แบงก์-นอนแบงก์
กลุ่มซีไอเอ็มบีกำไรสุทธิปี 56 โต 4.5% 4.54 หมื่นล้านบาท




 

 

 

กลุ่มซีไอเอ็มบีประกาศผลกำไรสุทธิปี 2556 โต 4.5% จำนวน 4,540 ล้านริงกิตมาเลเซีย (ราวๆ 4.54 หมื่นล้านบาท) สัดส่วนลูกค้าผู้บริโภคในภูมิภาคและลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นเป็น 63% จาก 60% การลดต้นทุนโครงสร้างและพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานภายในกลุ่ม รับห่วงการเมืองไทยปี 57  ต้องจับตาใกล้ชิด หากสภาพตลาดเอื้ออำนวย ธุรกิจวาณิชธนกิจมีแนวโน้มดีขึ้น 

 

 

 

 


ซีไอเอ็มบีกรุ๊ปโฮลดิ้งส์เบอร์ฮาด (“กลุ่มซีไอเอ็มบี”) รายงานว่า กลุ่มซีไอเอ็มบีมีผลกำไรสุทธิสำหรับงวดปี 2556 จำนวน 4,540 ล้านริงกิตมาเลเซีย คิดเป็นอัตราเติบโต 4.5% จากปีก่อนหน้า โดยมีกำไรต่อหุ้นสุทธิ 60.0 เซน และอัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้นสุทธิ 15.5% กลุ่มซีไอเอ็มบีได้ประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลครั้งที่สองจำนวน 11.0 เซน ในรูปของเงินสดหรือแผนการนำเงินปันผลไปลงทุนต่อ (Dividend Reinvestment Scheme: DRS) โดยในปี 2556 มีการจ่ายเงินปันผลรวม 23.82 เซน หรือ 1,826 ล้านริงกิตมาเลเซีย ซึ่งจ่ายในอัตรา 40% ของผลกำไรในปี 2556

สำหรับไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 กลุ่มซีไอเอ็มบีมีผลกำไรสุทธิ 1,038 ล้านริงกิตมาเลเซีย ต่ำกว่าไตรมาสที่ 3 อยู่ 2.3% และต่ำกว่ากำไรสุทธิจำนวน 1,082 ล้านริงกิตมาเลเซีย ในไตรมาสที่ 4 ปี 2555 ที่ 4.1%

“ปัจจัยแวดล้อมในการดำเนินงานปี 2556 มีความท้าทายกว่าที่เราคาดไว้มาก โดยเฉพาะในอินโดนีเซียและตลาดการเงินภูมิภาค เราจึงพอใจกับผลประกอบการโดยรวมของเราแล้ว” ดาโต๊ะ ศรี นาเซียร์ ราซัค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มซีไอเอ็มบี กล่าว

นาเซียร์ กล่าวว่า แม้ซีไอเอ็มบี ไนอากา และธุรกิจในตลาดมาเลเซียจะมีผลประกอบการลดลง ธุรกิจ ส่วนอื่นๆยังคงเติบโตด้วยดี โดยสัดส่วนกำไรจากธุรกิจหลักมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากสัดส่วนลูกค้าผู้บริโภคในภูมิภาคและลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ที่เพิ่มขึ้นเป็น 63% เทียบกับ 60% ในปี 2555 และสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิด
รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15.5% (สำหรับสกุลเงินท้องถิ่น) นอกจากนี้ ในปีนี้กลุ่มซีไอเอ็มบีได้ดำเนินการพื้นฐานเสร็จสมบูรณ์หลายอย่างเพื่อลดต้นทุนประเภทโครงสร้าง พัฒนาระบบงาน เพิ่มศักยภาพการทำงานร่วมกันภายในกลุ่ม โดยเฉพาะการประสานร่วมมือระหว่างประเทศ และเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจในตลาดใหม่

“ปี 2557 เป็นปีที่น่าจับตามอง เมื่อพิจารณาสถานการณ์ทั่วโลก เราอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน  ไม่ว่าจะเป็นการไหลของเงินทุนก้อนโตจากตลาดเกิดใหม่กลับไปตลาดพัฒนาแล้ว หรือศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจที่ย้ายจากตะวันออกไปตะวันตก และอื่นๆ แนวโน้มดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อแต่ละประเทศแตกต่างกันไป ทั้งนี้ ในภูมิภาคอาเซียน อินโดนีเซียเผชิญหน้ากับปัญหายุ่งยากมากที่สุดในปี 2556 ในขณะที่คาดว่า สถานการณ์ของไทยในปี 2557 จะมีแนวโน้มไม่ดี เนื่องจากปัจจัยความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศที่เพิ่มเข้ามา” นาเซียร์ กล่าวและคาดว่า มาเลเซียและสิงคโปร์จะมีการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศช้าลง และต้องเผชิญกับแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความต้องการของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าอินโดนีเซียจะยังส่งสัญญาณความมีเสถียรภาพ หากแต่จะเติบโตช้า และมียอดหนี้เสียเพิ่มขึ้นในปี 2557

“ภายหลังการเปลี่ยนแปลงค่าเงินรูเปียห์และอัตราดอกเบี้ยของอินโดนีเซียในปีที่แล้วซึ่งเป็นสิ่งไม่ได้คาดการณ์ไว้ เราหวังว่าจะวางตำแหน่งบริษัทในปีนี้ได้ดีขึ้น เรามีฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง และมีสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา และยังได้ปรับปรุงพื้นฐานในการดำเนินงานต่างๆ นอกจากนี้ เราได้เตรียมการให้มีการบริหารคุณภาพสินทรัพย์อย่างใกล้ชิดขึ้น” นาเซียร์ กล่าว

“เรามองว่ากลุ่มซีไอเอ็มบีจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่องในสิงคโปร์ และเราจะพลิกศักยภาพธุรกิจบางส่วนในอินโดนีเซียกลับคืนมา และขยายธุรกิจอย่างมั่นคงในมาเลเซีย สำหรับประเทศไทยนั้น เราจำเป็นต้องให้ความสนใจและติดตามปัจจัยแวดล้อมที่ไม่แน่นอนอย่างใกล้ชิด โดยภายหลังดำเนินการระบบการทำงานพื้นฐานใน APAC เสร็จสมบูรณ์ และในสภาพตลาดที่เอื้ออำนวย ธุรกิจวาณิชธนกิจจะมีแนวโน้มโดยรวมที่ดีขึ้น และคาดว่าตลาดบริหารเงินจะไม่ท้าทายเช่นในปี 2556” นาเซียร์ กล่าว

ทั้งนี้ภายหลังการขยายฐานเงินทุน และในภาวะแวดล้อมที่ไม่แน่นอน กลุ่มซีไอเอ็มบีได้ตั้งเป้าหมายอัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้นในช่วง 13.5-14.0% สำหรับปี 2557


LastUpdate 26/02/2557 07:55:59 โดย : Admin
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 12:01 pm