร ประดิษฐานไว้ให้ผู้ไปเยือนไปสักการะด้วยอีกอย่างหนึ่ง กราบนมัสการกันเสร็จแล้วเป็นอันหมดภารกิจของวันแรก ซึ่งต้องเดินทางเข้าสู่ที่พักเพื่อไปทำกิจกรรมด้านอื่น ๆ ต่อไป
 
ใส่บาตรพระ-เณรวัดนาคาไลกู-ชม“พระราชวังบุเรงนอง” และนมัสการพระนอนหนุนหีบสมบัติ
 
 
 
ในวันที่ 2 ใครมาเที่ยวเมียนมาร์ ผู้เขียนคิดว่า ไม่ควรพลาดกิจกรรมนี้อีกเหมือนกัน น่าประทับใจมาก นั่นคือ การไปใส่บาตรทำบุญแด่พระภิกษุ สามเณรน้อยและแม่ชี ที่วัดนาคาไลกู เมืองย่างกุ้ง รวม 1,300 รูป  ได้อิ่มบุญ อิ่มใจกันไป ซึ่งพระภิกษุและสามเณรของเมียนมาร์จะห่มจีวรสีเข้ม ส่วนแม่ชีแปลกจากในไทยบ้านเราตรงที่สวมจีวรสีชมพู  พระภิกษุหรือสามเณรในเมียนมาร์ออกบิณฑบาตรยามเช้าเหมือนกับไทย ในช่วงประมาณ 05.00 น.-11.00 น. จากนั้นหลังเที่ยงไปแล้วอาจจะออกบิณฑบาตรปัจจัย ถ้าใครพบพระหรือเณรบิณฑบาตรยามบ่ายก็อย่าได้แปลกใจและสามารถใส่บาตรเป็นเงินธนบัตรหรือแบงค์ไทยได้
 
 
 
ตามประวัติของวัดนาคาไลกูนั้น เดิมเป็นเจดีย์เก่าแก่ตั้งอยู่บนเนินและมีพระพุทธรูปเก่าแก่อยู่ภายใน ต่อมามีการสร้างเป็นวัดและมีพระมาประจำอยู่ วัดแห่งนี้ยังเปิดสอนพระอภิธรรมด้วย ซึ่งมีทั้งพระภิกษุและแม่ชีมาศึกษา ทำให้ห้องน้ำมีไม่เพียงพอ ในโอกาสมาเยือนครั้งนี้ทางเมืองไทยประกันชีวิต จึงได้ช่วยเหลือโดยมอบทุนจำนวน 5 แสนบาทผ่านทางท่านทูตไทย คือ เอกอัครราชทูตพิษณุ สุวรรณะชฎ ประจำสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ด้วย เพื่อช่วยสร้างห้องน้ำเพิ่มเติม ช่วยเพิ่มอำนวยความสะดวกและสร้างสุขอนามัยที่ดีให้กับผู้มาทำบุญและพระภิกษุ สามเณรที่ประจำวัด
 
 
การมาวัดยามเช้า ยังช่วยให้ได้เห็นวิถีชีวิตยามเช้าของชาวเมียนมาร์ในชุมชนนอกเขตเมืองใกล้เคียงวัดอีกเช่นกัน ซึ่งมีตลาดยามเช้าที่มีผู้คนเดินซื้อของกันคึกคักคล้ายตลาดยามเช้าในต่างจังหวัดของไทย มีขายอาหาร ผักผลไม้และของใช้จิปาถะแบกะดิน และที่จะขาดไปเสียไม่ได้คือ ร้านชา กาแฟ เล็ก ๆ ให้ผู้คนนั่งพบปะคุยกันยามเช้า นั่นเอง
เสร็จจากทำบุญ อิ่มบุญกันแล้ว ได้เดินทางต่อไปยังเมืองหงสาวดี เพื่อไปชมมรดกทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของเมียนมาร์ซึ่งได้แก่ “พระราชวังบุเรงนอง” หรือ “พระราชวังหงสาวดี” ( Kanbawzathadi Palace) อดีตพระราชวังของ "พระเจ้าบุเรงนองกยอดิน นรธา" ที่คนไทยรู้จักในดีในนามของ “ผู้ชนะสิบทิศ” ซึ่งทรงครองราชย์ช่วงปีพ.ศ. 2094 - พ.ศ. 2124 (ระยะเวลาครองราชย์ 30 ปี) โดยมีเมืองหงสาวดีเป็นเมืองหลวง  
 
 
 
เมื่อไปถึงสิ่งที่ประจักษ์ต่อสายตา แม้จะเป็นการจำลองพระราชวังของพระเจ้าบุเรงนองขึ้นมาใหม่ แต่มีความอลังการสร้างความตื่นตาตื่นใจแก่ผู้พบเห็นไม่น้อย ทั้งนี้ไกด์เล่าว่า มีการจำลองพระราชวังขึ้นใหม่ตามจินตนาการ ตามบันทึกของนายราล์ฟ ฟิตซ์ ชาวอังกฤษซึ่งเข้ามาติดต่อค้าขายและมีโอกาสได้เห็นเมืองหงสาวดีในยุคที่รุ่งเรือง โดยในอดีตพระราชวังแห่งนี้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2109 มีผังเกือบเป็นรูปสี่เหลี่ยม กำแพงแต่ละด้านยาวประมาณ 1.5 ไมล์ และได้ถูกเผาเมื่อสิ้นสมัยพระเจ้านันทบุเรง (พระโอรสของบุเรงนอง) ในปี 2142 สิ่งปลูกสร้างใหม่มีส่วนที่เป็นตำหนักที่บรรทมและท้องพระโรงที่ออกว่าราชการ  
 
 
ชมพระราชวังกันเสร็จแล้ว ก็ถึงเวลาไปนมัสการพระวัดต่อไป คราวนี้เป็น “พระนอน วัดชเว ตาเลียว” หรือ “พระพุทธไสยาสน์ชเวตาเลียว” หรือบ้างก็เรียกว่า “พระนอนหนุนหีบสมบัติ” และ “พระนอนยิ้มหวาน”
 
 
 
พระพุทธไสยาสน์ชเวตาเลียว นับว่า เป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์อีกแห่งหนึ่งของเมืองหงสาวดี มีอายุเก่าแก่กว่า 1,200 ปี โดยเป็นพระนอนที่มีความยาวถึง 181 ฟุตและสูง 50 ฟุต สร้างขึ้นโดยพระเจ้าเมงกะติปะในปี 1537 ในยุคสมัยมอญเรืองอำนาจ เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะงดงาม วางพระบาทเหลื่อมพระบาทต่างจากพระพุทธไสยาสน์ของไทยที่นิยมวางพระบาทเสมอกัน
 


ตามประวัติศาสตร์เล่าว่า หลังจากที่พระเจ้าอลองพญาทรงปราบมอญราบคาบ เมืองหงสาวดีได้ถูกทิ้งร้างไปพระพุทธไสยาสน์ไม่ได้รับการดูแลจนกลายเป็นกองอิฐจมอยู่ในโคกดิน จนในปี 2424 เมื่ออังกฤษสร้างทางรถไฟสายเมียนมาร์ จึงขุดพบพระนอนองค์นี้และต่อมาในปี.2491 หลังจากเมียนมาร์ได้รับเอกราช จึงได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์อย่างจริงจังและทาสีปิดทองลงชาดใหม่ จนเป็นองค์พระที่งดงามอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ส่วนบริเวณด้านล่างเป็นพื้นที่ขายของที่ระลึก สำหรับนักท่องเที่ยวซื้อหากลับบ้านเป็นของฝากคนทางบ้านได้
 
นมัสการขอพรเทพเจ้าทันใจ


วันสุดท้ายก่อนกลับ สถานที่จะไปเที่ยวเป็นอีกสิ่งที่มักต้องบรรจุในโปรแกรมท่องเที่ยวเมียนมาร์  ซึ่งได้แก่ การไปนมัสการขอพรจาก “เทพเจ้าทันใจ” และ “พระมหาเจดีย์ชเวดากอง” นั่นเอง 
 
 
สถานที่ที่เราจะไปนมัสการเทพเจ้าทันใจได้คือ ต้องไปที่ “เจดีย์โบดาทาวน์”  ซึ่งในอาณาบริเวณของเจดีย์องค์นี้มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่หลายอย่างด้วยกัน โดยเจดีย์โบดาทาวน์ แปลว่า เจดีย์นายทหาร 1,000 นาย ที่มีตำนานเล่าขานว่า เมื่อราว 2000 ปีก่อน พระเจ้าโอกะลาปะกษัตริย์มอญทรงบัญชาให้นายทหารระดับแม่ทัพตั้งแถวถวายสักการะแด่พระเกศาธาตุที่มีพ่อค้าสองพี่น้องอัญเชิญมาจากอินเดียทางเรือและมาขึ้นฝั่งเมืองตะเกิงหรือดากอง ณบริเวณนี้ จึงสร้างเจดีย์โบดาทาวน์ไว้เป็นที่ระลึก พร้อมทั้งแบ่งพระพุทธเกศา 1 เส้นมาบรรจุไว้ก่อนนำไปบรรจุในมหาเจดีย์ชเวดากองและเจดีย์สำคัญอื่นๆด้วย
เจดีย์โบดาทาวน์จึงเป็นหนึ่งในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และสักการะบูชาของชาวมอญและเมียนมาร์ จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่2 เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรได้ทิ้งระเบิดถล่มย่างกุ้งทำให้เจดีย์โบดาทาวน์องค์เดิมถูกทำลายไปแต่ในระหว่างการบูรณะได้ค้นพบผอบทรงสถูปบรรจุพระเกศาธาตุและพระบรมสารีริกธาตุเมื่อเจดีย์โบดาทาวน์องค์ใหม่สร้างเสร็จในปี 2496 จึงมีการนำพระเกศาธาตุมาบรรจุในมณฑปครอบแก้วใส ประดิษฐาน ณ ใจกลางเจดีย์และทำช่องทางให้พุทธศาสนิกชนเดินเข้าชมและสักการบูชาได้อย่างใกล้ชิด
สำหรับสิ่งที่ต้องไปสักการะเพิ่มเติมที่อยู่ในบริเวณเจดีย์โบดาทาวน์คือ “พระพุทธรูปทองคำ” ที่ประดิษฐานในวิหารด้านขวา  นอกจากนี้ยัง มี “พระเขี้ยวแก้ว”  ซึ่งเก็บรักษาไว้ในตู้กระจก ใกล้กับวิหารพระทองคำ
 
 
ส่วนด้านซ้ายของเจดีย์จะมีรูปปั้นของ “นัตโบโบจี” หรือ “เทพทันใจ”  ที่เป็นไฮไลต์และเป้าหมายสำคัญของการมาเจดีย์แห่งนี้นั่นเอง ซึ่ง “เทพทันใจ” คือ เทพผู้ปกปักรักษาและบันดาลโชค ที่ชาวมอญและชาวเมียนมานิยมมากราบไหว้บูชา ด้วยเชื่อว่า เมื่ออธิษฐานขอสิ่งใดแล้วจะสมปรารถนาทันใจโดยในการสักการะใช้ ดอกไม้ ผลไม้เช่น มะพร้าวอ่อน กล้วย หรือผลไม้อื่นๆก็ได้ นอกจากนี้จะมีการถวายปัจจัยเป็นแบงค์ใส่พระหัตถ์เทพทันใจ 2 ใบ ไหว้ขอพรเสร็จแล้วให้ดึงกลับมา 1 ใบสำหรับผู้ไหว้เก็บไว้บูชาส่วนตัว
 


หากใครขอพรกับเทพทันใจแล้วยังไม่มั่นใจ สามารถไปขอพรเพิ่มเติมกับ “เทพกระซิบ” ที่อยู่ในวิหารตรงข้ามได้อีก ซึ่งตามตำนานเล่าว่า “เทพกระซิบ”  (อะมาดอว์เมี๊ยะ)เป็นธิดาของพญานาคที่ศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า และได้ดำรงตนโดยรักษาศีลไม่ยอมกินเนื้อสัตว์จนเมื่อจบชีวิตไปแล้วกลายเป็นเทพ ชาวเมียนมาร์ให้ความเคารพและนิยมมากราบไหว้ขอพรกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งการขอพรกับเทพกระซิบต้องใช้วิธีกระซิบเบาๆข้างหู
มากราบไหว้กันแล้ว ขอพรใด ใครสมหวังหรือไม่ คงต้องไปไล่เลียงไต่ถามกันดู
 
“พระมหาเจดีย์ชเวดากอง” ไม่มา..ไม่ถึงเมียนมาร์
 
 
 


หลังจากขอพรกันเป็นที่เรียบร้อยแล้วสถานที่สำคัญอีกแห่ง ที่มีความสำคัญทั้งทางพระพุทธศาสนาและมรดกทางประวัติศาสตร์และต้องบอกว่า หากมาเมียนมาร์แล้ว มาไม่ถึงมหาเจดีย์แห่งนี้ ถือว่า มาไม่ถึงเมียนมาร์อย่างแท้จริง สถานที่แห่งนี้ ได้แก่ “พระมหาเจดีย์ชเวดากอง” ซึ่งเป็นเหมือนศูนย์รวมจิตใจของชาวเมียนมาร์และให้ความเคารพกันเป็นอย่างสูง
 
 
 
พระมหาเจดย์ชเวดากองตั้งอยู่บริเวณเนินเขาเชียงกุตระ เมืองย่างกุ้งตามตำนานเล่าว่า องค์พระเจดีย์ชเวดากอง สร้างขึ้นมาเมื่อประมาณ  2,500 ปีก่อนเป็นที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุ 8 เส้นของพระพุทธเจ้า ซึ่งเมื่อแรกเริ่มองค์พระเจดีย์มีความสูงเพียง 27 ฟุตเท่านั้นแต่ด้วยแรงศรัทธาของชาวเมียนมาร์ ทำให้มีการร่วมบริจาค เงินทองและทรัพย์สินมีค่าต่างๆสร้างเสริมจนทำให้พระมหาเจดีย์แห่งนี้สูงใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งปัจจุบันมีความสูงถึง 326 ฟุตและกว้าง 1,355 ฟุต
 
 
นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่จะขึ้นไปสักการะจะต้องเสียค่าเข้าคนละ 8 ดอลลาร์สหรัฐฯและจากนั้นได้รับสติ๊กเกอร์ติดเสื้อไว้เป็นเครื่องหมายว่าชำระเงินแล้วจึงสามารถขึ้นไปด้านบนได้ ซึ่งมีบันไดเลื่อนอำนวยความสะดวกให้ ทางขึ้นมีอยู่  4 ทิศซึ่งเมื่อขึ้นไปถึงจะได้เห็นองค์พระเจดีย์สีทองเหลืองอร่ามงดงามตระการตา เพราะห่อหุ้มด้วยทองคำแท้ ๆ หนักถึง 1,100 กิโลกรัม และส่วนยอดเจดีย์ประดับด้วยเพชรเม็ดใหญ่ที่มีน้ำหนักถึง 76.6 กะรัต
การนมัสการทำโดยเดินรอบพระเจดีย์ตามเข็มนาฬิกา ซึ่งเลขที่เป็นมงคลคือ 9 รอบ จากนั้นไปไหว้พระประจำวันเกิดที่อยู่รอบพระเจดีย์ พร้อมใช้ขันตกน้ำรดน้ำสัตว์ประจำนักษัตรตามอายุบวก 1   
กว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนกัน เรียกว่า เดินกันจนแทบหมดแรง แต่ก็เต็มไปด้วยความอิ่มเอิบใจอีกเช่นเคย  เพราะเมื่อมีโอกาสไปถึงถิ่นแล้ว ต้องทำให้เต็มที่
 
ช้อปปิ้งตลาดสก๊อต มาร์เกต
 
 
 
สำหรับสถานที่ปิดท้ายการเดินทาง ที่เชื่อว่า น่าจะเหมือนกันทุกทริป คงหนีไม่พ้นการไปตลาดเพื่อซื้อหาของฝากสมาชิกทางบ้านและผองเพื่อน สถานที่หลักที่ต้องไปกันคือ “ตลาดสก๊อต มาร์เกต” ที่มีของขายสารพัดอย่าง ทั้งเครื่องประดับ อัญมณี หยก เครื่องไม้ จักรสาน ของเก่า เสื้อผ้า ชาและกาแฟสำเร็จรูป และร้านค้าขายอาหารและขนมพื้นบ้านในบริเวณด้านข้าง
 
 
ตลาดนี้เข้าไปแล้วต้องระมัดระวังไม่ให้ช้อปเพลิน  เพราะเดี๋ยวจะไม่เหลือค่ารถกลับบ้าน....สร้างความลำบาก ต้องยืมสตางค์เพื่อน ๆ ต่อ  แต่สำหรับบางคน ที่คิดว่า มาแล้วทั้งทีต้องขนให้เต็มที่  ก็คงต้องปล่อยตามสบาย...ช้อปกันจนเหนื่อยแล้ว ก็ไปเติมพลังเป็นมื้อสุดท้ายก่อนกลับบ้านถิ่นไทยของเรา...
 
 
โดยภาพรวมแล้วผองเพื่อนในทริปนี้ มีใบหน้ายิ้มแย้ม อย่างมีความสุข  เชื่อว่า ส่วนหนึ่งคงจะเป็นผลมาจากการได้ไปนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาแล้วกันหลายที่ ทำให้จิตใจเบิกบาน ซึ่งคงต้องขอบคุณเจ้าภาพที่พามาไหว้พระทำบุญกัน
ดังนั้น...หากใครมีโอกาสไปเยือนเมียนมาร์ สนับสนุนให้ไปกัน เพราะอยู่ใกล้ ใช้เวลาเดินทางไม่ถึง 1 ชั่วโมงเท่านั้น ไปแล้วจะได้ทำความรู้จักกับประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงแห่งนี้เพิ่มขึ้น และอิ่มบุญ อิ่มใจกลับมาเหมือนคณะของผู้เขียนอย่างแน่นอน...
 
 
 
 
 
 


 

  

 
 

LastUpdate 23/02/2557 15:18:10 โดย : Admin
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 10:54 am